ผู้เขียน หัวข้อ: มหากาพย์ผลประโยชน์ “ศูนย์การแพทย์ มวล.” กับความสูญเสียของสังคม  (อ่าน 829 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
กว่า 6 เดือนแล้วที่ “ศูนย์การแพทย์” ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เป็นข่าวที่ถูกติดตามมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กระแสข่าวกระเส็นกระสายออกมาจากวงในถึงความบกพร่องของสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งจะมีทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อันเป็นความหวังของประชาชนในภาคใต้ตอนบน สำนักวิชาแพทยศาสตร์ อันเป็นความหวังของนักศึกษาแพทย์ และผู้ปกครอง แหล่งค้นหานวัตกรรมทางการแพทย์ อันคือความหวังของการขจัดโรคร้ายของประชาชน
         
       ภายหลังจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของประเทศนี้ ได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบของเอกสารทางการเงิน ที่บริษัทผู้รับเหมานำมาเป็นเอกสารประกอบการทำนิติกรรมสัญญา และย้อนไปถึงกระบวนการประกวดราคามูลค่า 2,158 ล้านบาท ในระยะแรก ดังนั้น สัญญาก่อสร้างโครงการนี้จึงเป็นข้อที่จะต้องนำมาวินิจฉัยในทางกฎหมายว่า เป็นไปโดยสมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร สัญญานี้จะเป็นโมฆะหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากันของผู้รับผิดชอบ
       
       ถัดมากระบวนการดำเนินงานก่อสร้างที่ล่วงมาได้ในระยะหนึ่ง ซึ่งมีทั้งงานรื้อถอน ปรับพื้นที่ งานขุด งานถม ที่เริ่มดำเนินการไปจนปรากฏเนื้องานอยู่แล้ว ผู้ทำงานเป็นคนคุ้นเคยผู้ที่รับช่วงงานในพื้นที่กำลังประสบปัญหา เพราะเนื้องานที่ทำไปนั้นยังไม่สามารถเบิกเงินได้ หลังจากที่ฝ่ายมหาวิทยาลัยตรวจสอบพบข้อบกพร่องของเอกสาร เงินลงทุนล่วงหน้าที่ลงไปแล้วจึงยังไม่รู้ชะตากรรม รวมทั้งเงินลงทุนล่วงหน้าของบริษัทผู้รับเหมาที่ว่ากันว่า กระบวนการงานทั้งหมดต้องลงทุนไปแล้วมากกว่า 200 ล้านบาท
       
       แม้ว่าการเบิกเงินงวดแรกราว 300 ล้านบาท ของผู้รับเหมาะจะยังไม่เกิดขึ้น งบประมาณทั้ง 2,158 ล้านบาท ยังอยู่ครบทุกบาททุกสตางค์ กระบวนการแก้ไขปัญหาดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างเนิบนาบมาตลอดระยะเวลา 6 เดือน แต่หลังจากที่เรื่องแดงขึ้นแรงกดดันทั้งหมดจึงตกไปอยู่ที่
       
       “ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร” อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
         
       ผู้ซึ่งต้องหนักอกอยู่ไม่น้อยต่อการเผชิญทั้งศึกนอก และศึกในพร้อมๆ กัน ท่าทีที่เคร่งขรึม และเลือกที่จะนิ่งต่อการเปิดเผยข้อมูลความเคลื่อนไหวถึงการแก้ไขปัญหาการเดินหน้าของศูนย์การแพทย์จากอธิการบดีรายนี้ กลับกลายเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงในภายหลังอย่างไม่เหนือความคาดหมาย
       
       ที่ไปที่มาของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างเค้าลางของความเป็นไปได้ มาตั้งแต่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการอนุมัติงบประมาณไทยเข้มแข็งให้ก่อสร้างโครงนี้ จนเข้าสู่กระบวนการเตรียมจัดซื้อจัดจ้าง
       
       แต่ครั้นเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ โครงการที่มีวงเงินสูงในนครศรีธรรมราชโครงการนี้จึงถูกสั่งชะลอ และลากยาวจนมีการผลักดันกันใหม่จากทั้งภายนอกภายใน จนในที่สุดได้มีการอนุมัติงบประมาณผูกกัน 3 ระยะปีงบประมาณละกว่า 2 พันล้านบาท ในการประชุม ครม.สัญจรที่เกาะสมุย จนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในระยะแรกที่ 2,158 ล้านบาท
       
       กระบวนการประกวดราคาหลังจากเรื่องแดงขึ้น คงไม่ต้องพูดถึงว่ามีใคร ที่ไหน อย่างไร เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง รวมถึงมิติของกระบวนการ และข้อกฎหมายทั้งหลาย
       
         
       หลายฝ่ายได้พยายามหาทางออกในการแก้ไขปัญหา แต่บรรยากาศได้เริ่มเขม็งเกลียวมากขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 หลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือที่เลขที่ ตผ. 0054 นศ./394 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2557 เรื่องโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยระบุให้บอกเลิกสัญญาโครงการ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หนังสือฉบับนี้ส่งมาตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2557
       
       หลังจากนั้น คลื่นที่ก่อตัวอยู่ทั้งภายนอกมหาวิทยาลัย และภายในมหาวิทยาลัย เริ่มทวีกำลังแรงขึ้น
       
       21 ตุลาคม 2557 เป็นวันที่เริ่มแตกหัก หลังจากที่ ดร.กีรัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำหนังสือไปถึงบริษัทผู้รับเหมายกเลิกสัญญาโครงการนี้ ถัดจากนั้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 นับมาอีก 15 วัน ดร.กีร์รัตน์ จึงได้ออกจดหมายข่าวผ่านทางส่วนประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย ท่ามกลางกระแสข่าวของมวลชนที่เตรียมเคลื่อนไหวเข้าชุมนุมประท้วงขับไล่อธิการบดีให้พ้นจากตำแหน่งใ นข้อกล่าวหาที่ว่า เป็นผู้สั่งยกเลิกโครงการศูนย์การแพทย์ สรุปเนื้อหาได้ว่า
       
       “ตามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีหนังสือขอบอกเลิกสัญญาก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปการกับกิจการร่วมค้า พี วี ที เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ตรวจสอบหนังสือค้ำประกันสัญญาไปยังธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และได้รับแจ้งจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ว่า หนังสือค้ำประกันสัญญาดังกล่าวไม่ได้ออกโดยธนาคาร หรือสาขาของธนาคาร ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จึงไม่มีความผูกพันรับผิดชอบตามหนังสือค้ำประกันสัญญา…
       
       “และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือแจ้งมหาวิทยาลัย (เลขที่ ตผ. 0054 นศ./394 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2557 เรื่องโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) ให้บอกเลิกสัญญาโครงการกับกิจการร่วมค้า พี วี ที จากเหตุที่กิจการร่วมค้า พี วี ที ใช้เอกสารปลอมเพื่อประกอบการทำสัญญากับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นสาระสำคัญ...
       
       “ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้แจ้งขอบอกเลิกสัญญาการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปการกับกิจการร่วมค้า พี วี ที เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557”
       
       นี่คือสาระสำคัญของจดหมายข่าวฉบับนั้น
       
         
       วันรุ่งขึ้น 7 พฤศจิกายน 2557 ก่อนวันประชุมสภามหาวิทยาลัยเพียง 1 วัน เป็นไปตามคาดหมาย กลุ่มมวลชนหลายร้อยคนเข้ามารวมตัวกันที่หน้าตึกบริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประท้วงอธิการบดีในการสั่งยกเลิกโครงการศูนย์การแพทย์ และได้ยื่นหนังสือ 2 ฉบับ โดยฉบับแรกถึงสภามหาวิทยาลัย ให้ปลดอธิการบดีออกจากตำแหน่ง และอีกฉบับถึงอธิการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง
       
       วันรุ่งขึ้น 8พฤศจิกายน 2557 การประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร มี ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธาน ดูเหมือนว่าปัญหาจะยังไม่จบหลังจากออกแถลงการณ์ผลการประชุม และมติของสภามหาวิทยาลัยลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ที่บอกว่า
       
       “เห็นพ้องต้องกัน”
       
       มีความโดยสรุปคือ 1.เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ 2.แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ 3.แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินความเสียหายของผู้เกี่ยวข้อง 4.อนุมัติให้ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร ลาพักการปฏิบัติงานเป็นเวลา 40 วัน เพื่อให้การสืบสวนเป็นไปโดยสะดวก และ 5.อนุมัติ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดีในช่วงเวลา 40 วัน โดยข้อ 2 และ 3 ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 40 วัน
       
       แม้ว่าอาจมีข้อกังขาถึงลำดับการรักษาการตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาวลัยวลัยลักษณ์ สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรักษาการมาเช่นนี้ทำได้หรือไม่ หรืออาจมีเกมอำนาจที่มากไปกว่านั้น อาจเป็นประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกันต่อไป
       
       ส่วนข้อโต้แย้งทางฝั่งของบริษัทผู้รับเหมานั้น พบว่า ได้เริ่มกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง กระบวนการฟ้องร้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกำลังเริ่มขึ้นที่ศาลอาญาตามคดีดำที่ 3687/2557 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557
       
       และพบว่า บริษัทได้ไปขอหนังสือ LG จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากสาขามาบอัมฤทธิ์ จังหวัดชุมพร หรือที่เรียกว่าเอกสารค้ำประกันทางการเงิน 3 ฉบับ จำนวน 107 ล้านบาท ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2557 มาเป็นเอกสารวงเงินค้ำประกันสัญญาก่อสร้าง เอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้สวนทางกับเอกสารบอกเลิกสัญญาในวันเดียวกันกับที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ส่งไปยังที่ทำการของบริษัท
       
       ขณะที่ผู้รับมอบอำนาจของบริษัทผู้รับเหมาได้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในวันรุ่งขึ้นคือ 22 พฤศจิกายน 2557 เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีหนังสือค้ำประกันสัญญาก่อสร้าง พร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยมี พ.ต.ท.สมบัติ จำปาทอง พนักงานสอบสวน เป็นผู้รับแจ้งลงบันทึกประจำวัน ดังนั้น กระบวนการเหล่านี้จะต้องจบลงไปในกระบวนการทางกฎหมาย
         
       แม้ยังไม่รู้ว่าเรื่องราวมหากาพย์เรื่องนี้จะจบลงไปอย่างไร ผู้ที่อยู่ในกระบวนการของเกมอำนาจ และผลประโยชน์ย่อมที่จะรู้ตัวเองดี และพวกเขาหนีเงาใบหน้าของตัวเองที่อยู่ในกระจกไม่พ้น
       
       แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะต้องเกิดขึ้นที่นี่ นักศึกษาแพทย์จะต้องมีที่ร่ำเรียนฝึกวิชาแพทย์อย่างเต็มภาคภูมิ ประชาชนในภาคใต้ตอนบนต้องมีศูนย์กลางการรักษาพยาบาลเฉพาะทางอย่างสมบูรณ์แบบ อย่าให้นครศรีธรรมราชต้องเสียโอกาสไปมากกว่านี้อีกเลย

 รายงานโดย...กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล
ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 พฤศจิกายน 2557