ผู้เขียน หัวข้อ: ราคาที่ต้องจ่าย “No free lunch”  (อ่าน 843 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
ราคาที่ต้องจ่าย “No free lunch”
« เมื่อ: 29 ธันวาคม 2014, 12:32:19 »
สำนวนเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “No free lunch” หรือแปลเป็นแบบไทยๆ ที่กว้างยิ่งกว่าว่า “โลกนี้ไม่มีของฟรี” ยังใช้ได้อยู่เสมอ
    เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว อาจารย์โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558จะขยายตัวได้ประมาณ 3-4 % ซึ่งถือเป็นอัตราที่ตํ่ากว่าศักยภาพของไทย เป็นผลกระทบจากโครงการประชานิยม ที่ยังคงกดดันการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนสูง
    แต่ผลกระทบจากโครงการประชานิยมในช่วงปี 2558-2559 จะทยอยเริ่มลดลง หลังจากนั้นคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงจะกลับมาปกติ
    ส่วนที่มีผู้เสนอให้กนง.หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจารย์โฆสิตมีมุมมองว่า แม้อัตราดอกเบี้ยจะลดลง แต่คงไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะการบริโภคถูกกดดันจากนโยบายประชานิยม และแนะว่าควรใช้นโยบายการคลังดูแลเศรษฐกิจมากกว่า
    เพราะถ้าลดดอกเบี้ยลงตํ่าเกินไป จะส่งผลให้คนไม่ออมเงิน และทำให้ปริมาณเงินออมในระบบลดลง
    คำว่า “โลกนี้ไม่มีของฟรี” ของนักเศรษฐศาสตร์จึงหมายความว่า ของที่บอกว่าฟรีที่ให้ใครบางคนไปนั้น เมื่อไล่ดูอย่างถี่ถ้วนท้ายที่สุดแล้ว ต้องมีใครสักคนเป็นคนจ่าย หรือรับภาระ
    เช่นเดียวกับการโหมกระตุ้นให้คนบริโภคในยุคก่อนหน้า เพื่อเป่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้โตไม่หยุด ถึงขั้นหนึ่งโตเกินศักยภาพเกิดเป็นฟองสบู่เพื่อรอวันแตกดับ หรือเป็นการโตโดยไม่มีพื้นฐานรองรับ
    วันนี้เมื่อหนี้ท่วมหัว ถึงจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบหวังกระตุ้นก็ไม่เป็นผล เศรษฐกิจที่ควรจะขยายได้ 5-6% ก็ไปไม่ถึง ต้องติดกับดักโตไม่เต็มศักยภาพเรื้อรังจนกว่าจะ “ใช้หนี้” กันหมด
    วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ประเด็นหลักยังเป็นเรื่องการสะสางปัญหาข้าวโครงการรับจำนำ ที่ยังแบกสต๊อกบานเบอะ 17ล้านตัน และกดดันราคาข้าวตลาดโลกไม่ให้โงหัว
    จึงต้องเร่งอนุมัติระบายข้าวในโกดัง ที่เวลานี้แบ่ง 4 เกรด คือ ข้าวผ่านมาตรฐาน ข้าวเสื่อมสภาพผิดมาตรฐาน ข้าวปรับปรุงได้ และผิดชนิดข้าวโดยดำเนินการ 3 แนวทาง เอ ขายตามมาตรฐาน บี ปรับปรุงข้าว และซี แจ้งความดำเนินคดี
    โดยจะดำเนินการทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหาย ซึ่งทั้งหมดส่งไปยังกระบวนการยุติธรรมแล้ว ทั้งนี้ ผลการปิดบัญชีข้าวพบว่า มีตัวเลขขาดทุนโดยประมาณ 6.8 แสนล้านบาท
    กรณีโครงการรับจำนำข้าวก็เช่นกัน วันนี้ชัดแล้วว่า “คนที่ต้องจ่าย”คือ คนไทยทั้งประเทศที่ต้องร่วมรับภาระหนี้การขาดทุนโครงการมหาประชานิยมดังกล่าว และอาจต้องจ่ายกันไปเป็น 20-30 ปี จนกว่าจะเคลียร์หนี้หมด
    หรือกรณีรถคันแรก ที่เป็นการเร่งดึง “ความต้องการในอนาคต” มาใช้ก่อนให้ทันกรอบเวลาโครงการ ไม่เพียงดูดคนตกบ่วงหนี้โดยไม่พร้อม ยังกระทบไปถึงโครงสร้างการผลิต-การตลาดรถยนต์ต่อเนื่อง วงการเพิ่งวางใจว่า อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มกลับสู่พื้นฐานปกติในปีหน้าเป็นต้นไป

อะไรที่เกินจริงมีค่าใช้จ่ายเสมอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3,011  วันที่  21 - 24 ธันวาคม  พ.ศ. 2557