ผู้เขียน หัวข้อ: พยาบาลสธ.เงินเดือนตันเพียบ หวั่นไหลไปรพ.เอกชน เหตุไม่ก้าวหน้า-ค่าตอบแทนคงที่  (อ่าน 1233 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สหภาพพยาบาล รุกเก็บข้อมูล พยาบาลวิชาชีพเงินเดือนตัน พบข้อมูลเบื้องต้น มีพยาบาลเงินเดือนตันถึง 1,640 คน ทนอยู่ในภาวะเงินเดือนตัน ตั้งแต่ 1-10 ปี แม้รัฐบาลประกาศเพิ่มเงินเดือนข้าราชการก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับ เผยพยาบาลรพ.อุดรธานีกว่า 500 คน ตันที่ระดับซี 7 และไม่สามารถขยับตำแหน่งได้แล้ว ชี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพยาบาลระดับเชี่ยวชาญ หวั่นทำพยาบาลไหลออกจากระบบไปอยู่รพ.เอกชนมากขึ้น เหตุไม่มีแรงจูงใจ ทำงานหนักขึ้นแต่เงินเดือนคงที่ จี้ สธ.-กพ.เร่งแก้ปัญหา ก่อนส่งผลทำระบบเหลือแต่พยาบาลจบใหม่ กระทบดูแลผู้ป่วย แนะใช้ระบบขรก.ครูที่ขยับเพิ่มถึงซี 9 ได้ทุกคน

27 ธ.ค.57 นางมัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งสหภาพพยาบาลฯ ได้มีพยาบาลจิตอาสาเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับวิชาชีพพยาบาล และทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์พยาบาลในประเทศไทย โดยในส่วนของปัญหาพยาบาลเงินเดือนตันนั้น ที่ผ่านมาได้มีพยาบาลจากจังหวัดต่างๆ เริ่มส่งข้อมูลเข้ามาแล้ว  ขณะนี้รวบรวมได้ประมาณ 9,000 คน โดยเป็นพยาบาลที่อยู่ในระดับซี 7 และในจำนวนนี้มีพยาบาลที่อยู่ในภาวะเงินเดือนตันตั้งแต่ 1 ปี ไปจนถึง 10 ปีจำนวนมาก โดยบางคนยังใกล้ที่จะเกษียณแล้ว แต่เงินเดือนและตำแหน่งยังคงที่ทั้งที่ควรขยับเพิ่มขึ้นตามภาระงานและผลงาน

นางมัลลิกา กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับไม่เป็นทางการ มีบางแห่งที่น่าสนใจ อย่างที่ รพ.อุดรธานี ปัจจุบันมีพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานใน รพ.ประมาณ 800 คน ในจำนวนนี้พบว่าร่วม 500 คน อยู่ในขั้นระดับซี 7 และจากนี้จะไม่สามารถขยับตำแหน่งขึ้นได้อีก นอกจากนี้ยังประสบปัญหาเงินเดือนตัน แม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 4% ในปีนี้ แต่พยาบาลเหล่านี้จะไม่ได้รับปรับ เนื่องจากเงินเดือนไม่สามารถขยับเพิ่มได้แล้ว มีเพียงประมาณ 300 คนที่ยังไม่ใช่ซี 7 ซึ่ง รพ.อุดรธานีเป็นเพียงพื้นที่ตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งหากมีการสำรวจข้อมูลพยาบาล 160,000 คนทั่วประเทศ เชื่อว่าพยาบาลที่อยู่ในระดับซี 7 และประสบภาวะเงินเดือนตันจะมีจำนวนมาก 

“ที่ผ่านมาได้นำเสนอปัญหา และทราบมาว่ากระทรวงสาธารณสุขเตรียมที่จะเสนอเพิ่มขั้นเพดานเงินเดือนระดับซี 7 จาก 39,000 บาท เป็น 43,000 บาท นับเป็นเรื่องที่ดี แต่มองว่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่นานเงินเดือนพยาบาลเหล่านี้จะถูกขยับเพิ่มและจะตันอีก ดังนั้นจึงอยากพยาบาลใช้รูปแบบเดียวกับข้าราชการครู ที่สามารถขยับเพิ่มขึ้นไปถึงซี 9 ได้” ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมามีข่าวว่า สธ.จะเสนอขอตำแหน่งซี 8 จำนวน 10,000 อัตราให้กับพยาบาลในสังกัดจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นางมัลลิกา กล่าวว่า ไม่รู้ว่าทาง ก.พ.จะอนุมัติทั้งหมดตามที่ สธ.เสนอหรือไม่ เนื่องจากเป็นการขอเพิ่มตำแหน่งจำนวนมาก และที่ผ่านมาการขออนุมัติเรื่องต่างๆ จาก ก.พ.เป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานานมาก ซึ่งในการทำงานของพยาบาลอยากให้ทาง ก.พ.ลงมาดูว่าต้องทำงานหนักอย่างไร ทั้งยังมีความเสี่ยงต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้คงต้องรอดูว่าทาง ก.พ.จะดำเนินการอย่างไร รวมถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาซี 8 

“ขณะนี้เรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพรวมถึงปัญหาเงินเดือนตันของพยาบาลน่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นสาเหตุทำให้พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยลาออกไปทำงานยัง รพ.เอกชน หรือประกอบวิชาชีพอื่นแทน ทำให้เหลือแต่พยาบาลรุ่นน้อง พยาบาลจบใหม่ ที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญ ขาดพยาบาลรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำและช่วยสอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วย” ประธานสหภาพพยาบาลฯ กล่าว และว่า ทั้งนี้พยาบาลเชี่ยวชาญ จากที่ทำงานในวิชาชีพมานานทำให้มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งบางคนมีความเชี่ยวชาญมากกว่าแพทย์ที่จบใหม่ แต่กลับไม่มีความก้าวหน้า ต่างจากวิชาชีพแพทย์ เพราะแม้แต่แพทย์จบใหม่ยังได้รับค่าวิชาชีพทันที 1 หมื่นบาท

นางมัลลิกา กล่าวต่อว่า จากการรวบรวมข้อมูลพยาบาลวิชาชีพชำนาญการที่เงินเดือนเต็มขั้น หรือเงินเดือนตัน ณ วันที่ 29 กันยายน 57 จากข้อมูลเบื้องต้นที่ส่งเข้ามา 59 จังหวัด จากหน่วยบริการ 452 แห่ง มีพยาบาลที่เงินเดือนเต็มขั้น 1,640 คน โดยมีพยาบาลที่เริ่มเข้าสู่ภาวะเงินเดือนเต็มขั้น หรือน้อยกว่า 1 ปี 532 คน รองลงมาเป็นกลุ่มที่เข้าสู่ภาวะเงินเดือนเต็มขั้นต่อเนื่องครบ 1 ปี จำนวน 477 คน, ภาวะเงินเดือนเต็มขั้นต่อเนื่อง 2 ปี จำนวน 460 คน, 3 ปี จำนวน 66 คน , 4 ปี จำนวน 41 คน, 5 ปี จำนวน 17 คน และ 6 ปี จำนวน 22 คน ทั้งนี้ยังมีพยาบาลวิชาชีพเงินเดือนเต็มขั้นต่อเนื่องถึง 6 คน

นอกจากนี้เมื่อแยกดูตามกลุ่มอายุ พบว่า พยาบาลที่มีภาวะเงินเดือนเต็มขั้น กลุ่มอายุที่มากที่สุดคือ 50 ปี จำนวน 236 คน รองลงมาอายุ 51 ปี จำนวน 210 คน, อายุ 49 ปี จำนวน 199 คน, อายุ 52 ปี จำนวน 184 คน, อายุ 48 ปี จำนวน 164 คน และอายุ 53 ปี จำนวน 137 คน สะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นพยาบาลระดับเชี่ยวชาญชำนาญการ

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการจัดเก็บแรกเริ่มเท่านั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่ทางสหภาพพยาบาลฯ จะเก็บข้อมูลได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากเป็นการขอข้อมูลตามความสมัครใจ ซึ่งสหภาพพยาบาลฯ พึ่งเริ่มจัดตั้งทำให้มีบางคนสงสัยว่าจะนำข้อมูลไปทำอะไร และไม่ไว้วางใจ ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บข้อมูลที่เป็นทางการ ซึ่งเชื่อว่าจะมีพยาบาลที่มีภาวะเงินเดือนเต็มขั้นจำนวนมาก เพื่อสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาและสร้างความเป็นธรรมให้กับวิชาชีพพยาบาล อย่างไรก็ตามทางสหภาพพยาบาลฯ จะยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยจะพยายามประชาสัมพันธ์ถึงการทำงานเพื่อให้พยาบาลที่อยู่ทั่วประเทศรับทราบและร่วมกันทำงานต่อไป


Sat, 2014-12-27
http://www.hfocus.org/content/2014/12/8965