ผู้เขียน หัวข้อ: กู้วิกฤติท้องทะเล-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1012 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
การจัดตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลจะเป็นทางออกของการพิทักษ์น่านน้ำหลายแห่งของโลกท่ามกลางความขัดแย้งได้จริงหรือ

ณ ชายฝั่งด้านตะวันตกของเมืองเคปทาวน์ใกล้กับจุดเล่นกระดานโต้คลื่นยอดนิยมที่รู้จักกันในชื่อ ดันเจียนส์ (Dungeons) มีเกาะราบต่ำแห่งหนึ่งซึ่งฝูงแมวน้ำยึดครองอยู่

            เกาะนี้อยู่ในเขตหวงห้ามคาร์บอนเคลเบิร์ก (Karbonkelberg Restricted Zone) หรือพื้นที่ “ห้ามทำประมง” อันเป็นส่วนหนึ่งของเขตอนุรักษ์ทางทะเลขนาดใหญ่กว่า ซึ่งรวมถึงแนวชายฝั่งส่วนใหญ่ของเมืองเคปทาวน์ เมื่อมองเผินๆ เราอาจหลงคิดไปว่า ชีวิตในห้วงมหาสมุทรแห่งนี้ช่างราบรื่นและสวยงาม

            แต่เพียงเงยหน้าขึ้นมองเหมือนที่ผมทำ  ภาพที่เห็นคือคนแบกถุงหนักอึ้งเดินแถวไปตามเส้นทางขึ้นเนิน ผมผละจากฝูงแมวน้ำที่ม้วนตัวดำผุดดำว่าย แล้วว่ายตรงไปยังเวิ้งหาดเล็กๆ ก่อนจะเดินขึ้นหาดที่มีเปลือกหอยเป๋าฮื้อตกอยู่เกลื่อนกลาด ผมปีนขึ้นไปบนโขดหินเรียบๆที่เพียงไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้เพิ่งใช้เป็น “โรงฆ่าสัตว์” นี่คือจุดที่คนเหล่านั้นแกะเนื้อหอยใส่ถุง

            สูงขึ้นไปจากเวิ้งทะเล เส้นทางซิกแซ็กสูงชันตัดข้ามสันเขาไปยังเขตแฮงเบิร์ก ตลอดเส้นทางสายที่เรียกกันว่า “ถนนนักล่า” นี้ หอยเป๋าฮื้อหรือในภาษาแอฟริคานคือ แพร์เลอมุน ผิดกฎหมายปีละหลายร้อยตันถูกลำเลียงออกไปสู่โลกภายนอก เนื้อหอยจะเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของพ่อค้าคนกลางและโรงงานแปรรูป เพื่อส่งไปยังฮ่องกงและตลาดอื่นๆในเอเชีย

            ในแอฟริกาใต้ หอยเป๋าฮื้อไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แห่งความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมาย การจัดการด้านการประมง และการทำสัญญาประชาคม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างยั่งยืน แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของโศกนาฏกรรมทางทะเลที่กว้างกว่านั้น ปลาชายฝั่ง (inshore fish) ที่อนุญาตให้จับเพื่อการค้าและนันทนาการในแอฟริกาใต้ (ซึ่งเรียกว่าปลาเบ็ด หรือ linefish เนื่องจากใช้เบ็ดตกเป็นหลัก) หมดไปหนึ่งในสามแล้ว จนเมื่อปี 2000 รัฐบาลประกาศถึงกับต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อลดจำนวนใบอนุญาตตกปลาเชิงพาณิชย์ลง  กระนั้น ประชากรปลาหลายชนิดก็ลดลงจนน่าเป็นห่วง  มีการห้ามจับปลาเบ็ดชนิดสำคัญๆ 40 ชนิดเพื่อการค้า

            ในประเทศที่ผู้คนชื่นชอบการกินปลาและคลั่งไคล้การจับปลาอย่างแอฟริกาใต้ การจับปลาได้น้อยลงและการสูญสิ้นชนิดพันธุ์ปลานั้นช่างน่าปวดร้าว แต่หากเกิดวิกฤติกับปลาก็ย่อมหมายถึงวิกฤติของการจับปลาด้วย ชุมชนที่ยังชีพด้วยการทำประมงครึ่งหนึ่งของแอฟริกาใต้ประสบความไม่มั่นคงทางอาหาร เพราะสิ่งที่เปรียบได้กับรากฐานของวิถีชีวิตพวกเขาอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง กระนั้นในปี 1994 เมื่อเนลสัน แมนเดลา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ พรรคคองเกรสแห่งชาติแอฟริกาหรือเอเอ็นซี (African National Congress party: ANC) ของเขาก็มองว่า ปลาคือเครื่องหมายแสดงความเท่าเทียมทางสังคมและเป็นสิ่งชูใจคนยาก

            ในระยะแรก การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีแนวโน้มไปในทางที่ดี “ปัจเจกชนผู้ด้อยโอกาสในประวัติศาสตร์” หลายพันคน ทั้งผิวดำและผิวสีได้สิทธิในการจับปลา และพอถึงปี 2004 คนกลุ่มนี้ก็ถือโควตาการจับปลาเชิงพาณิชย์กว่าร้อยละ 60 เทียบกับสัดส่วนไม่ถึงร้อยละหนึ่งเมื่อสิบปีก่อนหน้า

            แต่ก็เป็นอย่างที่วิกฤติปลาเบ็ดเผยให้เห็น รัฐบาลแอฟริกาใต้เชื้อเชิญแขกร่วมโต๊ะบุฟเฟต์มากเกินปริมาณอาหารที่มี ซ้ำร้ายยังขีดฆ่าชาวประมงกลุ่มหนึ่งออกจากรายชื่อแขก นโยบายประมงใหม่ๆครอบคลุมทั้งกิจการประมงเพื่อการค้า นันทนาการ และชาวประมงที่จับปลาเพื่อยังชีพหรือบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น แต่กลับไม่รวมกลุ่มประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงรายย่อย ซึ่งไม่ได้จับปลาเพื่อยังชีพอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้จับปลาเพื่อการค้าเต็มตัวเช่นกัน ประเด็นสำคัญคือคนกลุ่มหลังนี้คิดว่าพวกตนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนประมง พวกเขาต้องการสิทธิการใช้ประโยชน์หรือการเข้าถึงทรัพยากรร่วมกัน แต่กลับถูกกันให้อยู่วงนอกด้วยระบบโควตาที่แบ่งสันปันส่วนตามแนวคิดความเป็นเจ้าของแบบเอกชน

            สำหรับชาวประมงรายย่อยเหล่านี้ การถูกกีดกันจากกระบวนการจัดสรรทรัพยากรทำให้หวนนึกถึงความเจ็บปวดของนโยบายถือผิวในอดีต และยังตอกย้ำด้วยที่มาของความแปลกแยกอย่างใหม่ นั่นคือเขตอนุรักษ์ทางทะเล (Marine Protected Areas: MPAs) หรือพื้นที่ส่วนน้อยกระจัดกระจายตามแนวชายฝั่งและก้นสมุทรซึ่งกันไว้ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมดจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์

            ความเปลี่ยนแปลงกำลังตั้งเค้า ชุมชนต่างๆเริ่มร้องเรียนว่า เขตห้ามทำประมงละเมิดสิทธิการเข้าถึงแหล่งอาหารตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ไม่เพียงเริ่มเป็นที่ยอมรับทางกฎหมายและมีน้ำหนักทางการเมือง แต่ยังเริ่มมีแรงกดดันให้ทบทวนการกำหนดเขตอนุรักษ์ทางทะเล และเปิดพื้นที่ห้ามทำประมงให้จับปลาได้

            ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลทั้งเร่งเร้าและอ้อนวอนรัฐบาลแอฟริกาใต้ไม่ให้โอนอ่อนผ่อนตาม โดยอ้างว่าหากเปิดเขตอนุรักษ์ทางทะเลเขตหนึ่งจะทำให้ที่เหลือล้มไม่เป็นท่า อานิสงส์ที่เกิดจากการพัฒนาการประมงและการอนุรักษ์ตลอดห้าสิบปีจะสูญสิ้นไปภายในเวลาไม่กี่เดือน

            บรูซ แมนน์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลผู้ทำงานวิจัยที่ชักนำให้เกิดเขตอนุรักษ์ทางทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ชื่อ พอนโดแลนด์ (Pondoland) อธิบายให้ผมฟังว่า  “เขตอนุรักษ์ทางทะเลทำงานเหมือนกับบัญชีธนาคารครับ  คุณนำเงินมาลงทุนและมั่นใจได้ว่า เงินต้นไม่มีวันหาย แต่คุณยังจะได้ดอกเบี้ยด้วย ซึ่งก็คือสัตว์ทะเลที่ทะลักออกมานอกเขตให้เราได้จับกินนั่นเอง”

            ผมขับรถระยะทาง 130 กิโลเมตรจากเคปทาวน์ขึ้นเหนือไปยังลังเกบาอัน ลากูนหรือทะเลสาบน้ำเค็มคดเคี้ยวบนชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกาใต้ ผมไปร่วมวงกับชาวประมงที่บ้านของโซลีน สมิท ผู้นำชุมชน  คนหนึ่งในนั้นกำลังจะถูกดำเนินคดีข้อหาจับปลาในเขตหวงห้าม เป็นไปได้ว่าเขาอาจถูกยึดเรือกับอุปกรณ์จับปลา แต่นั่นจะไม่ทำให้ชาวประมงเลิกบุกรุกเขตหวงห้าม พวกเขาไม่ยอมรับความชอบธรรมของการแบ่งเขต และโต้แย้งการประเมินจำนวนปลาของรัฐบาลจากมุมมองของคนกลุ่มนี้ พวกเขาไม่ได้ปล้นธนาคาร แต่กำลังใช้สิทธิพึงมีพึงได้ของตน

            ผมถามว่า เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทางทะเลได้คุยกับพวกเขาเรื่องการแบ่งเขตหรือการจัดการลากูนเพื่อประโยชน์สูงสุดบ้างหรือไม่ “นอยต์!” พวกเขาตอบ “ไม่เคยเลย!”

            ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันช่วยสร้างความฮึกเหิมให้ชาวประมงรายย่อย และชัยชนะทางกฎหมายหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ก็ทำให้ข้อเรียกร้องของพวกเขามีน้ำหนักมากขึ้น ที่ผ่านมา ศาลตัดสินโดยรับรองสิทธิตามจารีตประเพณีของชุมชนประมงดั้งเดิม และขอให้รัฐบาลแก้กฎหมายประมงเพื่อเอื้อให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลได้

            นี่คือความจริงสำหรับทั้งนักวิทยาศาสตร์และชาวประมง  นักวิทยาศาสตร์รู้สึกแย่เมื่อคิดว่าต้องเปิดเขตอนุรักษ์ทางทะเล   ขณะที่ชาวประมงรู้สึกแย่ที่เขตอนุรักษ์ทางทะเลเหล่านั้นไม่ยอมเปิด  การบริหารจัดการการประมงร่วมกันของทางการองค์กรอนุรักษ์ และชุมชนจะสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องระบบนิเวศกับความยุติธรรมทางสังคมได้หรือไม่ นโยบายประมงรายย่อยที่รัฐบาลประกาศใช้เมื่อปี 2012 อ้างว่าเป็นการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ไปสู่ทิศทางดังกล่าว นโยบายนี้จะให้สิทธิชุมชนที่ชาวประมงรายย่อยเรียกร้อง  พร้อมกับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเล แต่นั่นจะแก้ปัญหาการมีคนจับปลามากเกินไป ขณะที่มีปลาให้จับน้อยเกินไปได้หรือ


เรื่องโดย เคนเนดี วอร์น
ธันวาคม 2557