ผู้เขียน หัวข้อ: “ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์” อดีตถึงปัจจุบัน ปัญหาที่แก้ไม่ตก  (อ่าน 3345 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
การแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาจะถูกเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตเพิ่ม ทั้งแพทย์ พยาบาล และสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน แต่จนถึงปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและห่างไกล เรียกได้ว่า เป็นปัญหาด้านการขาดแคลน การกระจายตัว และการแก้ไขปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

สำนักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ซึ่งได้สะท้อนความเห็นว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นสามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ การขาดแคลนที่เกิดจากจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ และการขาดแคลนที่มาจากปัญหาการกระจายตัวของวิชาชีพ ซึ่งปัญหาการขาดแคลนเหล่านี้ไม่สามารถมองและแก้ไขปัญหาแบบภาพรวมได้ทั้งหมด เพราะเแต่ละวิชาชีพมีปัญหาขาดแคลนที่ไม่เท่ากันและยังแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกัน กับการจะกำหนดว่า บุคลากรทางการแพทย์เท่าไหร่จึงจะเพียพอและพอดีนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศนั้น รวมถึงระดับมาตรฐาน โดยแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน มีการจัดระบบบริการการแพทย์ที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย

เริ่มต้นกันที่ปัญหาขาดแคลนวิชาชีพแพทย์กันก่อน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบจำนวนแพทย์ต่อประชากร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับเศรษฐกิจเดียวกัน พบว่าบ้านเรายังมีแพทย์ต่อจำนวนประชากรน้อยมาก แม้แต่เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยมีแพทย์พอเพียงต่อประชารในระดับที่น้อย เกือบอยู่สุดท้ายของการจัดอันดับ แม้แต่พม่าและเวียดนามยังมีแพทย์ต่อประชากรที่มากกว่าไทย ชี้ให้เห็นว่าจำนวนแพทย์ของไทยยังเป็นปัญหา ซึ่งปัจจุบันเรายังคงมีแพทย์ประจำในระดับอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เท่านั้น ขณะที่บางประเทศมีแพทย์ประจำลงถึงระดับตำบลหรือหมู่บ้าน

แต่ปัญหาขาดแคลนแพทย์ที่เกิดขึ้นนี้ กลับไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบบริการและคุณภาพการรักษามากนั้น เพราะจากงานศึกษาวิจัยพบว่า เรามีการใช้วิชาชีพพยาบาลปฏิบัติงานแทนแพทย์ในบางโอกาส เนื่องจากเรามีอัตราแพทย์ต่อพยาบาลจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อัตราแพทย์ต่อพยาบาลมักมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยมีการใช้พยาบาลในการทำหน้าที่แทนแพทย์ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนเบื้องต้น เรียกว่าเป็นกลไกทดแทน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และใน รพช. โดยเฉพาะ รพ.ที่มีแพทย์ประจำเพียงคนเดียว เรียกว่าเป็นการจัดระบบทดแทนที่ดีและมีประสิทธิภาพ 

ถึงแม้กระนั้น ปัญหาแพทย์ไม่เพียงพอยังคงมีอยู่  นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ ที่ผ่านมาเราได้ใช้ระบบการใช้ทุนเป็นหลัก เนื่องจากในการเรียนเป็นแพทย์จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐส่วนหนึ่ง จึงต้องมีการทำงานเพื่อใช้ทุนทดแทน ด้วยเหตุนี้จึงมีการส่งแพทย์จบใหม่ไปทำงานใช้ทุนเพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ แต่ปัญหาขาดแคลนแพทย์ยังคงมีอยู่ เนื่องจากภายหลังจากที่แพทย์จบใหม่เหล่านี้ใช้ทุนครบ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เลือกที่จะลาออกหรือขอย้าย โดยจะยังคงมีแพทย์ที่ยังคงอยู่ในระบบและพื้นที่เพียงแค่ร้อยละ 20-30 ของแพทย์ที่จบในรุ่นนั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาจึงมีคำถามที่ว่าระยะเวลาการใช้ทุนเรียนแพทย์ 3 ปีนั้นเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากมีคนจำนวนหนึ่งมองว่า แพทย์ถือเป็นวิชาชีพพิเศษที่ต้องทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะเป็นวิชาชีพที่ได้ประโยชน์จากชีวิตคนในการเรียนและศึกษา จึงต้องคิดและทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการเพิ่มจำนวนเงินการชดใช้ทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราคงที่และกำหนดมานานนับสิบๆ ปี แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ

“ที่ผ่านมา สธ.เองมีความพยายามแก้ปัญหาการลาออกของแพทย์ แต่แนวคิดบรรจุตำแหน่งข้าราชการโดยเชื่อว่าจะทำให้แพทย์คงอยู่ในระบบได้นานนั้น เห็นว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะแพทย์รุ่นหลังๆ ไม่ได้สนใจกับตำแหน่งข้าราชการแล้ว แต่ให้น้ำหนักงานที่ท้าทายและจำนวนรายได้เป็นหลัก ดังนั้นการบรรจุแพทย์เป็นข้าราชการจึงไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้อยู่ในระบบ ส่วนการจูงใจด้วยเพิ่มค่าตอบแทนนั้น วิธีนี้พอมีผลอยู่บ้าง แต่ต้องเป็นการเพิ่มค่าตอบแทนในปีที่เป็นจุดหักเหคือ ปีที่ 4 หลังการใช้ทุนครบ 3 ปี เพราะเป็นช่วงที่แพทย์ตัดสินใจว่าจะคงทำงานอยู่ในระบบหรือเลือกที่ลาออกเพื่อไปทำงานยังเอกชน แต่ที่ผ่านมาทางชมรมแพทย์ชนบทเสนอให้เพิ่มค่าตอบแทนกับแพทย์ที่ทำงานครบ 10 ปี เป็นการเพิ่มค่าตอบแทนในปีที่ 10 ซึ่งจะไม่มีผลอะไร เพราะแพทย์ที่ทำงาน 10 ปี ย่อมมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในระบบต่อไปอยู่แล้ว” อดีต ผอ.สวรส. กล่าว

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังต้องเปิดโอกาสให้แพทย์ที่ทำงานในชนบทสามารถเรียนต่อเพิ่มเติมเพื่อสอบใบอนุมัติและวุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทางได้ แบบทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยได้ หรือเปิดอบรมระยะเวลาสั้นๆ อย่าง แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นการเพิ่มโอกาสให้แพทย์ที่ทำงานในชนบทมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง   

ส่วนการกระจายตัวของแพทย์ในแต่ละสาขาเชี่ยวชาญนั้น นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า  เราพบว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา อาทิ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ และสูตินรีแพทย์ เป็นต้น ไม่ได้มีจำนวนตามความจำเป็น และปัจจุบันมีกระแสแพทย์ที่เทไปเรียนสาขาโรคผิวหนังกันมาก แม้แต่แพทย์ที่เรียนเฉพาะทางสาขาอื่นยังเลือกอบรบเป็นแพทย์ผิวหนังเพิ่มเติม เพื่อหันมารักษาตามคลินิกเสริมความงามแทน ส่งผลให้แพทย์เชี่ยวชาญด้านสาขาอื่นๆ ลดลง โดยเฉพาะแพทย์ศัลยกรรมที่เป็นสาขาขาดแคลน ด้วยสาเหตุนี้จึงส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบเพิ่มมากขึ้นไปอีก กลายเป็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาเช่นกัน

“ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาวิจัยถึงจำนวนแพทย์แต่ละสาขา โดยพิจารณาจากความต้องการในการรักษาและจำนวนแพทย์แต่ละสาขาที่มีอยู่ในระบบ ปรากฎว่าแพทย์ศัลยกรรมเป็นสาขาที่ขาดแคลนมากที่สุด ขณะที่กุมารแพทย์ และสูตินรีแพทย์เริ่มเพียงพอแล้ว เพราะอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง โดยข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้ทางแพทยสภาผลิตแพทย์ในสาขาขาดแคลนให้เพียงพอ ลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

Wed, 2014-06-04
http://www.hfocus.org/content/2014/06/7340

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปัญหากำลังคนสุขภาพ และคำถามถึง ‘อนาคตรพ.สังกัดสธ.’
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2014, 11:56:27 »
คุยกับนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข อดีตผอ.สวรส.ต่อ ฉายภาพปัญหาขาดแคลนและการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพของไทยแล้ว ยังส่งผลถึงปัญหาการทับซ้อนจากการที่บางวิชาชีพต้องมาทำหน้าที่แทน เช่น พยาบาลทำหน้าที่แทนหมอในบางกรณี หรือพยาบาลเทคนิคทำหน้าที่แทนพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก ขณะเดียวกันวิธีการจัดการที่สธ.ใช้ ทั้งการบรรจุขรก. หรือออกนอกก.พ.นั้น ก็อาจยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงกับโจทย์ แท้จริงคำถามสำคัญของเรื่องนี้อาจจะเป็นว่า เรากำลังมองอนาคตของรพ.สังกัดสธ.อย่างไร เมื่อได้ภาพอนาคต การแก้ปัญหากำลังคนสุขภาพก็อาจจะทำได้ตรงกับโจทย์ที่แท้จริงมากขึ้น

นอกจากวิชาชีพ “แพทย์” ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแล้ว นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  กล่าวว่า “พยาบาล” เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพทางการแพทย์ของบ้านเราที่ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนเช่นกัน แม้ว่าที่มีผ่านมาจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตจำนวนมาก แต่ด้วยเป็นวิชาชีพที่มีอายุงานสั้น จากลักษณะของงานที่ต้องดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ชีวิตการทำงานต้องสลับเวรเช้า บ่าย และค่ำ กลายเป็นข้อจำกัดไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ประกอบกับภาระงานที่ค่อนข้างมาก ทำให้พยาบาลที่ทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง ส่วนหนึ่งจึงเลือกที่จะลาออกไปทำงานอื่นแทน และบางส่วนเลือกที่จะไปทำงานในสถานพยาบาลเอกชน และต่างประเทศ ด้วยเหตุผลภาระงานและค่าตอบแทนที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ปัจจุบันมีพยาบาลที่ทำงานอยู่ในระบบ 100,000-150,000 คน โดยยังคงขาดแคลน 20,000-30,000 คน

ทั้งนี้ นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว การไม่ได้รับบรรจุตำแหน่งข้าราชการเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อการลาออกของพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มพยาบาลที่เป็นนักเรียนทุน เห็นได้จากการเรียกร้องบรรจุตำแหน่งข้าราชการที่มีพยาบาลเป็นวิชาชีพหลักในการออกมาเคลื่อนไหว จนกระทั้งรัฐบาลได้อนุมัติบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้กระทรวงสาธารณสุขกว่า 24,000 ตำแหน่ง โดยมีการบรรจุไปแล้ว 7,500 ตำแหน่ง เหลือที่ยังรอการบรรจุต่อเนื่องอีก 2 ปี 

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า “ทันตแพทย์” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างวิชาชีพในระบบสาธารณสุขที่ยังขาดแคลนเช่นกัน ซ้ำมีปัญหาขาดแคลนมากกว่าแพทย์มาก ซึ่งทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในภาคเอกชน หรือเปิดคลินิกเอง แต่ด้วยโรคทันตกรรมแม้ว่าผู้ป่วยจะทุกข์ทรมาน แต่ไม่ได้เป็นโรคที่เจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิต ในการแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มทันตแพทย์ในระบบจึงถูกจัดอันดับให้ความสำคัญน้อยกว่าแพทย์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ถูกทดแทนด้วยการฝึกและอบรมบุคคลากรขึ้นมาทำงานแทนในฐานะผู้ช่วย ไม่ว่าจะเป็นวิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยา ที่มีพยาบาลถูกฝึกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนในการให้ยาสลบผู้ป่วย ทำให้แพทย์โรงพยาบาลชุมชนสามารถทำการผ่าตัดผู้ป่วยได้ รวมไปถึงการฝึกพยาบาลทำคลอด เช่นเดียวกับการอบรมทันตภิบาลเพื่อทำหน้าที่แทนทันตแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน หรือแม้แต่การฝึกพยาบาลเทคนิคเพื่อทำงานแทนพยาบาลวิชาชีพ

แต่ด้วยภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านเรียกร้องคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพมากขึ้น ซึ่งแม้แต่สภาวิชาชีพเองในระยะหลังมานี้ที่เริ่มมีจำนวนบุคลากรในวิชาชีพเพิ่มขึ้น (แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการในระบบ) ต่างลุกขึ้นมากำหนดมาตรฐานที่เป็นการจำกัดเฉพาะคนในวิชาชีพทำเท่านั้น

“เรามีตำแหน่งผู้ช่วย อดีตจนถึงปัจจุบัน ตำแหน่งผู้ช่วยเหล่านี้ได้มีบทบาทต่องานสาธารณสุขอย่างมากในทางพฤตินัย แต่ในระยะหลังๆ มานี้ ด้วยจำนวนบุคลากรแต่ละวิชาชีพมากขึ้น ผู้ช่วยทางการแพทย์และสาธารณสุขเหล่านี้จึงถูกลดทอนความสำคัญลง ทั้งที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยทั้งระบบ ดังนั้นเราจะให้มีการยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยวิชาชีพเหล่านี้หรือไม่ ตามที่มีการเรียกร้อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและคุณภาพบริการ หรือจะยังคงตำแหน่งผู้ช่วยวิชาชีพไว้ก่อน แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับการรักษาที่เป็นมาตรฐานรองลงมา เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง” อดีตผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวและว่า ดังนั้นเบื้องต้นจึงต้องกำหนดให้ได้ว่า อะไรคือความเพียงพอด้านบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย 

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ ยังได้เล่าย้อนกลับไปเมื่อสมัยยังเป็น ผอ.สวรส.ว่า ขณะนั้นได้มีการประชุมผู้แทนวิชาชีพเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า เราไม่ต้องมานั่งพูดถึงการกระจายแพทย์กัน หากใน กทม.ยังไม่มีแพทย์เพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่า เป็นความเห็นในมุมมองความเพียงพอของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีแพทย์มากพอ แต่ประเทศไทยอยู่ในระดับประเทศกำลังพัฒนา บุคลากรยังขาดแคลนอยู่มาก ดังนั้นแนวคิดความพอเพียงสำหรับประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าต้องเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข กระจายเพื่อให้คนในประเทศได้เข้าถึงการรักษาได้ เพราะหากการรักษาผู้ป่วยทุกรายต้องเป็นเลิศ ผ่าตัดทุกรายต้องใช้วิสัญญีแพทย์ ทำคลอดทุกรายต้องเป็นสูตินรีแพทย์ คงเป็นเรื่องใหญ่แน่ นั่งหมายความว่าผู้ป่วยทุกรายจะต้องเทเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ทั้งหมด

“ขณะนี้ในระบบรักษาพยาบาล ทางพฤตินัยเรายังให้พยาบาลรักษาผู้ป่วยแทนแพทย์ได้ในบางครั้ง จ่ายยาได้ แต่ในด้านมาตรฐานเราจำกัดให้แต่เฉพาะแพทย์เท่านั้นที่ทำหน้าที่เหล่านี้ ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของพยาบาล ซึ่งในวิชาชีพอื่นๆ เช่นกัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาว่า ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือความผิดพลาดในการรักษาขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากการทำงานของผู้ช่วยเหล่านี้ไม่มีกฎหมายในการรองรับ กลายเป็นปัญหาโลกแตก”

กลับมาที่การบรรจุตำแหน่งข้าราชการ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า ตำแหน่งข้าราชยังมีความสำคัญต่อวิชาชีพอื่นๆ ในระบบสาธารณสุขอยู่มาก ยกเว้นวิชาชีพแพทย์ เนื่องจากมีเรื่องสิทธิประโยชน์จากสวัสดิการข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจากการทำวิจัยพบว่า ค่าตอบแทนของข้าราชการเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเอกชน โดยดูตลอดช่วงชีวิตการทำงาน พบว่า ข้าราชการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าในรูปสวัสดิการต่างๆ ต่างจากเอกชน จึงเป็นเหตุให้มีการดึงคนไว้ในระบบได้ รวมทั้งมีการเรียกร้องบรรจุตำแหน่งข้าราชการอย่างต่อเนื่อง

แต่ในด้านการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขนั้น นพ.พงษ์พิสุทธิ์ มองว่า ที่ผ่านม สธ.ได้มีการขอตำแหน่งบรรจุข้าราชการเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ต้องการตัวเลขบรรจุที่ชัดเจน ซึ่งการที่ สธ. จะบอกได้ว่าต้องการตำแหน่งบรรจุเท่าไหร่จึงจะเพียงพอนั้น เรื่องนี้มองว่า ก่อนอื่น สธ.ต้องกำหนดว่า จะให้สถานะโรงพยาบาลสังกัด สธ. เป็นหน่วยงานอะไรในอนาคต ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกระจายอำนาจยังอยู่ และแนวโน้มจะต้องไปสู่ “โรงพยาบาลในกำกับของรัฐ” ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ตำแหน่งข้าราชการอาจไม่ใช่ทางออก เพราะต้องเปลี่ยนไปสู่พนักงานของรัฐ ดังนั้นสถานะในอนาคตของโรงพยาบาลสังกัด สธ.จึงต้องมีความชัดเจนก่อน

ส่วนข้อเสนอที่ให้แยก สธ.ออจาก ก.พ.นั้น มองว่าข้อเสนอนี้ก็เพื่อให้ สธ.สามารถกำหนดกำลังคนรวมถึงการตั้งอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนได้เอง  แต่ปัญหาคือจะเอางบประมาณมาจากไหนเพื่อนำมาเพิ่มเงินเดือนและค่าตอบแทนนี้ ซึ่งหากนำมาจากงบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชน งบเงินเดือนและค่าตอบแทนก็จะบานปลายออกไป อย่างไรก็ตามในการเพิ่มอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนนี้ ก่อนอื่นควรจะต้องตอบคำถามในเรื่องประสิทธิภาพด้วย เพราะอย่างกรณีของโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่แยกเป็นองค์กรมหาชน บริหารอิสระ พบว่าสัดส่วนเงินเดือนที่จ่ายไปนั้น ไม่ต่างจากโรงพยาบาลในสังกัด สธ.

อดีต ผอ.สวรส. กล่าวปิดท้ายโดยย้ำว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขนั้น ด้วยเป็นหน่วยงานที่มีความหลากหลายของวิชาชีพ ในการแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้มิติที่หลากหลาย ประกอบกับความชัดเจนไม่ว่าจะเป็นบทบาทของวิชาชีพ ขอบเขตผู้ช่วยปฏิบัติงาน รวมไปถึงความชัดเจนของ สธ.ถึงสถานะในอนาคตของโรงพยาบาลในสังกัด สิ่งเหล่านี้จะช่วยในการกำหนดทิศทางเพื่อแก้ไขปัญหาได้


Sat, 2014-06-07
http://www.hfocus.org/content/2014/06/7361

Osavasung

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
ได้ประโยชน์มากครับผม

Yayasnipersa

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
แก้คนเดียวไม่ได้หรอกครับต้องแก้ให้ถูกจุดและเป้นระบบครับ