ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุสำคัญของการสละราชสมบัติของ ร.7  (อ่าน 1408 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
เหตุสำคัญของการสละราชสมบัติของ ร.7
« เมื่อ: 29 ธันวาคม 2014, 12:46:34 »
 วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือปฏิบัติกันมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ.2475

คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากมักจะรู้เพียงว่าในปีดังกล่าว คือเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้น มีการปฏิวัติของคณะทหารพวกหนึ่งซึ่งมีพลเรือนร่วมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่งภายใต้ชื่อที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาทำการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่จัดทำขึ้น ซึ่ง “คณะราษฎร” เป็นผู้ร่างขึ้นเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป

แต่คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากดังกล่าวนี้ ไม่รู้ดอกว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยมีพระราชบันทึกความเห็นของพระองค์ท่านเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ส่งไปยังคณะรัฐบาลของคณะทหารผู้ทำการปฏิวัติครั้งนั้นว่าอย่างไรบ้าง ลองหาอ่านกันดูที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติบ้างก็ดี

แม้กระทั่งพระราชบันทึกของพระองค์ท่านในการสละราชสมบัติ เพราะอะไรนั้น คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากเหล่านี้ก็ไม่ค่อยจะรู้อย่างละเอียดลึกซึ้งว่าทรงมีเหตุผลสำคัญต่างๆ อย่างไร เพราะไม่เคยอ่านกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ขอนำพระราชบันทึกทั้ง 2 ฉบับมาพูดให้ฟังในสาระสำคัญๆ บางประการ เพราะเป็นพระราชบันทึกที่ค่อนข้างจะยาวมาก

พระราชบันทึกเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ

1.ก่อนอื่นหมดข้าพเจ้าขอชี้แจงไว้เสียชัดเจนว่า เมื่อพระยาพหลฯและผู้ก่อการ ร้องขอให้ข้าพเจ้าอยู่ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้าได้ยินดีรับรองก็เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นว่าคณะผู้ก่อการฯต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือตามแบบอย่างของประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้อำนาจอันจำกัด โดยรัฐธรรมนูญและรัฐสภาซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งโดยแท้ ข้าพเจ้าเองก็ได้เล็งเห็นอยู่นานแล้วว่า เมื่อประเทศสยามได้มีการศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว ประชาชนคงจะประสงค์ที่จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองแบบนี้

และตั้งแต่ข้าพเจ้าได้รับสืบราชสมบัติจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ข้าพเจ้าก็ได้คิดการที่บันดาลให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้ และได้กล่าวถึงความประสงค์นั้นหลายครั้งหลายหนโดยเปิดเผย โดยเหตุนี้เมื่อคณะผู้ก่อการฯ ขอร้องให้ข้าพเจ้าเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้ารับรองได้ทันทีโดยไม่มีเหตุขัดข้องใจอย่างไรเลย

ครั้นเมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปกรุงเทพฯแล้ว ได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์ฯได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า หลักการของคณะผู้ก่อการฯกับหลักการของข้าพเจ้าไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการฯมิได้มีความประสงค์ที่จะให้เสรีภาพในการเมืองโดยสมบูรณ์ แต่หากต้องการให้มีคณะการเมืองได้แต่คณะเดียว ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉินและสมควรจะรักษาความสงบไว้ก่อนเพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลัง และเพื่อมีเวลาสำเหนียกฟังความเห็นของประชาชนก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ยอมผ่อนผันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้น ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับหลักการเหล่านั้นเลย

ครั้งต่อมาในระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้พยายามตักเตือนและได้โต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาว่า ควรยึดถือหลัก “ประชาธิปไตย” อันแท้จริง มิฉะนั้นก็เป็นการเสียเวลาและเป็นการเสี่ยงภัยให้แก่ประเทศโดยใช่ที่ ในเวลาที่ฐานะของบ้านเมืองตกอยู่ในขีดคับขันและยากจน

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้กล่าวความเห็นของข้าพเจ้าในข้อนี้โดยเปิดเผยเมื่อข้าพเจ้าไปให้รางวัลแก่นักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ข้าพเจ้าเคยตักเตือนพระยามโนฯไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เสนอคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า การที่จะให้สมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งคณะรัฐบาลเป็นผู้เลือกตั้งเองนั้น จะเป็นเหตุทำความไม่พอใจให้เกิดขึ้นได้ และเป็นอันตรายแก่วิธีการปกครองแบบใหม่ที่กำลังจะสถาปนาขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นการถาวรและจะนำความสุขความเจริญมาสู่บ้านเมืองของเรา

ความตักเตือนของข้าพเจ้าเหล่านี้ไร้ผล เพราะคณะผู้ก่อการฯยืนยันในความประสงค์ที่จะยึดอำนาจไว้ในมือของคณะของตนให้จงได้อย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี ข้าพเจ้ารู้สึกในขณะนี้ว่า ถ้าจะโต้เถียงกันต่อไป การร่างรัฐธรรมนูญก็จะชักช้าไม่รู้จักแล้ว และอาจเป็นการแตกหักร้ายแรงเสียกว่าจะยอมที่ให้เป็นไปตามนั้น

ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้ยินคำติเตียนหลักการอันนั้นในรัฐธรรมนูญมากขึ้นทุกที และหลักการอันนี้เป็นเหตุให้มีคนไม่พอใจในคณะรัฐบาลเป็นจำนวนมาก จนมีการเริ่มคิดที่จะล้มรัฐบาลเสียโดยพละการ เพื่อแก้ไขหลักการข้อนี้ตั้งแต่ก่อนจะทำพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และยังมีอยู่เนืองๆ

ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าตราบใดยังมิได้แก้หลักการอันไม่พึงประสงค์นี้เสีย ความสงบราบคาบอันแท้จริงจะมีไม่ได้เลย รัฐบาลจะต้องใช้วิธีการประหัตประหารและปราบปรามอย่างรุนแรงอยู่เรื่อยไป

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
...
เหตุสำคัญของการสละราชสมบัติของ ร.7 (2)

ในตอนที่ผ่านมา ได้นำพระราชบันทึกของล้นเกล้าฯ ร.7 เกี่ยวกับเรื่องที่ทรงไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติบางข้อของรัฐธรรมนูญที่คณะทหารที่ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเสนอมาเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ โดยในพระราชบันทึกดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันหลายข้อนั้น วันนี้มาว่ากันต่อไปในข้อที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

2. การที่ข้าพเจ้าขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าต้องการอำนาจ ข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการเมืองเต็มที่ แต่เป็นเพราะข้อที่ข้าพเจ้าขอร้องดังที่ได้กล่าวมานั้นเป็นข้อที่ที่ทำให้คนไม่พอใจในรัฐธรรมนูญ จะทำให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่จะต้องรับบาปความซัดทอดและรับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาลหรือสภาฯมิได้เลย ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกใจประชาชน ข้าพเจ้าก็ถูกติเตียนว่า “ทำไมปล่อยให้ทำไปได้ ทำไมไม่ห้าม” ซึ่งเป็นของที่น่ารำคาญเต็มทน และบางครั้งหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลก็ชอบพูดซัดทอดด้วย เช่น “ทรงเห็นด้วยและทรงยอมแล้ว” ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ย่อมมีเสียงอยู่ได้เสมอว่าการปกครองที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นเผด็จการทางอ้อมไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” จริงๆ เลย

3.ข้าพเจ้ายินยอมลงนามในรัฐธรรมนูญตามที่เสนอมานั้น แท้จริงข้าพเจ้าไม่ได้เห็นด้วยมาแต่ต้นและได้คัดค้านอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่เป็นผลจึงได้จำใจยอมไป ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ควรทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ การกระทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ข้าพเจ้าไม่ชอบ ต่อไปนี้ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลทำการตามหลักการของรัฐธรรมนูญจริงๆ คือ

ก.ให้เสรีภาพในการพูด การเขียน การโฆษณาจริงๆ แต่ที่เป็นมาแล้ว หนังสือพิมพ์ที่พูดอะไรไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลก็ถูกปิด หนังสือพิมพ์ที่คัดค้านนโยบายของรัฐบาลต้องเลิกล้ม เช่น หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ เป็นต้น ต่อไปขอให้อนุญาตให้หนังสือพิมพ์ออกความเห็นได้จริงๆ และให้ติชมนโยบายของรัฐบาลได้จริงๆ จะถูกปิดต่อเมื่อยุยงให้เกิดการจลาจลอย่างชัดๆ เท่านั้น เมื่อก่อนมีรัฐธรรมนูญนั้นหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอันมาก ขอให้เลิกจับกุมราษฎรโดยหาว่า “กล่าวร้ายรัฐบาล”

ข.ให้เสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผยและการตั้งสมาคม เวลานี้ยังตั้งสมาคมการเมืองไม่ได้ ควรอนุญาตให้ตั้งได้ถ้าวัตถุประสงค์ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ไห้ทหารบก ทหารเรือ และตำรวจประจำการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง การประชุมนั้นเคยมีเรื่องแปลกๆ เช่น บุคคลบางจำพวกจะชวนเพื่อนฝูงไปเลี้ยงกัน ก็ถูกตำรวจฟ้องและถูกห้ามจนเป็นการเกรงกลัวกันมาก เป็นการตัดเสรีภาพและตัดความสุขของประชาชน เห็นควรเลิกกระทำชนิดนี้

4.ขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะพระราชบัญญัตินี้มีวิธีการที่ขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของประชาชน เช่น บุคคลอาจถูกจับกุมเพราะมีข้อคิดว่า คิดจะทำลายรัฐธรรมนูญ แล้วถูกนำตัวขึ้นให้คณะกรรมการที่ไม่ใช่ศาลพิจารณา และคณะกรรมการนั้นอาจสั่งให้เนรเทศบุคคลเหล่านั้นไปอยู่ในที่มีเขตจำกัด การกระทำเช่นนี้เป็นการตัดสิทธิ์ของพลเมืองในการที่จะต่อสู้ข้อหาของเจ้าหน้าที่ ถ้ามีเหตุที่ต้องจะชำระ ควรชำระโดยเปิดเผยในศาลหลวง ให้โอกาสจำเลยมีทนายว่าความและต่อสู้ความได้เต็มที่ ไม่ใช่ตัดสินกันอย่างงุบงิบ ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลอาจขาดความยุติธรรม

5.ข้าพเจ้าเชื่อว่าความสงบราบคาบในบ้านเมืองจะมีมากขึ้น ถ้าหากได้มีการให้อภัยแก่นักโทษการเมืองที่ต้องถูกกักขังจำจอง หรือถูกลงโทษด้วยวิธีอื่นๆ อยู่ในเวลานี้ ถ้ายังไม่ปล่อยนักโทษการเมืองกันเสียบ้าง คงจะมีผู้ที่คิดจะยึดอำนาจเพื่อให้พวกนักโทษเหล่านั้นได้พ้นจากทุกข์เวทนา ยิ่งทิ้งไว้บานไปก็จะต้องจับขังกันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นขอให้มีการให้อภัยโทษแก่นักโทษการเมืองดังต่อไปนี้

ก.นักโทษประหารชีวิต ให้เปลี่ยนโทษเป็นเนรเทศไปอยู่ที่จำกัดตามแต่จะกำหนดเป็นเวลา 10 ปี (เอาบุตรภรรยาไปอยู่ด้วยก็ได้)

ข.นักโทษจำคุกตลอดชีวิตให้ลดโทษเป็นอย่างเดียวกับข้างบนนี้ แต่ให้มีกำหนดเพียง 5 ปี

ทั้งสองประเภทนี้ ถ้าผู้ใดเจ็บป่วยและแพทย์อันมีชื่อเสียงแนะนำให้รักษาตัว ณ ที่ใดแล้ว ขอให้ผ่อนผันให้รักษาตัวได้ตามคำแนะนำแพทย์

ค.นักโทษอื่นๆ ที่มีโทษต่ำกว่าที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าประเภทใดและไม่ว่าถูกจับกุมไปในคราวใด ถ้าเนื่องจากโทษการเมืองให้พ้นโทษไปสิ้น

6.ข้าราชการที่ถูกปลดจากราชการโดยฐานถูกสงสัยว่าจะมีความผิดทางการเมืองก็ดี หรือที่ถูกกล่าวหาว่า “กล่าวร้ายรัฐบาล” และถูกลงโทษไปแล้วก็ดี แต่ถูกตัดสิทธิ์ในการรับเบี้ยบำเหน็จบำนาญ ขอให้เขาได้กลับได้รับบำเหน็จบำนาญตามที่เขามีเกณฑ์จะได้ในวันที่ถูกปลดนั้น

7.ข้าราชการที่ยังถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกบฏครั้งใดๆ ก็ตาม และที่กำลังจะฟ้องหรือดำริจะฟ้อง ขอให้งดการฟ้องร้องจับกุมนั้นเสีย

8.ขอให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ข้าพเจ้าว่า จะไม่ตัดกำลังและตัดงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยกว่าเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ เว้นแต่ข้าพเจ้าจะขอร้องเอง และจะคงให้ทหารรักษาวังอยู่ในฐานะที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พระราชบันทึกของล้นเกล้าฯ ร.7 ดังกล่าวนี้ได้ส่งให้รัฐบาลในขณะนั้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2477 พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีได้นำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2477 (สมัยนั้นยังใช้วันปีใหม่ไทยเป็นเดือนเมษายน) ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มีสมาชิกสภาเข้าประชุม 140 คน มีการอภิปรายถกเถียงกันจนถึงเวลา 23.30 น. ก็ปิดอภิปรายและลงมติ

ผลการลงมติปรากฏว่า “ไม่เห็นชอบ 96 เสียง” และ “เห็นชอบ 8 เสียง” ซึ่งเป็นอันว่าพระราชบันทึกความประสงค์ของ ล้นเกล้าฯ ร.7 ดังกล่าวต้องตกไป เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าเกลียวสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นได้ขาดสะบั้นลงแล้ว
...
 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพฯลงมติด้วยเสียงข้างมาก 96 ต่อ 8 เสียง ไม่ยอมรับพระราชวินิจฉัยของพระองค์ท่านดังรายละเอียดที่นำมาลงให้ทราบในตอนที่ผ่านมา ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 พระองค์ท่านก็ได้แจ้งแก่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ผู้แทนรัฐบาลไทยในสมัยนั้นที่ไปเข้าเฝ้าว่าทรงขอสละราชสมบัติ พร้อมกับเอกสารที่เป็นลายพระหัตถ์เพื่อนำไปแจ้งให้รัฐบาลทราบต่อไป

หนังสือพิมพ์และวิทยุในกรุงลอนดอนได้กระจายข่าวดังกล่าวก้องไปทั่วโลก พร้อมพระราชบันทึกฉบับสุดท้ายที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอธิบายเหตุผลสำคัญในการสละราชสมบัติของพระองค์ท่านครั้งนี้ มีความสำคัญดังต่อไปนี้

“เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง โดยใช้กำลังทหารในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้นเพราะเข้าใจว่า พระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลายซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิ์ที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศ และนโยบายต่างๆ อันที่จะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป

ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น โดยมิมีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้วและเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าก็ไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดความมีเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับจะพึงเห็นได้ว่า อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ นั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรได้เป็นผู้เลือก

เช่นฉบับชั่วคราวแสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย

ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องของข้าพเจ้า แต่ก็ยังมีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่งหนึ่ง การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภท ก็หวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองโดยทั่วไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ

นอกจากนี้ คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของคณะรัฐบาล ซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง

ต่อมาพระยาพหลฯกับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ 2 และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างราบรื่นนั้น ก็ลดน้อยลง

เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย

เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูปเข้ารอยประชาธิปไตยอันแท้จริง เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ก็ไม่ยินยอม

ข้าพเจ้าเห็นว่า คณะรัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้อง ตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถจะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

นี่คือพระราชบันทึกฉบับสุดท้ายของ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับการสละราชสมบัติของพระองค์ท่าน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
แนวหน้า 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557