ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดกฎหมาย ดูสถานะ"รัชตะ รัชตะนาวิน" อยู่หรือไปในตำแหน่งอธิการบดี มหิดล ?  (อ่าน 534 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ตามที่ ศ.นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เกิดปัญหาที่น่าพิจารณาเกิดขึ้นว่า นายรัชตะ จะสามารถดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีและอธิการบดีพร้อมๆกันได้หรือไม่

ซึ่งมีข้อพิจารณาตามกฎหมายดังนี้

ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 มาตรา 33 บัญญัติว่า อธิการบดีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำ กว่าชั้นปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ศาสตราจารย์พิเศษ หรือศาสตราจารย์เกียรติคุณ หรือเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมทั้งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

ซึ่งลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งอธิการดี ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วยการบริหารงานบุคคลได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไว้ ตามข้อ 6(ข) (1) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง

ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลก็เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยคนหนึ่งด้วย และตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ได้ให้คำนิยามข้าราชการการเมืองไว้ โดยรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้วย นายรัชตะ จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ทำให้มีลักษณะต้องห้ามในการที่จะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป

ทั้งนี้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล มาตรา 31 ได้กำหนดผลทางกฎหมายไว้ดังนี้

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 30 อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๘) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 33 ซึ่งมาตรา 33 ได้บัญญัติไว้ให้ลักษณะต้องห้ามไปกำหนดเป็นข้อบังคับอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็คือข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วยการบริหารงานบุคคล และพระราชบัญญัติเขียนไว้ชัดว่า “พ้นจากตำแหน่งเมื่อมีลักษณะต้องห้าม”

ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้พ้นจากตำแหน่งทันที โดยไม่ต้องมีผู้ใดมาสั่งให้ออกจากตำแหน่งอีก นายรัชตะอาจต้องพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขอันเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง


ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องมาตรา41 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา

บทบัญญัตินี้เขียนเพียงแค่ว่า กรณีที่มีกฎหมายใดๆ กำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม “ในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เช่น มีกฎหมายฉบับหนึ่งกำหนดว่า รัฐมนตรีจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ (1) เป็นอธิการบดี

แต่กรณีตามข้อเท็จจริงนั้น ไม่มีกฎหมายใดที่เขียนเช่นนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล เพียงแต่กำหนดลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งอธิการบดีว่า ต้องไม่ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง

ซึ่งสองมาตรานี้มีสาระสำคัญและเนื้อความแตกต่างกัน มาตรา 41 ใช้ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของบุคคลประเภทใดไว้ก็ให้ยกเว้น

แต่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งเราไม่สามารถตีความมาตรา 41 เกินกว่าที่ตัวอักษรนั้นได้แสดงออกมาได้ และมาตรา 41 เป็นบทยกเว้นต้องตีความอย่างแคบ

มาตรา 41 จะมีผลยกเว้นก็แต่กับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้กับรัฐมนตรี ตามมาตรา 9 บัญญัติว่า ผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งมีอิสระในการบริหารงานของตนเอง แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องการที่จะหลุดพ้นจากอิทธิพลของส่วนราชการและฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี

อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังต้องคงไว้ซึ่งเสรีภาพในทางวิชาการ ที่จะต้องปลอดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

การที่มีคนของฝ่ายบริหารคือรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งอธิการบดีด้วยจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

และนี่จึงเป็นเหตุผลที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลจึงห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีเพื่อทรงไว้ซึ่งอิสระในการบริหารและเสรีภาพในทางวิชาการ

ดังนั้น  คำถามคือ  ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน หากพิจารณาตามข้อกฎหมาย อาจต้องพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลตามมาตรา 31 (8)แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ?


มติชนออนไลน์  วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2557