ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อเท็จจริงและคำชี้แจงต่อรายงานการตรวจสอบประเมินผล สปสช.ตามรายงาน สตง.(๒๗ กย ๕๔)  (อ่าน 3058 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สรุปข้อตรวจพบ ข้อเสนอแนะของ สตง. และคำชี้แจงของ สปสช.

ข้อตรวจพบที่ ๑ การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้อง และไม่ประหยัด

ข้อตรวจพบที่ ๑.๑ การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
กล่าวคือ การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการหลังจากการประเมินผลการปฏิบัติงานปีที่ ๑ นั้น คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินเดือนเป็นเดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท และเงินประจําตําแหน่งเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นกรอบอัตราสูงสุดของกรอบเงินเดือนเลขาธิการตามมติคณะรัฐมนตรี ทําให้การปรับอัตราเงินเดือนของเลขาธิการปรับได้ เฉพาะการปฏิบัติงานปีที่ ๒ ไม่สามารถปรับอัตราเงินเดือนตามผลงานเป็นระยะ ๆ ตลอดอายุสัญญา จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการได้รับเงินเดือนของเลขาธิการตามมติคณะรัฐมนตรี    

ข้อเสนอแนะที่ ๑.๑ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ

๑.๑ แก้ไขการกําหนดอัตราเงินเดือนของเลขาธิการให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด

คำชี้แจงที่ ๑.๑ ของ สปสช.

๑. การพิจารณากำหนดเงินเดือน และการปรับขึ้นเงินเดือนของเลขาธิการเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๑ ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕  และที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เจรจาและกำหนดเงินเดือนเลขาธิการโดยพิจารณาจากภารกิจหลักของเลขาธิการที่ต้องรับผิดชอบบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีงบประมาณปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาท เปรียบเทียบกับเงินเดือนหน่วยงานที่เป็นองค์การมหาชนอื่น รวมทั้งการอ้างอิงแนวทางตามมติของคณะรัฐมนตรี เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือน และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการองค์การมหาชนฯ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ คือ พิจารณาทั้งมิติด้านความรับผิดชอบที่ต้องบริหารงานอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งประเทศ มิติด้านประสบการณ์ที่ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการ สปสช.มาตั้งแต่เริ่มต้น มิติด้านสถานการณ์ที่ต้องผลักดันภารกิจใหม่เรื่องหลักประกันสุขภาพของประเทศ

๒. สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวิธีดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม กล่าวคือพิจารณาจากเงินเดือนเดิมที่เคยได้รับก่อนได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ  ผลการปฏิบัติงานในรอบปีที่ผ่านมาที่ได้รับการประเมินอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยการประเมินของหน่วยงานภายนอก และได้รับโล่ห์บริหารกองทุนดีเด่นต่อเนื่องสามปีซ้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๒ ของกระทรวงการคลัง รวมทั้งการเทียบเคียงเงินเดือนกับหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีลักษณะและปริมาณงานใกล้เคียง ตลอดจนการเทียบเคียงกับการปรับขึ้นเงินเดือนของเลขาธิการท่านเดิม ซึ่งเมื่อเทียบอัตราการปรับขึ้นของเงินเดือนของเลขาธิการจะพบว่าไม่ต่างจากหน่วยงานที่เป็นองค์การมหาชนอื่น เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น

๓. กล่าวโดยสรุปคณะกรรกการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ที่บัญญัติในกฎหมาย โดยได้คำนึงถึงการใช้จ่ายเงินงบประมาณของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า และมติคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดเงินเดือนและปรับเงินเดือนของเลขาธิการ สปสช. อย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว


ข้อตรวจพบที่ ๑.๒ การจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

สปสช. เป็นองค์การมหาชนในกลุ่มที่ ๓ อัตราเบี้ยประชุมกรรมการขั้นต่ำและขั้นสูงเท่ากับ ๖,๐๐๐ - ๑๒,๐๐๐ บาท อนุกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนตามที่คณะกรรมการกําหนดแต่ ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราเบี้ยประชุมกรรมการ และประธานอนุกรรมการให้ได้รับในอัตราสูงกว่าอนุกรรมการร้อยละ ๒๕ ดังนั้นอนุกรรมการตรวจสอบจะได้รับเบี้ยประชุมขั้นต่ำและขั้นสูงเท่ากับ ๓,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ บาท และประธานอนุกรรมการจะได้รับเบี้ยประชุมในอัตราไม่เกินเดือนละ ๗,๕๐๐ บาท จากการตรวจสอบพบว่าอนุกรรมการตรวจสอบได้รับเบี้ยประชุมในอัตราคนละ ๑๖,๐๐๐บาทต่อเดือน และประธานอนุกรรมการตรวจสอบได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ทําให้ตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ ถึงปัจจุบันเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ สปสช.จ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบสูงเกินกว่าที่คณะรัฐมนตรีกําหนดเป็นเงินจํานวน ๓,๑๐๕,๐๐๐ บาท              

ข้อเสนอแนะที่ ๑.๒  เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ

๑.๒ ให้ตรวจสอบการจ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยหารือกับสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมี ความ  เห็นว่าการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบไม่ได้เป็นการมาประชุมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจ่ายผลตอบแทนให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบในการปฏิบัติงานตรวจสอบ

คำชี้แจงที่ ๑.๒ ของ สปสช.

๑. ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้มีคณะอนุกรรมการแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทคือ คณะอนุกรรมการทั่วไปที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งขึ้นตามความจำเป็น  และคณะอนุกรรมการตรจสอบ ที่กฎหมายกำหนดให้แต่งตั้งตามมาตรา ๒๑ ที่ผ่านมามีคณะอนุกรรมการทั่วไป เช่น คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง เป็นต้นคณะอนุกรรมการประเภทนี้ จะได้รับเบี้ยประชุมตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ ในขณะนั้น) ประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ ให้อนุกรรมการได้เบี้ยประชุมครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รายละเอียดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง อัตราค่าเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธานกรรมการ กรรมการ ประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการ  ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน  ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (เอกสารภาคผนวกที่ ๑.๒.๑)

๒. คณะอนุกรรมการตรวจสอบ แต่งตั้งตามมาตรา ๒๑ มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารเงินและการดำเนินงานของ สปสช.ทั่วประเทศ และต้องรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุก ๓ เดือน ประกอบกับมีสำนักตรวจสอบเป็นสำนักงานเลขานุการตามมาตรา ๓๗ ดังนั้นคณะอนุกรรมการตรวจสอบจึงปฏิบัติหน้าที่เสมือนกึ่งเต็มเวลา  มิได้เพียงแต่ประชุมเป็นรายเดือนเท่านั้น  หากแต่ยังได้ออกติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกองทุนในพื้นที่และหน่วยบริการต่างๆด้วยอย่างน้อยเดือนละ ๑-๓ ครั้ง

เนื่องจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบมีลักษณะเฉพาะกว่าคณะอนุกรรมการทั่วไป อย่างน้อยสามประการคือ ๑) กฎหมายบัญญัติให้มี  ๒) ต้องการคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเฉพาะของอนุกรรมการ ๓) มีภารกิจหรืออำนาจหน้าที่กว้างขวางทั่วประเทศ และต้องรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุก ๓ เดือน  เพื่อให้เหมาะสมกับคุณสมบัติและภารกิจเฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ ในขณะนั้น) จึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๒๓ ที่กำหนดให้ “ให้อนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุม ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ ...”กำหนดเป็นค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือนซึ่งรวมค่าเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ แตกต่างจากอนุกรรมการทั่วไปที่ได้รับเฉพาะเบี้ยประชุมอย่างเดียว รายละเอียดตามคำสั่งที่ ๑๕๓/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม  ๒๕๔๖ (เอกสารภาคผนวก ๑.๒.๒)

๓. กรณีนี้ สปสช. จึงเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายคนละฉบับ สตง.ใช้ กฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนและมติคณะรัฐมนตรีที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ส่วน สปสช.ใช้กฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้อนุกรรมการตรวจสอบได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือนตามที่ตรวจพบนั้น จึงเป็นการใช้อำนาจกำหนดตามความเหมาะสมและคำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้องแล้ว


ข้อตรวจพบที่ ๑.๓ การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้แก่เจ้าหน้าที่พนักงานและลูกจ้างไม่เหมาะสม

จากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลการจ่ายเงินโบนัสให้แก่ เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างของสปสช. พบว่าไม่ได้นําเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนต่อคณะกรรมการ โดยมีรายละเอียดคือ ปีงบประมาณ ๒๕๔๙ สปสช.จ่ายเงินโบนัสจํานวนเงิน ๑๘,๗๐๒,๘๓๖.๐๐ บาท โดยไม่มีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ในขณะที่ปีอื่น ๆ ทุกปีจะมีมติคณะกรรมการอนุมัติให้จ่าย และในปีงบประมาณ ๒๕๕๐ - ๒๕๕๑ สปสช. จ่ายเงินโบนัสให้พนักงานซึ่งไม่เป็นลูกจ้างของ สปสช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกําหนดนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล แต่ไม่ได้นําเสนอการจ่ายโบนัสให้พนักงานเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทำให้คณะกรรมการยังไม่ได้พิจารณาว่า การจ่ายโบนัสให้พนักงานถูกต้องตามแนวทางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสที่คณะกรรมการกําหนด การจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานในปีงบประมาณ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๑ เป็นจํานวนเงิน ๒,๗๕๑,๖๑๕.๐๐ บาท  

ข้อเสนอแนะที่ ๑.๓  เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ

๑.๓ ทบทวนการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยประสานงานกับสํานักงบประมาณและสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง และควบคุมกํากับให้สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการในการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (เงินโบนัส) และนําเสนอจํานวนเงินที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้บุคลากรทุกประเภทของสํานักงานหลักประกันสุขภาพในแต่ละปีต่อคณะกรรมการ

คำชี้แจงที่ ๑.๓ ของ สปสช.  

๑. การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) เจ้าหน้าที่พนักงานและลูกจ้าง ตามนโยบายรัฐบาลในขณะนั้นเช่นเดียวกับส่วนราชการอื่นๆ และเป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.๒๕๔๖ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ ในขณะนั้น)ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประกาศกำหนดไว้ ในข้อ ๒๔  “ผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับเงินประจำตำแหน่ง  เงินเพิ่มพิเศษ ค่าตอบแทนอื่น สวัสดิการ การสงเคราะห์และประโยชน์เกื้อกูลตามที่คณะกรรมการกำหนด” โดยมีการเริ่มให้ในปี ๒๕๔๘ เป็นปีแรก ในการจ่ายโบนัสให้แก่บุคคลากรของ สปสช. เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๘ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ๓ ประการคือ (เอกสารภาคผนวกที่ ๑.๓.๑)

(๑.๑)    เห็นชอบให้บุคคลากรของ สปสช.ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ตามการประเมินผลงานแต่ละปี เหมือนส่วนราชการอื่น

(๑.๒)    การจ่ายโบนัสให้แบ่งเป็นระดับลดหลั่นไป เป็นเกรด A, B, C

(๑.๓)    ระดับอัตราการจ่ายโบนัสให้เป็นไปตามคะแนนที่ได้จากการประเมินของ TRIS ที่ได้รับมอบหมายจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังในการประเมินผลการปฏิบัติงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย หากได้เกรด A (คะแนนมากกว่าร้อยละ ๘๐) ให้ได้โบนัส ร้อยละ ๑๒ ของเงินเดือนรวม หากได้เกรด B (คะแนนระหว่างร้อยละ ๗๐-๘๐) ให้ได้โบนัส ร้อยละ ๘ ของเงินเดือนรวม และ หากได้เกรด C (คะแนนระหว่าง ร้อยละ ๖๐-๗๐) ให้ได้โบนัส ร้อยละ ๖ ของเงินเดือนรวม

๒. ในการจ่ายโบนัสของ สปสช ในปี ๒๕๔๙ ได้ใช้มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในปี ๒๕๔๘ร่วมกับผลการประเมินตามรายงานของ TRIS ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ ในการเสนอได้อ้างถึงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสของปี ๒๕๔๘ ประกอบกับคะแนนผลการปฏิบัติงานจาก TRIS ซึ่งในปี ๒๕๔๙ นั้น สปสช ได้คะแนนผลการปฏิบัติงานจากการประเมินของ TRIS ที่ร้อยละ ๙๐.๒ ซึ่งได้ระดับ A จึงมีการจ่ายโบนัสที่ร้อยละ ๑๒ ของเงินเดือนรวม รายละเอียดในประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ (เอกสารภาคผนวกที่ ๑.๓.๒)

๓. กรณีการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (โบนัส) ให้แก่พนักงานที่ สปสช.จ้าง ในช่วงปี ๒๕๕๐ - ๒๕๕๑ นั้น เนื่องจากพนักงานที่ สปสช.จ้างตามข้อ ๑๕ ของข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๖  เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้าง (เอกสารภาคผนวกที่ ๑.๓.๓) จึงถือเป็นบุคคลากรของ สปสช.ประเภทหนึ่ง ดังนั้นมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๘ รวมทั้งมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงานของ TRIS และการจ่ายโบนัสในปีต่อๆมา จึงมีผลต่อพนักงาน เช่นเดียวกันกับเจ้าหน้าที่อื่นๆของ สปสช.ด้วย


ข้อตรวจพบที่ ๑.๔ การใช้จ่ายเงินบางรายการเป็นไปโดยไม่ประหยัด

โดยมีรายละเอียดคือ การเดินทางโดยเครื่องบินไม่ เป็นไปตามประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ จากการตรวจสอบพบ ว่าการเดินทางโดยเครื่องบินของผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานตําแหน่งอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือรองผู้อํานวยการสํานัก ทุกรายการไม่ได้ระบุถึงเหตุผลความจําเป็นที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน และการจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงการเดินทางในการจัดประชุม อบรมสัมมนาของ สปสช. ซึ่งถือปฏิบัติตามประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวข้างต้นนั้น ทําให้การเข้าร่วมประชุมอบรมสัมมนาเมื่อมีการจัดอาหารเลี้ยงยังคงเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้เต็มสิทธิ แต่จากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๒๐ ได้กําหนดกรณีที่มี การจัดอาหารให้แก่ผู้เข้าประชุมอบรมสัมมนาที่ได้ รับค่าเบี้ยเลี้ยงด้วยนั้น ให้หักค่าเบี้ยเลี้ยงได้ในอัตรามื้อละ ๑ ใน ๓ ของอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายต่อวัน แต่ประกาศของ สปสช. ดังกล่าวไม่ได้วางหลักเกณฑ์ข้อนี้ไว้ทําให้หน่วยงานมีการเบิกค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน

ข้อเสนอแนะที่ ๑.๔  เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ แก้ไขประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือกําหนดเป็นแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณากําหนดอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงให้เหมาะสมกรณี มีการจัดบริการอาหารให้ในระหว่างการประชุม อบรมสัมมนา เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดินเกิดประโยชน์  สูงสุด และไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับรายจ่ายอื่นที่หน่วยงานได้จ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมไปแล้ว และสั่งการให้      เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้ประกอบการเบิกจ่าย เช่น กรณีเดินทางโดยเครื่องบินต้องกําหนดให้ มีบัตรที่นั่งโดยสารเครื่องบินแนบรายการขอเบิกทุกครั้ง และหากมีการอนุมัติให้ ผู้ปฏิบัติงานที่ตําแหน่งต่ำกว่ารองผู้อํานวยการสํานักเดินทางโดยเครื่องบิน ต้องระบุถึงเหตุผลความจําเป็นที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบินให้ชัดเจน โดยเหตุผลความจําเป็นดังกล่าวต้องคํานึงถึงความประหยัดและคุ้มค่าเป็นสําคัญ

คำชี้แจงที่ ๑.๔ ของ สปสช.

๑. จากประกาศ สปสช. เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ข้อ ๑๑ (๒) (ค) กำหนดให้ “ผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานตำแหน่งอื่นๆ ที่มิใช่ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ รองผู้อำนวยการสำนัก ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ให้เบิกจ่ายในชั้นประหยัด” ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และหลายกรณีช่วยประหยัดค่าที่พักได้ด้วย ส่วนข้อเสนอแนะของ สตง.ที่ให้ระบุเหตุผลความจำเป็นในการเดินทางโดยเครื่องบินไว้ด้วยนั้น สปสช.ได้สั่งการให้ผู้มีอำนาจอนุมัติถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ตามหนังสือสั่งการที่ สปสช ๑๒/๐๐๑๓ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ แล้ว (เอกสารภาคผนวกที่ ๑.๔.๑)

๒. ด้วยเหตุที่การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของ สปสช. ต้องมีการชี้แจง เตรียมความพร้อม รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจากตัวแทนภาคประชาชนและผู้ป่วย และเพื่อให้การประชุม สัมมนา ต่างๆ ที่จัดขึ้นมีประสิทธิภาพ ได้รับผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายอื่นๆ และค่าเสียโอกาส ไม่ให้เป็นภาระกับผู้เข้าร่วมประชุมโดยเฉพาะกับภาคเอกชน ประชาชนหรือผู้ป่วย โดย สปสช.แยกค่าเบี้ยเลี้องออกจากค่าอาหาร ทําให้การเข้าร่วมประชุมอบรมสัมมนา เมื่อมีการจัดอาหารเลี้ยง ยังคงเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้เต็มสิทธิ ซึ่งแตกต่างจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๙ อย่างไรก็ตาม สปสช.จะรับข้อเสนอแนะของ สตง.ไปสู่การทบทวนระเบียบดังกล่าว


ข้อตรวจพบที่๑.๕ การจ้างที่ปรึกษาไม่เหมาะสม

สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ้างที่ปรึกษาในลักษณะต่อเนื่องและอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง การจัดทําสัญญาจ้างที่ปรึกษาไม่ครบถ้วน การจ้างที่ ปรึกษาทําหน้าที่ผู้บริหารระดับสูง และเอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาสําหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ ไม่สมบูรณ์

ข้อเสนอแนะที่ ๑.๕  เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ

๑.๕ ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาให้มีความชัดเจน และควรให้ความสําคัญกับความจําเป็นที่ต้องมีที่ปรึกษาและกําหนดอัตราผลตอบแทนที่ไม่สูงมากเกินไป

คำชี้แจง

๑. การจ้างที่ปรึกษาของ สปสช เป็นการจ้างบุคคลผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์และระบบหลักประกันสุขภาพ จำนวนน้อยที่เกษียณจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษของ สปสช. เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหาระดับสูง หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำ และเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และการมีเครือข่ายเฉพาะตัว จึงจำเป็นต้องจ้างด้วยอัตราค่าจ้างต่อเนื่องหรือไม่สูงเกินกว่าที่เคยได้รับก่อนเกษียณ

๒. ผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษา ถูกประเมินโดยเลขาธิการและรองเลขาธิการ ก่อนการจ้างทุกปี อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะของ สตง.ที่ให้ สปสช. พิจารณาออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและอัตราการจ้างที่เหมาะสม สปสช.จะรับไปดำเนินการ


 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ธันวาคม 2014, 02:20:00 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนด
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 27 ธันวาคม 2014, 02:07:11 »
ข้อตรวจพบที่ ๒ การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนด

๒.๑ การบริหารพัสดุของ สปสช. ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและข้อบังคับที่ กําหนดไว้
คือ สปสช. ไม่ได้ส่งแผนปฏิบัติ การจัดซื้อจัดจ้างให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในกําหนดเวลาอย่างช้าภายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ของทุกปี และแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างมีรายการไม่ครบถ้วน นอกจากนั้น สปสช. ไม่ปฏิบัติ ตามข้อบังคับสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. ๒๕๔๖ และคู่มือการจัดหาพัสดุ รวมถึงการให้เลขที่ใบสั่งซื้อสั่งจ้างในทะเบียนคุมใบสั่งซื้อสั่งจ้างไม่ครบทุกรายการ

ข้อเสนอแนะที่ ๒.๑ เพื่อให้การบริหารพัสดุของสํานักงานหลักประกันสุ ขภาพแห่งชาติมี ความถูกต้องเหมาะสม สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ ดังนี้

(๒.๑) ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการจัดทําแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยเคร่งครัดโดยเฉพาะการจัดทําแผนการปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างส่งให้ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในระยะเวลาที่กําหนด และแผนการจัดซื้อจัดจ้างต้องจัดทํารายละเอียดรายการให้ครบถ้วน ทั้งกรณีทําเป็นสัญญาและใบสั่งซื้อสั่งจ้าง

(๒.๒) สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ตามข้อบังคับสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๖ ข้อ ๘ และคู่มือการจัดหาพัสดุข้อ (๑) (ค) อย่างเคร่งครัด

(๒.๓) สั่งการให้เจ้าหน้าที่ให้เลขที่ใบสั่งซื้อหรือจ้างที่ ทําด้วยมือให้ครบถ้วนโดยจัดเรียงไปตามลําดับก่อนหลัง โดยไม่ว่างหมายเลขไว้

คำชี้แจงที่ ๒.๑ ของ สปสช.

๑. แผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง  การดำเนินงานด้านพัสดุของ สปสช. มีระบบควบคุมกำกับภายในอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินประจำปี ซึ่งได้ถูกกำหนดรายการเกี่ยวกับพัสดุไว้ในแผนการใช้จ่ายเงิน ซึ่งผ่านการอนุมัติแผนการใช้จ่ายเงินจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับการจัดหามีระบบการติดตามกำกับจากสำนักตรวจสอบ และคณะอนุกรรมการตรวจสอบ อีกชั้นหนึ่ง แต่อย่างใดก็ตามการปฏิบัติงานด้านเอกสารของเจ้าหน้าที่ในเรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อจัดส่งให้กับ สตง. และรายละเอียดตามข้อสังเกตของ สตง. ในช่วงแรกมีข้อบกพร่องบ้าง โดยเฉพาะจัดส่งให้กับ สตง.ตามระเบียบในบางปีล่าช้าบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ สปสช. มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้กำชับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. ๒๕๔๖

 ๒. ในส่วนที่พบว่าจัดหาพัสดุ ไม่ระบุราคากลางในหนังสือขออนุมัติ เนื่องจาก พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๒๙ “ให้คณะกรรมการเสนอขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำนักงาน”  ทำให้ สปสช.ต้องทำแผนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ สปสช.ล่วงหน้า เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี  ซึ่งในขั้นตอนการทำแผนงบประมาณนี้จะคำนวณวงเงินงบประมาณที่จะจัดหาพัสดุจากราคากลางหรือราคาอ้างอิงหรือราคาที่เคยจัดหาได้  เป็นวงเงินในการจัดหาตามแผนงบประมาณ ดังนั้นเมื่อถึงขั้นตอนการจัดหาพัสดุ  จึงไม่ได้ระบุราคากลางไว้อีก แต่ได้กำหนดขออนุมัติวงเงินงบประมาณที่ปรากฏในแผนงบประมาณ ซึ่งก็คือราคากลาง หรือราคาอ้างอิงนั้นเอง  อย่างไรก็ตาม กรณีในส่วนที่เลขที่ใบสั่งซื้อสั่งจ้างในทะเบียนคุมใบสั่งซื้อสั่งจ้างไม่ครบทุกรายการ  สปสช.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามข้อบังคับสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๖ ข้อ ๘ และคู่มือการจัดหาพัสดุข้อ (๑) (ค) อย่างเคร่งครัดแล้ว ตามหนังสือที่ สปสช.๑๒/๒๓๓ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔


ข้อตรวจพบที่ ๒.๒ การคัดเลือกผู้ขาย/ผู้รับจ้างในการจัดหาโดยวิธีเปรียบเทียบราคาด้วยการเปิดประมูลทั่วไปไม่เป็นไปตามระเบียบที่กําหนด
จากการตรวจสอบพบว่า สปสช. ไม่ได้พิจารณาคัดเลือกพัสดุหรืองานจ้างของผู้เสนอราคาที่ตรวจสอบแล้วมีคุณภาพและคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในขั้นตอนการยื่นซองเสนอราคาแต่พิจารณาคัดเลือกตามเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ปรากฏในประกาศการจัดหาพัสดุโดยวิธีเปรียบเทียบราคา ซึ่งขั้นตอนการต่อรองราคาที่ สปสช. กําหนดขึ้นเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาคัดเลือกคู่สัญญาดําเนินการจัดหาพัสดุนี้ไม่ได้ ปรากฏอยู่ในข้อบังคับสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๔๖และประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๗ แต่อย่างใด   ทําให้บางกรณีผู้ยื่นซองเสนอราคาต่ำสุดในชั้นต้นไม่ได้รับเลือกให้เป็นคู่สัญญา ซึ่งขัดกับหลักการต่อรองราคาตามระเบียบพัสดุที่มุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้เสนอราคาตลอดจนไม่สามารถยืนยันได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ ของกรรมการพิจารณาผลในกระบวนการต่อรองราคานั้นมีความโปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร

ข้อเสนอแนะที่ ๒.๒ เพื่อให้การบริหารพัสดุของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมี ความถูกต้องเหมาะสม สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ   แก้ไขระเบียบการจัดหาพัสดุ ของสปสช. ให้สอดคล้องกับระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลักการและวิธีการจัดหาพัสดุ และหากเนื้อความในประกาศการจัดหาพัสดุใดจําเป็นต้องมีข้อความหรือรายการแตกต่างไปจากที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กําหนดหรือแบบที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสํานักงานอัยการสูงสุดแล้วโดยข้อความดังกล่าวมีสาระสําคัญตามที่กําหนดไว้ในตัวอย่างหรือแบบของ กวพ. และไม่ทําให้ทางราชการเสียเปรียบให้สามารถกระทําได้ เว้นแต่พิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีปัญหาในทางเสียเปรียบหรือไม่รัดกุมพอให้ส่งร่างประกาศการจัดหาพัสดุไปให้สํานักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน

คำชี้แจงที่ ๒.๒ ของ สปสช.

๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ ในขณะนั้น) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๖  ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๕(๒)/๒๕๔๖  เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๖ สาระสำคัญของข้อบังคับดังกล่าวเกิดจากคณะทำงานยกร่างประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัสดุ จากสำนักนายกรัฐมนตรี กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ  ผู้ปฏิบัติงานด้านการพัสดุ โดยใช้หลักการสำคัญและปัญหาของการจัดหาพัสดุตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุมาเป็นฐานกำหนด ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงแนวคิดการปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดหาพัสดุ เกิดความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น แต่ต้องโปร่งใส เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ระบบงานของ สปสช. เป็นระบบงานขององค์กรประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล จึงได้กำหนดให้ขั้นตอนและวิธีการจัดหาพัสดุของ สปสช.มีความแตกต่างจากระบบราชการทั่วไปในบางประเด็น

 ๒. ในขั้นตอนของการจัดหาพัสดุด้วยวิธีเปรียบเทียบราคา (ประกวดราคา) สปสช.มีประกาศแจ้งในการจัดหาล่วงหน้าว่า คณะกรรมการจัดหาพัสดุจะต่อรองราคา แม้จะเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินจัดหาหรือราคากลาง และในการจัดหาแต่ละครั้งผู้เสนอราคาจะทราบโดยทั่วกันว่า สปสช.มีขั้นตอนการต่อรองราคาจากผู้เสนอราคาต่ำในสองหรือสามลำดับด้วย

 ๓. ในขั้นตอนการต่อรองราคาของคณะกรรมการจัดหาพัสดุ จากประกาศ สปสช.เรื่องแนวทางการจัดหาพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดหลักเกณฑ์ ว่าการจัดหาพัสดุที่มีมูลค่าตั้งแต่ ๑ ล้านบาท คณะกรรมการจัดหาพัสดุต้องมีผู้แทนสำนักต้นเรื่อง ผู้แทนสำนักบริหารทั่วไป ผู้แทนสำนักอื่นที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนสำนักกฎหมาย อย่างน้อยรวมสี่คนเป็นกรรมการจัดหาพัสดุและต่อรองราคา  เพื่อเป็นหลักประกันว่าการต่อรองราคาโดยคณะกรรมการที่มาจากหลายหน่วยงานจะมีความโปร่งใส  ในทางปฏิบัติเมื่อมีการต่อรองราคาแต่ละรายแล้วจะให้โอกาสผู้ที่ยื่นราคาต่ำสุดในครั้งแรกได้มีโอกาสในการพิจารณาอีกครั้งว่าจะลดราคาลงได้มากกว่าราคาที่กรรมการต่อรองจากผู้เสนอราคารายอื่นหรือไม่ หากผู้ยื่นราคาต่ำสุดในครั้งแรกไม่สามารถลดราคาให้ต่ำกว่าผู้ขายที่ยื่นเสนอราคาต่ำสุดในครั้งสุดท้าย ทางสำนักงานจึงจะจัดซื้อจากผู้เสนอราคาต่ำสุดในครั้งนั้นแทน

๔. ผลของการปฏิบัติตามข้อบังคับพัสดุ และประกาศการจัดหาพัสดุดังกล่าวของ สปสช.ทำให้ภาพรวมของการจัดซื้อจัดจ้างตามสัญญาที่ สตง ยกตัวอย่าง ๘ รายการ ซึ่งราคากลางหรืองบประมาณที่ตั้งของการจัดซื้อทั้งหมดเป็น ๔๗,๗๘๒,๘๐๐  บาท ซึ่งหากใช้ระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องจัดซื้อจากผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ไม่เกินราคากลางหรืองบประมาณที่ตั้ง ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๔๐,๗๔๑,๘๓๕.๖๖ บาท ในขณะที่ตามข้อบังคับพัสดุของ สปสช. สามารถต่อรองเพิ่มได้ โดยสามารถจัดหาได้โดยใช้งบประมาณเพียง ๓๘,๒๑๓,๘๖๘ บาท  จึงสามารถประหยัดงบประมาณของทางราชการได้อีก๒,๕๒๗,๙๖๗.๖๖ บาท รายละเอียดในตารางเปรียบเทียบราคา (เอกสารภาคผนวกที่ ๒.๒.๔)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ธันวาคม 2014, 02:09:34 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ข้อตรวจพบที่ ๓ การนําเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้ เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

ในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ สปสช. ได้จัดทําโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากองค์การเภสัชกรรมเป็นจํานวนเงิน ๑๖๕,๕๖๔,๗๔๐.๐๐ บาท เงินจํานวนดังกล่าว สปสช.ได้รับเป็นเงิน     บริจาคเข้ากองทุนสวัสดิการตามระเบียบ สปสช. ว่าด้วยการจัดสวัสดิการของสํานักงาน พ.ศ.๒๕๕๐ และ สปสช. ได้เบิกจ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการ ไปจัดสวัสดิการในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดทําโครงการศึกษาดู งานต่างประเทศ การจ่ายเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ทําคุณประโยชน์แก่ สปสช. และการจ่ายเพื่อประโยชน์แก่การสนับสนุนการปฏิบัติงาน  เพียงวันที่ ๓๑ ธั นวาคม ๒๕๕๒ มีการเบิกจ่ายเป็นเงิน ๙๐,๔๓๕,๑๕๑.๘๒ บาท ทําให้ สปสช. มีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐคงเหลือในกองทุนสวัสดิการ จํานวน ๗๕,๑๒๙,๕๘๘.๑๘ บาท การใช้จ่ายเงินดังกล่าวเพื่อสวัสดิการ ไม่เหมาะสมเนื่องจากงบประมาณในการจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข้อเสนอแนะที่ ๓ เพื่อให้การบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ กําหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรมให้เป็นการนําไปใช้เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยบริการ และกรณีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้จากองค์การเภสัชกรรมมาแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ดําเนินการให้สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับเป็นการดําเนินการโครงการที่ให้ประโยชน์กับหน่วยบริการโดยตรง

คำชี้แจงที่ ๓ ของ สปสช.

๑. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ส่วนราชการ จัดตั้งกองทุนสวัสดิการได้  และ สปสช.โดยความเห็บจากการหารือร่วมกับผู้แทน สตง.ในขณะนั้น ได้ออกระเบียบ สปสช.ว่าด้วยเงินสวัสดิการของสำนักงาน พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อบริหารกองทุนสวัสดิการดังกล่าวอย่างถูกต้องตามระเบียบที่สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนภารกิจของสำนักงานและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวหรือผู้ทำคุณประโยชน์แก่สำนักงาน และรวมถึงการทำสาธารณกุศลหรือสาธารณประโยชน์  และกำหนดให้กองทุนสวัสดิการ สปสช.จะไม่รับเงินบริจาคจากภาคเอกชน แต่จะรับเงินบริจาคได้เฉพาะจากรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือส่วนราชการ เท่านั้น

๒. ในปี ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ สปสช. ได้จัดทําโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากองค์การเภสัชกรรม ซึ่งรายละเอียดโครงการส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการ และการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ  และตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐฯข้อ ๖(๑) กำหนดวัตถุประสงค์ “เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการบริหาร วิชาการ การวิจัย การพัฒนา การอบรมและดูงานของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ” และองค์การเภสัชกรรมได้เคยชี้แจงแนวทางการบริหารเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐต่อสำนักงานประกันสังคม[1] ว่า งบสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐมีวัตถุประสงค์เฉพาะตามข้อบังคับฯ “ซึ่งเป็นการสนับสนุนในลักษณะสวัสดิการ นอกเหนือจากส่วนลดที่ได้ให้ไว้แล้วแก่หน่วยงานภาครัฐที่ซื้อผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งเงินสนับสนุนดังกล่าวไม่ถือเป็นค่านายหน้าหรือค่าคอมมิชชันและไม่ใช่เป็นเงินส่งเสริมการขาย ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนดังกล่าว จะต้องทำโครงการเสนอให้องค์การเภสัชกรรมพิจารณาเป็นรายๆไป ส่วนจะให้การสนับสนุนหรือไม่ หรือจะให้จำนวนเท่าไร องค์การเภสัชกรรมจะพิจารณาเป็นรายๆไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ”

๓. ดังนั้น เงินที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรมตามโครงการที่ สปสช.ขอรับการสนับสนุนไป จึงไม่ใช่ส่วนลดที่องค์การเภสัชกรรมได้ให้กับหน่วยบริการไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อให้การใช้เงินดังกล่าวมีความชัดเจนและขยายครอบคลุมการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของหน่วยบริการมากขึ้น ตามข้อเสนอแนะของ สตง. สปสช. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงระเบียบ สปสช.ว่าด้วยการจัดสวัสดิการของสำนักงาน พ.ศ.๒๕๕๔ และประกาศใช้ ณ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ แล้ว (เอกสารภาคผนวกที่ ๓)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ข้อตรวจพบที่ ๔ การจัดส่วนงานและการกําหนดตําแหน่งงานไม่ เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕

จากการตรวจสอบการออกประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดส่วนงานและการกําหนดตําแหน่งงาน พบว่าบางประกาศไม่ถูกต้อง กล่าวคือ การออกประกาศแบ่งส่วนงานฉบับแรกซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๖ เป็นฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่การออกประกาศแบ่งส่วนงานและการปรับปรุงการแบ่งส่วนงาน ภายหลังการออกประกาศฉบับแรก นั้นไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข้อเสนอแนะที่ ๔ เพื่อให้การดําเนินการของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปโดยถูกต้องสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาสั่งการให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินําเสนอการจัดแบ่งส่วนงานและการกําหนดตําแหน่งงานของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อคณะกรรมการก่อนการประกาศใช้

คำชี้แจงที่ ๔ ของ สปสช.

๑. การออกประกาศ สปสช. เรื่องการแบ่งส่วนงานของสำนักงานฯ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๖ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้ง ๓/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๕ ต่อมาคณะกรรมการฯ ได้มีมติในการประชุมครั้ง ๓/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐ เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างเงินเดือนเจ้าหน้าที่ สปสช. ตามข้อเสนอของคณะทำงานปรับโครงสร้าง สปสช. (ซึ่งประกอบด้วย ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธาน นายเชิดชัย มีคำ (ผู้แทนกรมบัญชีกลาง) ดร.ศิริชัยย์ ชัยชนะวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะทำงาน) และเห็นชอบให้ สปสช.ออกประกาศ การปรับโครงสร้างของ สปสช. โดยเน้นให้มีการบริหารแบบบูรณาการ มีความคล่องตัว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักการตามมติที่ประชุมในครั้งนั้น ดังนี้

“๑.๑   ไม่เพิ่มภาระด้านการบริหารงานบุคคล และงบประมาณบริหารจัดการของสำนักงาน   โดยไม่จำเป็น

  ๑.๒   มอบ สปสช. พิจารณาปรับโครงสร้างองค์กร ตามแนวทางดังนี้

           ๑) มี ๓ กลุ่มหน่วยงาน หรือเรียกชื่ออื่น ประกอบด้วย

 กลุ่มที่ ๑ กลุ่มหน่วยงานบริหารกองทุน

 กลุ่มที่ ๒ กลุ่มหน่วยงานพัฒนาและปฏิบัติการ (โดยอาจพิจารณารวมกลุ่มที่ ๒ และกลุ่มที่ ๔ ตาม ข้อเสนอเดิมเข้าด้วยกัน)

 กลุ่มที่ ๓ กลุ่มหน่วยงานหน่วยงานบริหารหลักประกันสุขภาพในพื้นที่       

   ๒) การจัดหน่วยงานภายในของแต่ละกลุ่ม ให้พิจารณาจัดตามความเหมาะสม และยืดหยุ่นโดยให้รวมกลุ่มหน่วยงานที่มีภารกิจสอดคล้องกัน เช่น ย้ายหน่วยงานลำดับที่ ๒.๘ ไปรวมอยู่ในกลุ่มที่ ๓ เป็นต้น

๓)   เน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของสำนักงานสาขา

๔)  ภารกิจที่ไม่ได้เป็นงานประจำ ให้พิจารณาบริหารจัดการแบบโครงการ”

จากมติคณะกรรมการฯนี้ จึงทำให้ สปสช.สามารถจัดแบ่งส่วนงานภายในได้ (เอกสารภาคผนวกที่ ๔.๑)

๒. ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการฯครั้งที่ ๑๒(๗) /๒๕๕๐ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ เห็นชอบให้ ปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแลงานบริหารงานบุคคลของ สปสช.จากการควบคุมกรอบอัตรากำลังของคณะกรรมการฯ เป็นการควบคุมตามแผนงานและวงเงินงบประมาณบริหารบุคคลที่ได้รับในแต่ละปี  และจากมติดังกล่าวนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ข้อบังคับฯว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ในข้อ ๑๐ เป็นดังนี้ “สำนักงานจะมีผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งใด ประเภทใด ระดับใด อยู่ในส่วนงานใด จำนวนเท่าไร ให้เลขาธิการเป็นผู้กำหนด โดยคำนึงถึงความจำเป็น ลักษณะหน้าที่ ความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงาน ภายใต้กรอบนโยบาย เป้าหมาย แผนงานและวงเงินงบประมาณรวมทุกด้านเกี่ยวกับบุคคล ที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ” (เอกสารภาคผนวกที่ ๔.๒)

๓. จากมติคณะกรรมการฯ และข้อบังคับฯ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้การออกประกาศฯ เรื่องแบ่งส่วนงานและกำหนดตำแหน่งงาน ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๑ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากนั้น(ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ และฉบับที่ ๔ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓) เลขาธิการสามารถดำเนินการได้เพราะได้รับมอบจากมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว


story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ข้อตรวจพบที่ ๕ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกําหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่ง (Job Specification)

จากการตรวจสอบการบริหารทรัพยากรบุคคลของ สปสช. พบว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๒ สูงกว่าเกณฑ์ ที่คณะรัฐมนตรีกําหนด โดยไม่ได้เสนอไปยัง ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งงานด้านคุณวุฒิการศึกษาของเจ้าหน้าที่ในสํานักนโยบายและแผน สํานักบริหารสารสนเทศการประกัน และสํานักงานสาขาเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้นจํานวน ๑๑๑ อัตรา พบว่าการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่ง ทั้งหมด ๙ คนคิดเป็นร้อยละ ๘.๑๑ ของจํานวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด

ข้อเสนอแนะที่ ๕ เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดําเนินการ ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ กันยายน๒๕๔๗ และวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เกี่ยวกับการกําหนดกรอบวงเงินรวมสําหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและให้มีการบรรจุ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ให้ตรงตามที่กําหนดไว้ ในคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งงาน
(Job Specification) อย่างเคร่งครัด

คำชี้แจงที่ ๕ ของ สปสช.  

๑. ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ ที่กำหนดกรอบวงเงินรวมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชน ต้องไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของเงินอุดหนุนประจำปี และหากองค์การใดไม่สามารถดำเนินการให้อยู่ในกรอบได้ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายกรณี

๒. เนื่องจากภารกิจการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการคุ้มครองสิทธิเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ของ สปสช. ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ประกอบกับ สปสช.ได้รับงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการเพียงร้อยละ ๑-๑.๕ ของงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในแต่ละปี ซึ่งอัตราส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนอื่นๆในต่างประเทศ เป็นผลให้ สปสช.ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเกินกว่าร้อยละ ๓๐ ของเงินอุดหนุนที่เป็นงบบริหารจัดการประจำปี อย่างไรก็ตาม สปสช. ได้เสนอวงเงินงบประมาณและรายละเอียดด้านบุคลากรควบคู่กับงบบริหารจัดการสำนักงาน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเป็นกรณีเฉพาะทุกปี เป็นการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี ดังกล่าว

 ๓. เรื่องการบรรจุบุคลากรให้ตรงกับคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง โดยเฉพาะด้านคุณวุฒิการศึกษา ปกติ สปสช. ยึดถือเกณฑ์ดังกล่าวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่มีบางกรณีที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของสำนักงานฯ เช่น งานที่ต้องการความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคไอที ก็อาจต้องเน้นที่ประสบการณ์และความสามารถของบุคลากรเป็นสำคัญในการพิจารณาบรรจุ อย่างไรก็ตาม สปสช.จะยึดตามข้อเสนอแนะของ สตง.ในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป


story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ข้อตรวจพบที่ ๖ การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กําหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕

จากการตรวจสอบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ ๒๕๕๒ พบว่าเลขาธิการได้อนุมัติให้นําเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสําหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจํานวน ๙๕,๓๒๕,๐๐๐.๐๐ บาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ เพื่อการดําเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ซึ่งการนําเงินกองทุนไปใช้จ่ายไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีผลกระทบทําให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดําเนินงานตามที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอแนะที่ ๖ เพื่อให้การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

๑. ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุน

๒. ให้เลขาธิการกํากับดูแลสํานักงานหลักประกันสุขภาพสาขาเขตพื้นที่ ปฏิบัติตามคู่มือบริหารงบ      กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของแต่ละปีงบประมาณอย่างเคร่งครัด

คำชี้แจงที่ ๖ ของ สปสช.

          ๑. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) ถูกกำหนดภายใต้ขอบเขตตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๓๘ ที่กำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ว่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดยคำนึงถึงการพัฒนาการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการเพียงพอ หรือมีการกระจายหน่วยบริการอย่างไม่เหมาะสม และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตราที่ ๑๘  ออกระเบียบ และประกาศต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหารกองทุน โดยมี สปสช.เป็นผู้บริหารกองทุนตามมาตราที่ ๒๖  โดยการออกประกาศ เรื่องการบริหารจัดการงบกองทุนในแต่ละปีและจัดทำคู่มือการบริหารงบกองทุนประจำปี ซึ่งจะแสดงรายละเอียดที่สำคัญของการบริหารจัดการกองทุน และเผยแพร่อย่างกว้างขวางให้กับทุกหน่วยบริการ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้สนใจ ได้ทราบแนวทางปฏิบัติ

          ๒.รายละเอียดในระเบียบ สปสช.ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.๒๕๔๖ ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกตามมาตรา ๔๐ ข้อ ๑๐ ที่กำหนดว่า "การจ่ายเงินกองทุนให้จ่ายได้ตามวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ กำหนด

          สำหรับโครงการที่มีการตั้งข้อสังเกตทั้ง ๔ รายการนั้น จะเป็นการจ่ายเงินกองทุนภายใต้เงื่อนไขและวัตถุประสงค์ที่สนับสนุน ส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ดังนี้


(๑)    โครงการสนับสนุนคุณภาพบริการสาธารณสุขด้วยกระบวนการคุณภาพระดับโรงพยาบาล ปี ๒๕๕๒

    เป็นการใช้จ่ายตามประกาศเรื่อง การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ออกตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการประชุมวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้มีงบจัดสรรตามเกณฑ์คุณภาพบริการ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บุคคลต้องได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานบริการ และตามประกาศดังกล่าวข้อ ๔.๓ ระบุเป็นงบจ่ายเพิ่มเติมสำหรับสนับสนุนหน่วยบริการตามเกณฑ์คุณภาพบริการ และในทางปฏิบัติตามคู่มือการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ หน้า ๑๒๕-๑๒๙ ระบุแนวทางในการบริหารงบจัดสรรตามเกณฑ์คุณภาพบริการ ที่ระบุเกณฑ์ในการวัดหน่วยบริการรับส่งต่อ ข้อหนึ่งว่าวัดดัวยผลการพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการรับส่งต่อ   ซึ่งในขณะนั้นสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนและตรวจการรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล ซึ่งแนวทางการพัฒนาและการตรวจรับรองโรงพยาบาลเป็นที่ยอมรับของหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน  กิจกรรมตามโครงการที่ตั้งข้อสังเกต ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ พรพ. ดำเนินการ จึงเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดระบบบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น     

(๒)  โครงการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปี ๒๕๕๒ (ในส่วนที่จ่ายให้กรมควบคุมโรค)

   ตามประกาศเรื่อง การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ซึ่งออกตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการประชุมวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ กำหนดว่ารายการงบวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกกลุ่มอายุโดยให้ใช้งบบริการผู้ป่วยใน เนื่องจากมีผลการศึกษาของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเมื่อให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะทำให้อัตราการมาใช้บริการผู้ป่วยในลดลง และเนื่องจากเป็นปีแรกๆ ของการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ซึ่งในระบบบริการสาธารณสุขยังไม่เคยมีการดำเนินการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างทั่วถึงทั้งประเทศมาก่อน จึงจำเป็นต้องสนับสนุนการพัฒนาระบบการให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งด้านความรู้ด้านวัคซีน การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย และระบบการส่งและจ่ายวัคซีนไปยังหน่วยบริการ จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้และความชำนาญในการควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการและได้รับบริการที่ครบถ้วนและถูกต้อง

กรณีนี้ จึงเป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนตามประกาศและมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการจ่ายเงินกองทุนนี้อยู่ในกรอบวัตถุประสงค์เป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการตามมาตรา ๓๘

(๓)        โครงการพัฒนาคุณภาพระบบข้อมูลการเงินการบัญชีเพื่อประเมินผลและเฝ้าระวังสถาการณ์การเงินการคลัง (ส่วนที่จ่ายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

                 ตามประกาศเรื่อง การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ซึ่งออกตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการประชุมวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ ส่วนเพื่อบริการผู้ป่วยนอก ข้อ ๒.๒.๒ ให้จ่ายเงินกองทุนให้หน่วยบริการตามจำนวนข้อมูลที่กำหนดสำหรับบริการผู้ป่วยนอกรายบุคคลและข้อมูลด้านการเงินการคลังของหน่วยบริการ

กรณีนี้ เป็นความจำเป็นของหน่วยบริการแต่ละแห่ง จะต้องมีและใช้ระบบข้อมูลการบริการและข้อมูลการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ สปสช.จึงได้สนับสนุนงบประมาณตามประกาศดังกล่าวให้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นส่วนราชการที่รับผิดชอบหน่วยบริการดังกล่าวให้เป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการของหน่วยบริการในสังกัด  การจ่ายเงินกองทุนตามโครงการนี้จึงอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์เป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการตามมาตรา ๓๘

(๔)      โครงการนำร่องระบบรับส่งข้อมูลการรักษาและการใช้ยาของผู้ป่วยนอกรายบุคคล (ส่วนที่จ่ายให้สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

การดำเนินการโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอกตามผลการบริการ จากเดิมการจ่ายค่าใช้จ่ายบริการผู้ป่วยนอกเป็นการจ่ายตามจำนวนประชากรที่ปรับด้วยโครงสร้างอายุ ต่อมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   เห็นว่าควรมีการจ่ายตามจำนวนการเข้ารับบริการจริง (จำนวนครั้งการใช้บริการ) เป็นเกณฑ์หนึ่งในการจ่าย (ข้อ ๒.๒.๒  ตามประกาศตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๑)  จึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยบริการสามารถจัดทำข้อมูลบริการและข้อมูลบริการด้านยาที่ใช้ในการให้บริการให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อเป็นการสนับสนุน และส่งเสริมจัดระบบบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น

๓. ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีงบประมาณสำหรับจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพบริการ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และค่าบริการผู้ป่วยนอกไว้จำนวน ๗๑๔.๕๗ บาทต่อหัวประชากร คิดเป็น ๓๓,๖๐๓,๑๔๘,๐๐๐บาท ซึ่งโครงการที่ตั้งข้อสังเกตทั้ง ๔ โครงการเป็นมูลค่า ๙๕,๓๒๕,๐๐๐ บาท คิดเป็นร้อยละ ๐.๒๘ ของงบทั้งหมด



story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ข้อตรวจพบที่ ๗ การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามที่คู่มือกําหนด

จากการตรวจสอบการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสําหรับบริการที่มีความต้องการใช้ บริการเด่นชัด (P&P Expressed demand services) พบว่า สปสช. จัดสรรงบดังกล่าวแก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ซึ่งคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กําหนดให้เป็นการจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวให้แก่หน่วยบริการ ทําให้หน่วยบริการได้รับงบประมาณน้อยกว่าที่ควรได้รับ

ข้อเสนอแนะที่ ๗ เพื่อให้การบริหารงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กํากับดูแลสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาพื้นที่พิจารณาอนุมัติโครงการ/กิจกรรมด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามแนวทางที่คู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกําหนด

คำชี้แจงที่ ๗ ของ สปสช.

๑. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) ถูกกำหนดภายใต้ขอบเขตตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๓๘ ที่กำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ว่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดยคำนึงถึงการพัฒนาการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการเพียงพอ หรือมีการกระจายหน่วยบริการอย่างไม่เหมาะสม และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตราที่ ๑๘  ออกระเบียบ และประกาศต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหารกองทุน และมาตรา ๒๐ แต่งตั้งและมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการชุดต่าง เพื่อให้มีการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สอดคล้องกับปัญหาและลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่

๒. ตามแนวคิดในข้อ ๕) หน้า ๒ ของเอกสารแนบท้ายประกาศเรื่อง การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ซึ่งออกตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการประชุมวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ มีกรอบแนวคิดในการเพิ่มประสิทธิผลการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยให้จ่ายเงินให้สำนักงานสาขาจังหวัด สาขาเขตพื้นที่ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามปัญหาความต้องการเร่งด่วนของแต่ละพื้นทีได้ และตามคู่มือการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ระบุแนวทางการบริหารสำหรับงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด (P&P Expressed demand services) สำหรับกลุ่มประชากรสิทธิอื่น (Non UC) รายการบริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ว่า สปสช.จะโอนงบประมาณแก่หน่วยบริการ/สถานพยาบาล (ผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด) ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานฯ สาขาเขตพื้นที่

๓. จากการที่เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเฉพาะของระบบบริการสาธารณสุขที่มีหน่วยบริการหลากหลายสังกัด ประชากรมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากพื้นที่จังหวัดอื่นๆ และไม่มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่จะทำหน้าที่ สปสช.สาขาจังหวัด  ทำให้การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้แทนหน่วยบริการทุกระดับ ทุกสังกัด และภาคประชาชน เป็นคณะอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ข้อหนึ่งที่ระบุให้กำหนดวิธีการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขตพื้นที่ เช่น งบลงทุน งบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฯลฯ ให้เป็นไปตามนโยบานและมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ข้อ ๔ ของอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ) และการดำเนินการของ สปสช.เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก็เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการดังกล่าว คือ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีมติเห็นชอบแผนบริหารงบประมาณ P&P Expressed demand services ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามข้อเสนอของคณะทำงานพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเขตกรุงเทพมหานคร ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๕๑ วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๑ ซึ่งมีโครงการทั้ง ๔ โครงการที่ได้รับข้อสังเกตอยู่ในแผนดังกล่าว ทั้งมีการระบุชัดเจนว่าใช้งบในส่วน Non Uc และให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นผู้ดำเนินการ จึงเป็นการดำเนินการตามมติของคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งและมอบอำนาจจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เอกสารภาคผนวกที่ ๗.๓)

๔.ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ งบกองทุนสำหรับ P&P Expressed demand services มีจำนวน ๑๐๙.๘๖ บาทต่อหัวประชากรไทยทั้งประเทศ หรือจำนวน ๕,๑๖๖,๒๗๖,๓๖๐ บาท เป็นงบสำหรับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน ๕๑๕,๔๕๗,๙๙๕ บาท สำหรับโครงการทั้ง ๔ โครงการที่ตั้งข้อสังเกตมีมูลค่ารวม ๓๙,๗๖๓,๕๓๔ บาท คิดเป็นร้อยละ ๐.๗๗ ของงบ P&P Expressed demand ทั้งหมด

**********************

[1] หนังสือที่ สธ.๕๑๐๐/๑๕๙๐ ลงวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
 
เอกสารที่เกี่ยวข้อง :
คำชี้แจง สตง.15-12-54,

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
รายงานการตรวจสอบประเมินผล โดย สตง.(รายละเอียด)
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 27 ธันวาคม 2014, 11:53:50 »
รายละเอียดรายงานของ สตง. ตามลิงค์เลยครับ
http://www.thaihospital.org/board/index.php?topic=2886.0