ผู้เขียน หัวข้อ: แม่น้ำ5สายต้องไม่ละลายภาษีชาวบ้าน  (อ่าน 869 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
แม่น้ำ5สายต้องไม่ละลายภาษีชาวบ้าน
« เมื่อ: 29 ธันวาคม 2014, 12:42:02 »
 ประเทศไทยหลังการรัฐประหารครั้งนี้ ได้เกิดแม่น้ำขึ้น 5 สาย (ตามคำเปรียบเทียบของคณะรัฐประหารเอง) ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่ละคณะมีอำนาจหน้าที่ในการทำงานตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของตน เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปี

การไหลมาของน้ำในแม่น้ำแต่ละสายดังกล่าวไม่ได้ไหลมาจากน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเหมือนแม่น้ำทั้งหลาย ที่เป็น “ของฟรี” ซึ่งชาวบ้านทั้งหลายต่างก็ได้ประโยชน์ลูกเดียวจากน้ำในแม่น้ำนั้น แต่สำหรับแม่น้ำ 5 สายที่เกิดจากการรัฐประหารดังกล่าวนี้ ชาวบ้านทั้งหลายต้องเสียเงินในการไหลของน้ำแต่ละสาย ผ่านภาษีของตนในการไหลของน้ำ ไม่ใช่ได้น้ำมาใช้อย่างฟรีๆตามธรรมชาติเหมือนแม่น้ำอื่นๆ

เปิดหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 75 ก. หน้า 13-17 ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ดูก็ได้จะรู้รายละเอียดทั้งหมดว่า “ภาษีของชาวบ้าน” ต้องจ่ายให้กับแม่น้ำแต่ละสายทั้ง 5 สาย เป็นจำนวนเงินเดือนละเท่าไร

ราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าวตีพิมพ์แจกแจงรายละเอียดของ พระราชกฤษฎีกา เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นต่างๆ ของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไว้อย่างครบถ้วน

ส่วนของคณะรัฐบาลนั้นคงเป็นไปตามเดิมเหมือนที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นๆในคณะรัฐมนตรี

พูดได้ว่าขับเคลื่อนด้วยภาษีชาวบ้านทั้งสิ้น

พระราชกฤษฎีกาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าว มีทั้งหมด 11 มาตรา จะขอยกบางมาตราที่สำคัญๆซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะต่างๆมาบอกกล่าวให้ทราบ ว่าแต่ละเดือน แต่ละครั้งของการประชุมนั้น ภาษีชาวบ้านหมดไปเท่าไร

มาตรา 3 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินที่เพิ่มเป็นรายเดือน ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ นับตั้งแต่วันดำรงตำแหน่ง แต่ไม่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือน ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่สมาชิกผู้ใดไม่มาประชุมเกินกึ่งหนึ่งของกำหนดนัดประชุมในแต่ละเดือน ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเป็นรายเดือนสำหรับเดือนนั้น เว้นแต่กรณีไม่มาประชุมเพราะเหตุไปราชการของสภา โดยได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกอยู่

ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้าราชการ และมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว ถ้าไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองด้วย ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนในตำแหน่งข้าราชการการเมืองอีก

มาตรา 4 ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละหกพันบาท สำหรับผู้ทำหน้าที่ประธานให้ได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีกสามพันบาท วันใดมีการประชุมหลายครั้งให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียว

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้ทำหน้าที่ประธาน ซึ่งมิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละห้าสิบของค่าตอบแทนที่พึงได้ตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 5 ให้กรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละหนึ่งพันห้าร้อยบาท และให้อนุกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละแปดร้อยบาท

สำหรับอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ได้กำหนดไว้ต่อท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ (ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3) ดังนี้

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 50,000 บาท/เดือน

ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในคณะรักษาความสงบแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 74,420 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 45,500 บาท/เดือน

รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 73,240 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 42,500 บาท/เดือน

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 42,330 บาท/เดือน

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่ได้หยิบยกผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆของคนที่ดำรงตำแหน่งต่างๆดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มากล่าวให้ทราบเพราะเนื้อที่จำกัด ขอให้ไปหาอ่านกันเองก็แล้วกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเดินทางในประเทศ หรือต่างประเทศ ซึ่งใช้อัตราเดียวกันกับปลัดกระทรวง

เพราะฉะนั้น ขอให้แม่น้ำแต่ละสายทั้ง 5 สายดังกล่าวนี้ ได้พัดพาน้ำอันบริสุทธิ์มาให้ชาวบ้านผู้เสียภาษีเป็นเงินมาให้ใช้จ่ายกันในการทำงานดังกล่าว ได้ดื่มได้ใช้กันจริงๆ

อย่ามัวเพ้อเจ้อพล่ามโน่นพล่ามนี่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ให้รกหูรกตา อย่างที่ชาวบ้านกำลังอึดอัดใจกันอยู่ในขณะนี้เลย เดี๋ยวจะเกิดเรื่องอีก

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
แนวหน้า  29 ธันวาคม พ.ศ. 2557