ผู้เขียน หัวข้อ: เป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  (อ่าน 1689 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
โดยทั่วไปการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล ประเด็นที่จะต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพคือการป้องกันความเสี่ยงไม่ว่าในด้านใดๆก็ตามได้แก่ สิ่งแวดล้อม การป้องกันอัคคีภัย ที่สำคัญคือความปลอดภัยของผู้ป่วย การจะสร้างให้มีความปลอดภัยเกิดขึ้นได้ กลไกที่สำคัญประการหนึ่งคือการค้นหาความเสี่ยง เมื่อพบความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆก็ตามอาทิเช่น การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จนทำให้ผลการรักษาไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการ หรือเสียชีวิต จะมีการวิเคราะห์ หาสาเหตุ แนวทางแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อน และที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงซ้ำหรือให้เกิดลดลง

                จากการที่มีการอ้างรายงานการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาความเสี่ยงด้านการรักษาว่าเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการรักษาในแต่ละปีมีเป็นจำนวนมากแม้ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เชื่อว่ามีมาตรฐานการรักษาที่ดี(โดยที่การศึกษานี้ มุ่งหวังที่จะหาทางป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆของกระบวนการให้การรักษา) มีการอนุมานว่าหากคิดคำนวณแล้วทั้งประเทศจะมีกรณีที่ทำให้พิการหรือเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของการรักษาเป็นจำนวนมาก และเกิดจากเหตุที่สามารถป้องกันได้ นำไปเป็นข้ออ้างของการที่จะมีกฎหมายเพื่อให้มีการชดเชยแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษา ซึ่งตามกระบวนการก็จะต้องมีการสอบสวนแพทย์และบุคคลากร ว่ากระทำผิดจากมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การฟ้องร้องทางศาลต่อไป แม้จะมีการอ้างว่าการมีกฎหมายนี้เมื่อผู้ป่วยได้รับการเยียวยาแล้วจะไม่นำไปสู่การฟ้องร้องต่อไป แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นตรงกันข้าม เห็นได้จากการที่มีการให้ค่าเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลายกรณีเมื่อได้เงินแล้วกลับเป็นการเข้าใจว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น จึงกลับเป็นการส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องมากขึ้น ดังนั้นผลของกฎหมายที่น่ากลัวคือการที่แพทย์จะต้องระมัดระวังไม่ให้การรักษาที่คาดว่าจะได้ผลไม่ดี กรณีที่ไม่เร่งด่วนในที่ไม่มีความพร้อม แพทย์จะไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำการรักษา ผลที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการส่งต่อมากขึ้น เกิดความแออัดมากขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์ ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า ซึ่งยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อผู้ป่วยมากขึ้น ดังนั้นกฎหมายดังกล่าวน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 80 (2) ที่กำหนดว่ารัฐจะต้องจัดให้มีการบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะกฎหมายนี้จะทำให้ขัดขวางการเข้าถึงบริการของประชาชนดังกล่าว

                แนวทางที่ถูกต้องคือบุคคลากรทางสาธารณสุขควรได้รับความคุ้มครองในการทำงานแม้จะ ได้รับความคุ้มครองในกรณีการฟ้องร้องทางแพ่งแต่ในทางอาญากลับไม่มีการคุ้มครอง ทั้งยังถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลากรที่ถูกฟ้องต้องสู้คดีเอง ทั้งๆที่การรักษานั้นเป็นที่ทราบดีว่าไม่มีความแน่นอนแม้ให้การรักษาโดยวิธีเดียวกันโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคนเดียวกันแต่ผู้ป่วยต่างกัน ผลของการรักษาแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คนที่ได้รับผลการรักษาที่ไม่ดี เกิดความไม่พอใจจึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องได้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าหากจะสร้างความปลอดภัยต่อผู้ป่วย จะต้องไม่มีกฎหมายในลักษณะที่จะมาขัดขวางการที่ผู้ป่วยจะเข้าถึงบริการที่ดี และมีกฎหมายที่คุ้มครองการทำงานของบุคคลากรที่ไม่ได้จงใจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสียหาย นอกจากนี้รัฐควรจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอมากกว่าที่จะเชิญชวนให้มีการหาประโยชน์จากความเสียหายของผู้ป่วย หรือผู้ควบคุมงบประมาณมีความจงใจที่จะให้เกิดเช่นนี้เพื่อจะได้ประหยัดงบประมาณการรักษาโดยการขัดขวางการเข้าถึงบริการของประชาชนทางอ้อม

                                                                                     ด้วยความปรารถนาดีจาก

                                                                                นายแพทย์สุกิจ  ทัศนสุนทรวงศ์

                                                                                   ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา