ผู้เขียน หัวข้อ: หนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่ยื่นต่อ สปช. และ สนช.  (อ่าน 1253 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย

ที่ สพศท. พิเศษ -๓/๒๕๕๗                                                   
                                                                   วันที่ ๑๗ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๗     
                                                                                                                                                                                               
เรื่อง   ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข 

เรียน  แพทย์หญิงพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข
        นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ การสาธารณสุข       
 
          สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปฯ (สพศท.) และสหสาขาวิชาชีพ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ฯ โดยละเอียดแล้ว เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.  ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุข เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย รวมทั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการบริหารเงินกองทุนของ พ.ร.บ. โดยบุคคลบางกลุ่ม ที่เข้ามาเป็นกรรมการตาม พ.ร.บ. ดังนี้

            ๑. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มองความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์เป็นผู้ซื้อกับผู้ขาย
ช่วงเวลาที่ผ่านมาความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นแบบเกื้อกูลและพึ่งพา ดังพระราชดำรัสของพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย  ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรายึดถือเป็นหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย จนแม้เวลานี้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีดังเดิม  แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำลายรากฐานที่สำคัญอันนี้ไป ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบของความสัมพันธ์ไปในทางที่เลวลง  มองอีกฝ่ายเป็นคู่กรณีอย่างไม่มีวันเอาคืนมาได้ ความดีงามในระบบสาธารณสุขของเราในอดีตถึงปัจจุบัน  (ซึ่งในโลกตะวันตกไม่มี) ก็จะเสื่อมสลายไป

            ๒. ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด แต่ก็ต้องมีการวินิจฉัยว่ามีความเสียหาย
ในปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขมี  ๘ วิชาชีพ ทุกวิชาชีพทุกสาขามีมาตรฐานของวิชาชีพของตัวเองโดยมีสภาวิชาชีพคอยกำกับดูแล ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้อำนาจการวินิจฉัยมาตรฐานวิชาชีพโดยบุคคล ซึ่งไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ใช้ความรู้สึกมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน เอาความถูกใจแทนความถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการทำลายมาตรฐานวิชาชีพด้านสาธารณสุขทุกสาขาโดยตรง

             ๓. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการมากเกินไป  ไม่มีกลไกตรวจสอบ
ซึ่งประกอบด้วย องค์กรเอกชน (NGO) เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในทีมบริหารกองทุนอื่นๆ เช่น สปสช.  สสส.  สช.  สพฉ.  สรพ.  เป็นต้น เป็นที่คลางแคลงใจถึงการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของบุคคลกลุ่มนี้  โดยชัดเจนว่าบริหารกองทุนอื่นไม่โปร่งใสและไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุนเหล่านั้นจากรายงานของผู้ตรวจสอบกลาง เช่น สตง. แสดงให้เห็นมาหลายปีแล้ว

             ข้อเสนอ  ขอให้ชดเชยเยียวยาผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ด้วยเงินชดเชยเยียวยาจากมาตรา ๔๑ ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕  โดยครอบคลุมคนไทยทุกคนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ แต่เดิม  และขยายวงเงินให้เพียงพอ   

             การพยายามช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ควรกระทำตามหน้าที่ แต่การช่วยเหลือโดยการออกกฎหมายที่มีแนวปฏิบัติที่จะสร้างปัญหาใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง สพศท. จึงขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวด้วยเหตุผลหลักๆข้างต้น

            อนึ่งหากจะมีการระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและรอบด้านโดยปราศจากอคติ และไม่มีจิตที่จะมุ่งแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์อันไม่ควรแล้ว สพศท. ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรเร่งพัฒนาคุณภาพการรักษาดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐานในทุกมิติ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืน


                                                      ขอแสดงความนับถือสูง             
                                                                           
                                                                         
                                               ( แพทย์หญิงประชุมพร บูรณเจริญ)                                                     
                   ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย