ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เตรียมให้องค์การเภสัชกรรมผลิต “รางจืดแค็ปซูล”ชนิดเข้มข้น ออกฤทธิ์สลายพิษ  (อ่าน 1353 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สาธารณสุข เตรียมให้องค์การเภสัชกรรมวิจัยและผลิตรางจืดชนิดแค็ปซูล ให้ทันสมัย กินง่าย ใช้รักษาเกษตรกรที่มีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระดับไม่ปลอดภัย ซึ่งต้องใช้รางจืดในระดับที่มีความเข้มข้นสูงในการสลายพิษ คาดดำเนินการได้ภายใน 2-3 เดือน พร้อมเร่งผลักดันขึ้นทะเบียนสมุนไพรรางจืดในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้อย่างกว้างขวางเหมือนยาอื่น และให้อสม. 1 ล้านคนปลูกต้นรางจืดบ้านละ 1 ต้น

วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2554) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “เกษตรกรปลอดโรคผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” ที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จังหวัดสุโขทัย จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมการเจาะเลือดเกษตรกร เพื่อตรวจสารพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกาย ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

  ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ขณะนี้โครงการเกษตรกรปลอดโรคผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เกิดความตื่นตัวในเรื่องของอันตรายและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่าง ปลอดภัย จากผลการเฝ้าระวังโรคพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดของเกษตรกรใน จังหวัดเพชรบูรณ์ ปทุมธานี บุรีรัมย์ ระยอง และสุราษฎร์ธานี ในเดือนมกราคม 2554 พบเกษตรกรมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 51 ส่วนในผักสดผลไม้พบมีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเฉลี่ยเกือบร้อยละ 5 ส่วนการเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลกในปี พ.ศ.2553 พบเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย มีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงที่สุดพบร้อยละ 64 รองลงมาคือตากร้อยละ 60 อุตรดิตถ์ร้อยละ 54 พิษณุโลกร้อยละ 50 เพชรบูรณ์พบร้อยละ 42 จะเร่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกร ตรวจเลือดซ้ำและให้กินสมุนไพรรางจืดเพื่อขับพิษออก
 
อย่างไรก็ตาม ในการใช้รางจืดขับพิษออกจากร่างกายนั้น มีแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบของตัวยาให้ทันสมัย และกินง่ายขึ้น โดยจะให้องค์การเภสัชกรรมวิจัยและผลิตรางจืดเป็นชนิดแค็ปซูล เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการสลายพิษได้รวดเร็วกว่าวิธีการกินแบบต้มใบสดและ ตากแห้งทำเป็นชาชงทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรรายที่มีสารพิษตกค้างในเลือดในระดับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจะต้องกินรางจืดสลายพิษในปริมาณที่เข้มข้นมากกว่าปกติ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ และจะเสนอคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณาให้รางจืดชนิดแค็ปซูล เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป เพื่อใช้ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ทดแทนยานำเข้าต่อไป
 
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า สำหรับในกลุ่มประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรที่มี 14.1 ล้านคนทั่วประเทศ  กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้ปลูกต้นรางจืดอย่างน้อยบ้านละ 1 ต้น ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้ปลูกง่าย และในปีนี้จะให้อสม.ที่มี 1 ล้านคนทั่วประเทศ ปลูกรางจืดคนละ 1 ต้นด้วย เพื่อให้เป็นบ้านตัวอย่างในชุมชน สำหรับใช้เองที่บ้านโดยกินใบสด หรือตากแห้ง เป็นชาชงรางจืด

ฐานเศรษฐกิจ
26 กุมภาพันธ์ 2011