ผู้เขียน หัวข้อ: ศิริราชผลิต “ยาชีววัตถุ” รักษาอีโบลาสำเร็จครั้งแรกของโลก กักเชื้อในเซลล์สกัดแพร่  (อ่าน 528 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ศิริราชแถลงชัด ผลิตแอนติบอดีรักษาอีโบลาสำเร็จในระดับห้องทดลองเป็นครั้งแรกของไทยและของโลก สามารถบล็อกโปรตีนอีโบลาในเซลล์มนุษย์ไม่ให้เพิ่มจำนวน และจำกัดวงไม่ให้แพร่กระจายออกนอกเซลล์ มีขนาดเล็กและประสิทธิภาพดีกว่ายาซีแมป จ่อตีพิมพ์ลงวารสารด้านไวรัสระดับโลก พร้อมยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว

        วันนี้ (2 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "ครั้งแรกของไทยศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาสำเร็จ" ซึ่งมีกองทัพสื่อมารอฟังแถลงข่าวเป็นจำนวนมากร่วม 100 คน จนเต็มแน่นห้องประชุม ว่า โรคไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดในทุกทวีปทั่วโลกโดยประเทศไทยเป็นสายพันธุ์เด็งกี ส่วนแอฟริกาเป็นสายพันธุ์อีโบลา ซึ่งการแพร่ระบาดในครั้งนี้ของกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกถือว่ามีความรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ข้อมูลองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 16 ก.ย. มีผู้ติดเชื้อ 6,574 ตาย 3,091 ราย โดยศิริราชมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องไข้เลือดออกมาโดยตลอด ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอีโบลา จึงนำมาพัฒนาในการวิจัยรักษาอีโบล ซึ่งพบว่าการผลิตแอนติบอดีรักษาไข้เลือดออกอีโบลาได้สำเร็จในระดับห้องทดลอง (ห้องแล็บ)
       
       "ศิริราชไม่ได้พูดเกินจริง เราสามารถผลิตแอนติบอดีรักษาไข้เลือดออกอีโบลาได้สำเร็จครั้งแรกของไทยและของโลก สิ่งนี้คือความภาคภูมิใจของคนไทย ไม่ได้ด้อยกว่าชาติใดในโลก เรามีมาตรฐานการรักษาที่เป็นสากลจริงๆ โดยแอนติบอดีตัวนี้ได้พิสูจน์ว่าแตกต่างจากแอนติบอดีหรือยาซีแมปที่ใช้อยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแอนติบอดีแบบตัวใหญ่ แต่ของเรามีขนาดเล็กกว่า 5 เท่า มีประสิทธิภาพดีกว่าชัดเจน เป็นการคิดค้นโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้การรักษาได้ แต่ยังเป็นแค่ต้นแบบเท่านั้น ยังต้องไปทดลองในสัตว์และในคนอีก ซึ่งจะทำการทดลองในสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีห้องทดลองชีวนิรภัยระดับ 4 ซึ่งมีความปลอดภัยสูงสุด มีเพียงแค่ระดับ 3 เท่านั้น" ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

        ผศ.พญ.ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย อาจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยอีโบลายังไม่มีวิธีจำเพาะรักษาในคน เป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคอง โดยหลักการดูแลคือต้องให้สารน้ำจำพวกเลือด น้ำเกลือ ให้เพียงพอ สำคัญคือต้องค้นหาและแยกผู้ป่วยให้เร็ว มีคนสัมผัสผู้ป่วยหรือไม่ หากมีต้องติดตามผู้สัมผัสจนครบระยะการฟักตัวของโรค 21 วันให้แน่ใจไม่ป่วย ส่วนการป้องกันรักษาในขั้นทดลอง มี 2 หลักการคือ 1.การให้วัคซีนในคนปกติ เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน ขณะนี้ผ่านการทดลองในสัตว์แล้ว กำลังเข้าสู่ระยะแรกในการทดลองในคน และ 2.การรักษาคนที่ป่วยแล้ว ปัจจุบันที่เป็นที่ยอมรับคือ การให้ยาต้านไวรัสลดการเติบโตของเชื้อ การให้ยารักษาไข้หวัดใหญ่ ซึ่งญี่ปุ่นทดลองในหนูพบว่าลดความรุนแรงและการตาย การให้ภูมิต้านทานโดยตรงจากผู้ที่หายป่วยอีโบลา และการสกัดเอาแอนติบอดีหรือวิธีโมโนคลอนอลแอนติบอดี ซึ่งยาซีแมปก็ใช้วิธีดังกล่าวโดยให้ยีนไวรัสอีโบลากับพืชแล้วสกัดเอาแอนติบอดีออกมา โดยรักษาในคนแล้วรอดชีวิต 2 ราย จึงยังไม่สามารถสรุปผลการรักษาได้
       
       ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา กล่าวว่า แอนติบอดีคือโปรตีนที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ลิมโฟไซท์ ชนิดบี ผลิตขึ้นหลังจากร่างกายได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมชนิดใดชนิดหนึ่งโดยร่างกายจะใช้เวลา 7-10 วันหลังจากได้รับเชื้อ ซึ่งหากเป็นเชื้อที่รุนแรง ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีไม่ทันมักทำให้เสียชีวิตก่อน อย่างอีโบลาจะมีโปรตีนตัวหนึ่งที่ไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถสร้างแอนติบอดีได้ สำหรับแอนติบอดีที่ศิริราชผลิตขึ้นนั้นถือว่าเป็นยาชีววัตถุ ใช้หลักการเดียวแบบเซรุ่มแก้พิษงู ซึ่งผลิตแอนติบอดีจากม้าทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้ แต่แอนติบอดีที่ศิริราชผลิตนี้ผลิตจากในคน จึงไม่เกิดผลข้างเคียง
       
       ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ กล่าวว่า แอนติบอดีที่ศิริราชผลิตขึ้นเป็นแบบโพลิคลอนอลแอนติบอดี ซึ่งจะตอบสนองต่อโปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้ออีโบลาหลายตัว โดยสามารถตอบสนองต่อโปรตีน GP1 ทำให้ไวรัสเข้าเซลล์ไม่ได้ โปรตีน GP2 ทำให้ไวรัสจะออกจากกระเปาะไปเพิ่มจำนวนไม่ได้ โปรตีน VP35 ทำให้ไวรัสกดภูมิคุ้มกันของโฮสต์และเพิ่มจำนวนไม่ได้ และโปรตีน VP40 ทำให้ไวรัสที่เพิ่มจำนวนแล้วประกอบร่างเป็นไวรัสรุ่นลูกตัวใหม่ไม่ได้และออกจากเซลล์ไปเผยแพร่เซลล์อื่นไม่ได้ ต่างจากยาซีแมปของสหรัฐฯ ที่แอนติบอดีตอบสนองต่อแอนติเจนเฉพาะตัวที่ไวรัสจะจับกับเซลล์คนเพียงจุดเดียว ทำให้เมื่อไวรัสปล่อยโปรตีนดังกล่าวล่อออกไปในกระแสเลือด ยาซีแมปจึงไปจับโปรตีนที่อยู่ในกระแสเลือดแทน จึงไม่สามารถเข้าไปจับไวรัสที่จะเข้าไปในเซลล์ได้ รวมถึงมีขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าไปในเซลล์ได้ ทำให้เชื้อไวรัสมีโอกาสสุงในการกลายพันธุ์
       
       "แอนติบอดีที่ศิริราชผลิตมีขนาดเล็กกว่า 5 เท่า เพราะใช้เพียงส่วนปลายของแอนติบอดีที่จับกับโปรตีนไวรัสเท่านั้น เรียกว่าแอนติบอดีสายเดี่ยว จึงสามารถเข้าไปในเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสได้ เป็นการคิดใหม่คือยอมให้ไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้วแอนติบอดีเข้าไปยับยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนและออกมานอกเซลล์ได้ ซึ่งสุดท้ายกระบวนการภายในเซลล์จะทำลายโปรตีนของไวรัสจนย่อยกลายเป็นกรดอะมิโน" ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ กล่าว
       
       ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ กล่าวว่า สำหรับการผลิตโปรตีนอีโบลานั้นเป็นการสังเคราะห์ยีนขึ้น โดยใช้ลำดับเบสอ้างอิงของเชื้อที่ระบาดอยู่ขณะนี้เป็นต้นแบบ ไม่ได้นำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศแต่อย่างใด จากนั้นนำโปรตีนแต่ละชนิดไปตรึงบนพื้นผิวพลาสติก และใช้เทคโนโลยีฟาจดิสเพลย์ (Phage Display) ที่มีมาตั้งแต่ปี 2009 มาใช้ โดยเอายีนที่สร้างภูมิคุ้มกันจากเซลล์เม็ดเลือดขาวของคนไทย ที่เก็บมาจากการบริจาคเลือดมาใส่ลงในโปรตีนของไวรัส แล้วเลือกเฉพาะฟาจที่จับกัโปรตีนไวรัสอีโบลาไปใส่ลงในแบคทีเรียชนิดพิเศษ แล้วนำไปเพาะเลี้ยงเหนี่ยวนำให้ผลิตแอนติบอดี ก็จะได้แอนติบอดีจำเพาะต่อโปรตีนของไวรัสอีโบลา ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาเพียงข้ามคืนก็ได้แอนติบอดีบริสุทธิ์แล้ว ต่างจากยาซีแมปที่สกัดแอนติบอดีจากใบยาสูบซึ่งใช้เวลานานถึง 3 เดือน

        "สำหรับแอนติบอดีนี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และได้เสนอความสำเร็จนี้ไปลงในวารสารทางการแพทย์ด้านไวรัสโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นวารสารระดับนานาชาติ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาว่าต้องแก้ไขเพิ่มเติมอีกหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือนจึงจะได้ตีพิมพ์ อย่างไรก็ตาม การใช้แอนติบอดีนี้รักษาจะต้องใช้ในช่วงระยะเวลาเพิ่งเริ่มมีไข้เท่านั้น หากอยู่ในระยะที่เลือดออกแล้วจะไม่สามารถรักษาได้ โดยสามารถรักษาอีโบลาได้ทุกสายพันธุ์ เนื่องจากมีโปรตีนเฉพาะที่แอนติบอดีจะเข้าไปจับได้เหมือนกัน" ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ กล่าว
       
       ศ.พญ.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การผลิตแอนติบอดีต้นแบบนี้ยังผลิตได้น้อยในห้องแล็บเพียง 20 มิลลิกรัม แต่การจะนำมาฉีดรักษาตามมาตรฐานเช่นเดียวกับยาซีแมปต้องใช้ปริมาณ 10 กรัมต่อการฉีด 1 ครั้ง จึงต้องมีการขยายแอนติบอดีเพิ่ม โดยต้องใช้แอนติบอดีจำนวน 20 ลิตรจึงจะได้ปริมาณยาชีววัตถุที่จะฉีด 50 กรัม ซึ่งการฉีดรักษาจะต้องฉีดไปเรื่อยๆ จนกว่าเชื้อจะหมดไปจากร่างกาย ซึ่งการผลิตในจำนวนมากๆ เช่นนี้เราได้มีความร่วมมือกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งก่อตั้งโดยบริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความร่วมมือในการผลิตแอนติบอดีรักษาโรคอื่นอยู่แล้วให้ผลิตในปริมาณมากขึ้นด้วยมาตรฐาน GMP ซึ่งคาดว่าจะผลิต 20 ลิตรได้ใน 1 สัปดาห์ และ 200 ลิตรได้ในปีหน้า เพื่อการทดลองในสัตว์และจดทะเบียนเป็นยาใหม่ต่อไป โดยใช้เวลาในการขึ้นทะเบียน 2 ปี หรืออย่างเร็วคือภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ผ่านการทดลองในคน แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกับยาซีแมป

        เมื่อถามว่าต้องรายงานเรื่องนี้ต่อองค์การอนามัยโลกหรือไม่ ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องรายงาน เพราะถือเป็นศักยภาพของไทยที่ทำได้ แต่หากองค์การอนามัยโลกสนใจจะมาร่วมนำความสำเร็จนี้ไปต่อยอดก็ยินดี
       
       เมื่อถามว่านำวิธีดังกล่าวมาใช้กับการรักษาโรคไข้เลือดออกได้หรือไม่ ศ.พญ.รวงผึ้ง กล่าวว่า ไข้เลือดออกสายพันธุ์เด็งกีของไทยมีความซับซ้อนกว่า คือมี 4 สายพันธุ์ และมักติดเชื้อแบบสลับสายพันธุ์หรือติดเชื้อ 2 สายพันธุ์พร้อมกัน ทำให้การยับยั้งเชื้อโรคนั้นยากกว่าอีโบลาที่เป็นแค่สายพันธุ์เดียว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการตอบข้อซักถามได้มีสื่อต่างชาติถามคำถามในเชิงดูถูก ว่าเหตุใดจึงไปสนใจการรักษาโรคอีโบลา ซึ่งเป็นโรคที่ไกลตัวและไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม ได้ตอบข้อซักถามไปว่า เพราะแพทย์ไทยสามารถทำได้ และถือเป็นการทำเพื่อมวลมนุษยชาติตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกที่มุ่งเน้นการนำความรู้ไปสู่ประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง



ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 ตุลาคม 2557