ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.ลั่น 12 ปี ช่วยกว่า 1 แสนครัวเรือน ไม่ล้มละลายจากค่ารักษา ตั้งเป้าปีที่ 13  (อ่าน 567 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สปสช. ก้าวสู่ปีที่ 13 มุ่งพัฒนา “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เน้นประสานความร่วมมือผู้ให้บริการและทุกภาคส่วน ช่วยให้ประชาชนเข้าการรักษาอย่างทั่วถึงและครอบคุลมยิ่งขึ้น เผยผลสำเร็จที่ผ่านมาเกิดจากการมีส่วนร่วมและความเสียสละของผู้ให้บริการ พร้อมเตรียมรุกงานปี 58

        นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นี้ เป็น “วันครบรอบการสถาปนา สปสช. ปีที่ 12” และจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 ซึ่ง สปสช. เป็นองค์กรของรัฐที่ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 โดยมีพันธกิจสำคัญคือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทย ช่วยคุ้มครองสิทธิคนไทย 48 ล้านคน ให้ได้รับการดูแลตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เน้นบนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการรักษาพยาบาล ที่บริหารโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
       
       นพ.วินัย กล่าวว่า ตลอดการดำเนินงาน สปสช. ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกโรค รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง โดยสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. ดำเนินการ ได้แก่ การบำบัดรักษามะเร็ง การให้ยาต้านไวรัสเอดส์, ผ่าตาต้อกระจก, ผ่าตัดสมอง, ผ่าตัดหัวใจ, ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม และการบริการล้างไต รวมถึงการเข้าถึงยาที่จำเป็นที่มีราคาแพง นอกจากนี้ ยังเดินหน้างานบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อาทิ การส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ การตรวจคัดกรองความเสี่ยงเด็กแรกเกิด และการให้วัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นต้น รวมไปถึงการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้ป่วย ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ตลอดจนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนากองทุนสุขภาพตำบลและกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชน
       
       ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ไม่แต่ทำให้คนไทยกว่าร้อยละ 99 มีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับและเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คนไทยกว่า 1 แสนครัวเรือน ไม่ต้องล้มละลายจากภาระค่ารักษาพยาบาล ซึ่งผลการสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากค่ารักษาพยาบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยก่อนมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีครัวเรือนที่ยากจนจากภาระค่ารักษาถึง 120,100 ครัวเรือน แต่ในปี 2552 ลดลงอยู่ที่ 39,750 ครัวเรือน
       
       “ผลสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทางผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมไปถึงบุคลากรที่ทำงานในหน่วยบริการทุกระดับทั้ง ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ตติยภูมิ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ได้เสียสละและร่วมกันพัฒนาจนทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยได้รับการชื่นชมและยอมรับจากทั่วโลก ทั้งองค์การยูเนสโก (UNESCO), องค์การอนามัยโลก (WHO) และธนาคารโลก (WORLD BANK) ยกให้ไทยเป็นต้นแบบประเทศกำลังพัฒนาในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพภาย” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 ของ สปสช. ยังคงมุ่งมันพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต่อเนื่อง โดยจะยังคงเน้นให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญจะบรรลุผลสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีการพัฒนาและประสานการดำเนินงานร่วมกัน
       
       นพ.วินัย กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานในปี 2558 นี้ สปสช. ได้วางนโยบายดำเนินงานต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะเน้นหนักในปีหน้า การประสานส่งต่อผู้ป่วย การเข้าถึงยาที่จำเป็นแม้จะมีราคาแพง การบริการการแพทย์แผนไทย และการร่วมพัฒนาระบบดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพรวมไปถึงการพัฒนาระบบบริการในภาวะฉุกเฉินเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลในภาวะวิกฤต

ASTVผู้จัดการออนไลน์    19 พฤศจิกายน 2557