ผู้เขียน หัวข้อ: รำลึก 10 ปี สึนามิ  (อ่าน 939 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
รำลึก 10 ปี สึนามิ
« เมื่อ: 09 ธันวาคม 2014, 13:28:48 »
แม้ร่องรอยความเสียหายจากเหตุธรณีพิบัติภัยและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อสิบปีก่อนจะแทบไม่ปรากฏ ทว่าโศกนาฏกรรมในครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของผู้คนมากมายไปตลอดกาล

ใจกลางหมู่บ้านน้ำเค็ม ห่างจากชายหาดประมาณหนึ่งกิโลเมตร เรือไม้ลำใหญ่สีฟ้าหนัก 49 ตัน และเรือไม้สีส้มอีกลำทิ้งร่องรอยผุพังกรำแดดฝน เรือทั้งสองลำยังตั้งอยู่ที่เดิมหลังจากถูกน้ำซัดขึ้นมาจากชายหาดเมื่อ 10 ปีก่อน  พอละสายตาจากเครื่องเตือนความทรงจำทั้งสอง เราก็พบตึกทึบชื้นทรงสี่เหลี่ยมเรียงรายคล้ายอาณาจักรนกนางแอ่น

หลังภัยพิบัติสึนามิ บ้านน้ำเค็มเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพียงสามวันให้หลัง รัฐบาลไทยส่งแรงงานพม่าที่รอดชีวิตกลับประเทศอย่างรวดเร็ว โดยที่พวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสจะตามหาครอบครัวที่พลัดพราก บางส่วนหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า เพราะเอกสารยืนยันตนหายไปพร้อมกับกระแสน้ำ แต่คงปฎิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์สะเทือนขวัญในครั้งนั้น เป็นคลื่นแห่งโอกาสที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่กลุ่มคนชายขอบ ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาถือกำเนิดขึ้นหลังสึนามิเพียงหก เดือน เนื่องจากมีเด็กพม่าจำนวนมากที่กลายเป็นเด็กกำพร้าและไม่ได้เรียนหนังสือ

ฮู จิต ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา เดินทางมายังพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพียงสี่วันหลังเหตุการณ์ และออกตามหาแรงงานพม่าที่กระจัดกระจายอยู่ตามป่าและพื้นที่ต่างๆ เขาเล่าว่า ศูนย์การเรียนรู้เกิดขึ้นหลังการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานพม่าหลายพันคนที่หลงเหลืออยู่ ยุคแรกจะเป็นเด็กผู้ประสบภัยสึนามิ แล้วจึงขยายโอกาสไปสู่ลูกแรงงานที่มาทำงานในประเทศไทย ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการเรียนการสอนสามภาษา ได้แก่ ภาษาพม่า ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ "เด็กที่จบจากศูนย์สามารถศึกษาต่อได้ทั้งโรงเรียนในประเทศไทยและพม่าครับ" เขากล่าว

ปัจจุบันทั้งสามศูนย์ คือที่อำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วทุ่ง มีนักเรียนรวมกันประมาณ 500 คน และมากกว่า 100 คนสามารถเข้าเรียนต่อโรงเรียนไทยได้ นอกจากนี้ เด็กจากศูนย์การเรียนรู้ฯ ยังเป็นล่ามอาสาสมัครให้หน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี เพื่อแปลภาษาให้แรงงานและเจ้าหน้าที่ เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ กรณีแรงงานเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือถูกละเมิดสิทธิ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับหน้าที่อบรมและออกหนังสือรับรองการเป็นล่ามให้

ฮู จิต เล่าว่า การเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ ก่อตัวมาตลอดระยะเวลา 10 ปีนั้น ยังรวมไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้น ในช่วงที่พม่าเปิดประเทศและเดินสู่ถนนสายประชาธิปไตย ที่สุดแล้วในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลพม่าก็ยอมรับว่ามีแรงงานซึ่งเป็นพลเมืองอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก และมีการรับรองสถานะทางบุคคลให้อย่างสมบูรณ์ โดยการประสานความร่วมมือกับทางการไทย ซึ่งเป็นภาพที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งๆที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รัฐบาลพม่ายังปฎิเสธการมีตัวตนของแรงงานเหล่านี้ด้วยซ้ำ

สิ้นสุดบทสนทนาเกือบพลบค่ำ ท้องฟ้าระบายสีส้มทาบบนผิวน้ำ แม้รอบๆบ้านน้ำเค็มจะดูเหมือนร้างผู้คน แต่ริมหาดบริเวณสวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ยังมีชาวบ้านวนเวียนมาพักผ่อนยามเย็นไม่ขาดสาย เด็กๆหยอกล้อกับคลื่นฟองขาวที่มากระทบฝั่งลูกแล้วลูกเล่า ลูกจ้างรีสอร์ตคุยจ้อถึงงานจากระหว่างวัน

เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 ชายหาดเงียบสงบ คลื่นบางเบาพอๆ กับผู้คนที่นอนอาบแดดอยู่ริมหาด เวลาเช้าเช่นนี้ผู้คนจำนวนมากยังคงหลับใหลอยู่บนเตียงนุ่ม แต่จากทุกบทสนทนาที่ผ่านมาทำให้ฉันพบว่า ไม่มีใครเลยที่สามารถลืมโศกนาฏกรรมในวันนั้นได้ "ยังกลัวอยู่ค่ะ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะติดตามข่าวสารเรื่องแผ่นดินไหวตลอด ถ้ามีแผ่นดินไหวในทะเลก็จะรีบออกมาดูระดับน้ำที่หน้าหาด เป็นระบบการเฝ้าระวังกันเองแบบง่ายๆ และทุกปีจะมีการฝึกซ้อมหนีภัย ดีกว่าไม่ทันตั้งตัวค่ะ" งามตา ทองมีสุข เจ้าของร้านอาหารรายหนึ่งริมหาดป่าตอง กล่าว

ระบบเตือนภัยสึนามิตั้งอยู่กลางทะเล ประกอบด้วยฐานเก็บข้อมูลใต้น้ำและทุ่นลอย ฐานเก็บข้อมูลใต้น้ำจะส่งข้อมูลต่างๆ ทั้งระดับความดันของน้ำทะเล แรงสั่นสะเทือนของเปลือกโลก และการเปลี่ยนแปลงของคลื่นทะเล ไปยังทุ่นลอยบนผิวน้ำ ขณะที่ทุ่นลอยบนผิวน้ำจะเก็บข้อมูลต่างๆเพิ่มเติม อาทิ ความเร็วลม อุณหภูมิ และความกดอากาศ แล้วส่งข้อมูลทั้งหมดผ่านดาวเทียมไปยังฐานบนฝั่ง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่เกินสองสามนาที นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อธิบายว่า ระบบเตือนภัยนี้ยังสามารถรับส่งข้อมูลจากประเทศอื่นๆ ในเครือข่ายเฝ้าระวัง ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย เพื่อนำมาประมวลผลก่อนแจ้งเตือนภัยตามลำดับขั้นต่อไป "เมื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดแล้ว เราจึงแจ้งข่าวแก่ประชาชนผ่านทางข้อความสั้น หอกระจายข่าว หอเตือนภัย โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ วิทยุ และช่องทางการสื่อสารอื่นๆ อย่างทั่วถึง เพื่อเตรียมการเคลื่อนย้ายหรืออพยพในแต่ละพื้นที่ครับ"

แปดโมงเช้าบนเกาะพีพีบรรยากาศเงียบสงบ  ผู้คนยังคงหลับใหล   ขณะเดินผ่านสิ่งปลูกสร้างริมอ่าวต้นไทร  ต้นไทรใหญ่ต้นนั้นที่ว่ากันว่าช่วยให้หลายชีวิตรอดตายยังคงแผ่กิ่งก้านย้ำเตือนให้ผู้คนจดจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี วิบูลย์ บุญสบ ชายร่างเล็กวัยสี่สิบต้นๆ  ผู้ตัดสินใจหันหลังให้ความศิวิไลซ์ในต่างแดน  แล้วหวนคืนสู่แผ่นดินเกิดอีกครั้งหลังเหตุการณ์สึนามิเพียงหนึ่งวัน เขาตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นี่ด้วยการสร้างบ้านจากวัสดุเหลือทิ้ง

ทุกเช้า ภาพเขาถือถุงดำเดินเก็บขยะตลอดแนวชายหาดเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับชาวบ้านที่นี่  "หลังเหตุการณ์สึนามิ คนไม่รวมกลุ่มกันเหมือนเมื่อก่อน ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น เมื่อก่อนหาปลาได้ 10 ตัวก็แบ่งกันกินในพี่น้องแล้วค่อยขาย แต่ตอนนี้ได้ปลามา 10 ตัว กับพี่น้องยังขาย สิ่งปลูกสร้างขยายตัวขึ้น นัยหนึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นดาบสองคมหากไม่มีการอนุรักษ์และทำอย่างไม่ถูกหลักครับ” เขาเล่า

“เศรษฐกิจสำหรับคนบนเกาะค่อนข้างแย่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มากับบริษัททัวร์ แบบแพ็กเกจหรือเรือเร็วกันหมด เรือมาจอดเรียงกันเป็นแถว นักท่องเที่ยวแห่ขึ้นเกาะ มาพักทานอาหารกลางวัน มาทิ้งขยะแล้วก็กลับ ฝรั่งที่มาพักยาวเป็นเดือนๆเหมือนเมื่อก่อนไม่มีแล้ว เพราะความวุ่นวายและความแออัดตามจำนวนสิ่งปลูกสร้างและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นครับ" วิบูลย์กล่าวพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ ที่ไม่เคยระเหยไปกับแสงแดด

ฉันเดินลัดเลาะไปตามซอกซอย เลี้ยวเข้าซอยข้างโรงน้ำแข็ง ทางเดินลาดชันขึ้นจนเหนื่อยหอบ นำเราไปยังหมู่บ้านสึนามิ บ้านเหล่านั้นสร้างติดกันอย่างเป็นระเบียบ แบ่งออกเป็นซอยหลายซอย คล้ายบ้านเอื้ออาทร เด็กๆวิ่งเล่นส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวแข่งกับเสียงเครื่องปั่นน้ำผลไม้  ว่ากันว่าหมู่บ้านสึนามิมีทั้งหมด 166 หลังคาเรือน  แต่มีชาวบ้านอาศัยอยู่จริงไม่กี่หลังเท่านั้น

ละออ คลองริ้ว หญิงชาวบ้านวัยกลางคนที่หมู่บ้านสึนามิ เล่าให้ฟังว่า บ้านเดิมของเธออยู่ริมหาด ตรงนั้นใช้ชีวิตสะดวกกว่ามาก เพราะที่ทำมาหากินอยู่ด้านล่าง (เนินเขา) บ้านหลังเดิมสร้างบนที่ดินของทางการ เพียงแต่อาศัยกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่หลังเกิดสึนามิก็โดนเวนคืน “ไม่คิดว่าเขาจะมาปลูกบ้านให้บนที่สูงขนาดนี้ เขาอ้างว่าย้ายขึ้นมาอยู่บนเขาปลอดภัย ให้ขึ้นมาอยู่บนนี้กันหมด แต่ชาวบ้านซึ่งมีพื้นเพเป็นคนเกาะ ย้ายไปอยู่ที่อื่นกันเกือบหมด คนนอกเข้ามาลงทุนมากขึ้น มีพลาซ่ากำลังสร้างใหม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นของคนเกาะเลย เป็นของนายทุนหมดแล้ว"

จากหมู่บ้านสึนามิ มีทางแยกตัดไปยังจุดชมวิว ซึ่งเป็นจุดเดียวที่มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้สวยงามที่สุด และเป็นจุดเดียวกับที่เห็นคลื่นสูงเป็นสิบเมตรโอบเข้าอ่าวโละดาลัม กวาดทุกอย่างที่ขวางหน้าเรียบเป็นหน้ากลองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และยังเป็นจุดเดียวกันในวันนี้ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเกาะ เวิ้งอ่าวด้านล่างแน่นขนัดไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเติบโต  พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่เครื่องจักรยังทำงานด้วยแสงไฟจากหลอดนีออน ชะลูด ขุนเณร หรือนายช่างอ๋อยเข้ามาทำงานก่อสร้างบนเกาะพีพีหลังจากสึนามิผ่านไปหนึ่งปี "ถือว่าเร็วมากครับ หลังสึนามิพื้นที่กลายเป็นลานโล่งไม่เหลือแม้แต่ซาก เมื่อต้องเริ่มต้นใหม่หมด ก็ต้องลงทุนหนักทีเดียว สิ่งที่เปลี่ยนมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการบุกรุก  ที่บนภูเขาครับ" ช่างอ๋อยเล่าให้ฟัง ก่อนขอตัวเดินทางกลับขึ้นฝั่ง และจะกลับมาใหม่ในอีกสองวันข้างหน้า

ข้ามฝั่งมายังเกาะภูเก็ต ดวงตะวันลับหายไปแล้ว แต่ฟ้ายังมีสีแดงเรื่ออยู่ แสงสว่างจากหลอดไฟนีออนหลากสีสะท้อนบนผิวน้ำดูราวกับมีเมืองอีกเมืองอยู่ใต้ผืนน้ำที่วูบไหว หาดป่าตองยังคงคึกคักไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ บ้างหย่อนกายอยู่ริมชายหาด บ้างเดินขวักไขว่ตามถนนเลียบชายหาด  คนขับตุ๊กๆ รับส่งนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเล่าว่า  พื้นที่ตรงนี้ไม่เปลี่ยนไปเท่าไร "ป่าตองฟื้นตัวเร็วครับ ไม่กี่อาทิตย์ ภาพเดิมก็กลับมาแล้ว แถมยังมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติเค้ารู้ดีว่านั่นเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก" เขาเล่าขณะรอผู้โดยสาร

                "ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่ได้ย้ายไปไหนไกลหรอกครับ กลับมาเริ่มทำอาชีพเดิมของตน เพราะถ้าย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกิน"

                ฉันครุ่นคิด "10 ปีที่ผ่านมา สึนามิเป็นผู้สร้างหรือผู้ทำลายกันแน่"


เรื่องโดย นภาวัลย์ สิทธิศักดิ์
ธันวาคม 2557