ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๘๘. สุขภาวะของผู้สูงอายุ  (อ่าน 859 ครั้ง)

knife05

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 60
    • ดูรายละเอียด
บ่ายวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ผมไปประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมการประชุมหารือนโยบาย ระบบการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ในฐานะเป็นคณะที่ปรึกษาของ รมต. และ รมช. สาธารณสุข

ตรงนี้ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ผมไม่ได้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง ที่ผมเป็นคือ หนึ่งในคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรี ที่ นพ. มงคล ณ สงขลา เป็นประธานคณะที่ปรึกษา เป็นตำแหน่งช่วยให้คำปรึกษา เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทน ยกเว้นเบี้ยประชุม ๒ พันบาท ตอนประชุมคณะที่ปรึกษา ในการประชุมในวันที่ ๑ ตุลาคมนี้ ผมไปทำงานให้ฟรี ไม่มีเบี้ยประชุมหรือ การตอบแทนใดๆ ผมถือว่าเป็นการรับใช้บ้านเมือง

แต่ผมก็ได้ความสุขสดชื่นยิ่งนัก เพราะจากการประชุม ทำให้ผมเห็นว่า ระบบสุขภาพไทยได้ เตรียมการณ์ เรื่องสุขภาวะของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายไว้อย่างดีมาก รองรับนโยบายของฝ่ายการเมือง ในช่วงนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ

นโยบายข้อ ๒.๕ ของ รมต. และ รมช. สาธารณสุขคือ "เร่งรัดการดำเนินการระบบการสร้างเสริม สุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในหนึ่งปี และมีผลอย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยเน้นการดูแลโดยชุมชนและครอบครัว ด้วยการสนับสนุนและร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถานบริการสุขภาพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

ประชุมเสร็จ ผม (ในฐานะประธานของที่ประชุม) สรุปว่า ระบบสุขภาพไทยได้เตรียมการณ์ไว้ ตามนโยบายของฝ่ายการเมืองชุดนี้อย่างดีมาก ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข, สช., สปสช., สวรส., สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย, และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยแต่ละฝ่ายมีการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง นับสิบปี มาสอดรับกับนโยบายของ รมต. และ รมช. สาธารณสุข ในรัฐบาลนี้พอดี

แสดงว่า นโยบายของ รมต. และ รมช. ยุคนี้สมเหตุสมผล เหมาะสมตามยุคสมัย และตามสภาพ สุขภาวะของประเทศ ไม่ใช่นโยบายหาเงินเข้ากระเป๋า หรือหาเสียงจากประชานิยม

ยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการ คือการทำโครงการนำร่อง ในทุกจังหวัด จังหวัดละ ๑ อำเภอ แล้วขยายผลจนเต็มทั้งประเทศใน ๕ ปี ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการพัฒนานิยาม พัฒนาคน พัฒนาเครือข่ายระบบบริการแบบไร้รอยต่อ พัฒนาบทบาทของท้องถิ่น (อปท.) บทบาทของภาคประชาสังคม (ชุมชน/สมาคม/ครอบครัว) พัฒนาระบบงบประมาณ กฎระเบียบ เวชภัณฑ์/สมุนไพร กลไกการจัดการระบบ ที่เน้นการประสานเครือข่าย การติดตามผลและพัฒนาต่อเนื่อง ด้วย SSS (Success Story Sharing)

ผมมีความสุข ที่เห็นว่า KM จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระบบ Longterm Care ของผู้สูงอายุ และระบบ Palliative Care หรือ End-of-life Care ของคนทุกอายุ

ที่จริง แต่ละส่วนมีรายละเอียดมากมาย ที่จะต้องทำ capacity building แต่ที่น่าชื่นใจคือ มีการทดลองพัฒนานำร่องไปก่อนแล้ว ในบางโรงพยาบาล บางพื้นที่ เช่นโรงพยาบาล ลำสนธิ จ. ลพบุรี นพ. สันติ ลาภเบญจกุล ดำเนินการมาเกือบสิบปี แรกๆ ก็ทำผิดทาง แต่เวลานี้กลายเป็นตัวอย่างที่ดี

ทีมวิชาการของ รมต. นำโดย นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ที่เรื่องนี้เจ้าของเรื่องคือ ดร. ทิพิชา โปษยานนท์ เตรียมงานดีมาก ทั้งการเตรียมเอกสาร และเตรียมเชิญคนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับข้อมูลครบถ้วน เห็นภาพรวมของการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผล โดยที่แต่ละหน่วยงานก็ดีใจ ที่งานของตนจะได้รับการสนับสนุน

ผมแซวคุณหมออุกฤษฏฺ์ มิลินทางกูร อดีตรองเลขาธิการ สช. ที่เวลานี้เป็นที่ปรึกษา สช. ผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบาย "ตายดี" ของ สช. ซึ่งก็คือเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ว่า สช. โดยมติของ คสช. (ไม่ใช่คุณสมชาย แต่ย่อมาจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ได้เสนอแนะนโยบาย ด้านสุขภาพจำนวนมาก ที่ได้จากมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นำมาเข้า คสช. แล้ว คสช. มีมติสนับสนุนและให้นำเสนอ ครม. ที่ผ่านมามีเรื่องแบบนี้เข้า ครม. จำนวนมาก คงจะกว่าสิบเรื่อง ครม. เห็นชอบ แต่ไม่ทำอะไร ผมแซวว่า คราวนี้ สช. น่าจะตีไข่แตก คือ มติ คสช. เรื่องนี้ ซึ่งกำลังจะนำเสนอ ครม. น่าจะได้รับการนำไปปฏิบัติ เป็นเรื่องแรก



วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๕๗


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich