ผู้เขียน หัวข้อ: การไขปริศนาปรัชญาการแพทย์แผนไทย  (อ่าน 3234 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
การไขปริศนาปรัชญาการแพทย์แผนไทย
« เมื่อ: 24 กุมภาพันธ์ 2011, 08:27:32 »
 ที่มาและทฤษฎีเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ได้มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศวิเคราะห์ว่า มาจากทฤษฎีการแพทย์แนวอายุรเวทในศาสนาฮินดู ซึ่งก็เชื่อถือกันมาทั้งที่ความคิดเห็นดังกล่าวมิใช่ข้อสรุปที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่มีใครกล่าวคัดค้าน ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว การแพทย์แผนไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ได้อิทธิพลจากศาสนาฮินดู ไม่ว่าไศวนิกายหรือไวษณพนิกาย
       
       จนมาเมื่อได้ศึกษาตำราการแพทย์แผนไทยมีปรัชญาการรักษาในแนวติกิจฉา ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนา มิใช่อายุรเวทในศาสนาฮินดู เพราะตำราดั้งเดิมเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยทุกฉบับไม่เคยปรากฏคำว่า อายุเวทเลยแม้แต่น้อย ยกเว้นคัมภีร์ฉันทศาสตร์เพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงธาตุทั้ง 5 แต่เป็นตำราที่เพิ่งเขียนขึ้นใหม่ร้อยกว่าปีเศษมานี้เอง”
       
       อายุรเวท และติกิจฉา คืออะไร?
       
       อายุรเวท มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตสองคำ คือ อายุส หมายถึง ชีวิต การมีชีวิตหรือช่วงเวลาแห่งการมีชีวิต เวท หมายถึง ศาสตร์แห่งชีวิตที่สืบต่อดังกระแสธารแห่งความรู้
       
       อายุเวท เป็นอิทธิพลที่มาจากศาสนาฮินดู ซึ่งเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุ 5 หรือที่เรียกว่า ปัญจมหาภูตะ ได้แก่ ลม คือ วายุ เตโช คือ ไฟ อาโป คือ น้ำ ปฐวี คือ ดิน อากาศ คือ อากาศ
       
       การเกิดขึ้นของธาตุทั้ง 5 ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู อธิบายว่า
       
       “เอกภาพนั้นประกอบด้วยจิตสำนึกที่ไร้รูป เป็นจุดรวมของจิตสำนึกทั้งมวล จากนั้นคลื่นความสั่นที่ละเอียดมากของเสียงที่ใช้โอมหรืออาค (Aum,Ak) ปรากฏขึ้น จากการสั่นสะเทือนอันนั้นมีความว่างเปล่าเกิดขึ้น คือ อากาศ เป็นสิ่งพื้นฐานลำดับแรก จากนั้นความว่างก็เริ่มเคลื่อนไหวอย่างละเอียดและเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะของลม เป็นพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกลำดับหนึ่ง นั่นก็คือความว่างหรืออากาศ ในขณะที่มีการกระทำจากการเคลื่อนไหวของอากาศ เกิดมีการเสียดสีกันขึ้นทำให้เกิดความร้อน ความร้อนที่เกิดขึ้นแสดงออกมาเป็นไฟ เป็นสิ่งพื้นฐานขึ้นมาอีก จากความร้อนของไฟฟ้าทำให้ส่วนประกอบบางอย่างในอากาศได้ถูกทำลาย และกลายเป็นของเหลวปรากฏเป็นน้ำ เป็นสิ่งพื้นฐานขึ้นมาอีก
       
       เมื่อน้ำเกิดมีการเปลี่ยนแปลงคือแข็งตัวขึ้น เกิด่เป็นอณูของดิน เป็นสิ่งพื้นฐานขึ้นมาอีก จากพื้นฐานดินและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็บังเกิดขึ้นเป็นอาณาจักรพืช สัตว์ และมนุษย์ ดินยังมีสิ่งที่ไร้ชีวิตต่างๆ เช่น แร่ธาตุประกอบอยู่มากมาย ฉะนั้นครรภ์ของสิ่งพื้นฐานทั้ง 5 จึงมีอยู่ในสรรพสิ่งในเอกภาพนี้ และเป็นปฐมกำเนิดจากจิตสำนึกแห่งเอกภาพ ฉะนั้นวัตถุและพลังงานเป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง”
       
       สำหรับติกิจฉา มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี หมายถึงการเยียวยา การรักษา การบำบัดโรคและเวชกรรม ในพุทธศาสนา เชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ดังในพระไตรปิฎกทีฆนิกาย มหาวรรค สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
       
       “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณาการตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกตินี่ แล โดยความเป็นธาตุว่า อยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม”
       
       อีกทั้งในสุมังคลาวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อรรถกถา เรื่องพรหมชาลสูตร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
       
       “ปฐวีธาตุ มีลักษณะเข้มแข็ง ลักษณะแท้ไม่แปรผัน อาโปธาตุ มีลักษณะไหลไปเตโชธาตุ มีลักษณะร้อน และวาโยธาตุ มีลักษณะเคลื่อนไปมา”
       
       จะเห็นได้ว่า ความเชื่อในพุทธศาสนามีเพียง 4 ธาตุเท่านั้น คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ปรากฏอากาศอันเป็นธาตุที่ 5 อย่างอายุรเวทในศาสนาฮินดู
       
       ในพระไตรปิฎก ส่วนที่เป็นพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาคที่สอง เรื่องเภสัชชขันธกะ ได้กล่าวถึงการรักษาสุขภาพ มีคำว่า ติกิจฉา เท่านั้น ส่วนคำว่า อายุรเวท จะไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก ทั้งที่คำนี้มีใช้ในศาสนาพราหมณ์อยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ในศาสนาฮินดูได้นำอายุรเวทไปใช้ในลักษณะที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่นั้นมา โดยเฉพาะในงานเขียนที่เกี่ยวกับตำรายาของจรกะ (Charaka) เรื่อง Samhita และของสุสรุตะ (Susruta) แต่หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้วถึง 600-700 ปี
       
       มีคำถามว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นำเรื่องธาตุมาจากใด ซึ่งคงไม่ใช่ธาตุทั้ง 5 ในศาสนาพราหมณ์เป็นแน่
       
       ซึ่งความจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้นำความเชื่อเรื่องธาตุทั้ง 4 มาจากปรัชญาลัทธิจารวาก ซึ่งเป็นช่วงสมัยเมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ พระสิทธัตถะกุมารได้ศึกษามาจากสำนักครูทั้ง 6 ซึ่งในพระไตรปิฎกเรียกว่าครูทั้ง 6 ว่าพวกโลกายัต ซึ่งพวกนี้เชื่อว่า โลกประกอบด้วยธาตุ 4
       
       เมื่อธาตุทั้ง 4 มาประชุมกันอย่างถูกสัดส่วนก็เกิดพันธุ์มนุษย์ สัตว์ และต้นไม้ขึ้นมา ธาตุดังกล่าวนั้นมีการเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปรและการเสื่อมสลายในที่สุด โลกายัตหรือลัทธิจารวากได้ปฏิเสธธาตุอากาศ เพราะเชื่อว่าอากาศนั้นรับรู้ด้วยสัมผัสไม่ได้ แต่รู้ด้วยอนุมานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
       
       แม้ว่าพระพุทธองค์จะยอมรับเรื่องธาตุ 4 ของลัทธิโลกายัต แต่แนวคิดที่แตกต่างจากความเชื่อในพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในเนื้อหาที่นิกายโลกายัตสอนว่า
       
       “ความสนุกสนานเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางแห่งชีวิตมนุษย์ จิตเป็นแค่เพียงผลิตผลของวัตถุโลกอื่น (โลกหน้า) ไม่มี ความตายคือความหลุดพ้น”
       
       ในตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิมนั้น ไม่มีคำว่าอายุรเวทปรากฏอยู่เลย และกล่าวถึงธาตุว่ามีเพียง 4 ธาตุเท่านั้น ซึ่งตำราแพทย์แผนไทยนำปรัชญาและแนวคิดมาจากพระไตรปิฎกในพุทธศาสนา และพระคัมภีร์วรโยคสารมีกล่าวถึงคำว่า ติกิจฉา เช่น
       
       “...กล่าวมาด้วยสรรพคุณติกิจฉาวิธี” หรือ “...ลำดับนี้จะกล่าวด้วยอันนะปานะวิธีติกิจฉา...” เป็นต้น
       
       กล่าวได้ว่าพระคัมภีร์วรโยคสาร เป็นบทไขปริศนาปรัชญาการแพทย์แผนไทย ว่ามาจากความเชื่อในพุทธศาสนา และเป็นแนวคิดแบบติกิจฉา ซึ่งมีรายละเอียดจากเรื่องเภสัชชขันธกะ และเรื่องพรรณนาวังติสาการ
       
       พระคัมภีร์วรโยคสาร นอกจากจะมีเนื้อหาปรากฏการณ์รักษาโรคภัยไข้เจ็บตามแนวติกิจฉาแล้ว เนื้อเรื่องยังประกอบด้วยแพทย์ที่มีลักษณะที่ดี เรื่องนิมิต โรค การรักษาโรค การเก็บสมุนไพร และท้ายสุดเป็นเรื่องที่ว่าด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ นับได้ว่าพระคัมภีร์วรโยคสารเป็นตำราทางการแพทย์แผนไทยที่มีคุณค่าเล่มหนึ่ง

 สำหรับพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์เป็นตำรายาฉบับหลวงที่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัย อยุธยา แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนในหนังสือเวชศาสตร์ฉบับหลวง ที่ชำระเป็นตำรายาหลวงใน พ.ศ. 2413 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้รวบรวมพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์รวมอยู่ร่วมกับพระคัมภีร์ยาหลวงเล่มอื่นๆ ด้วย
       
       ในด้านรายละเอียดคัมภีร์ธาตุวิภังค์ ได้อธิบายรายละเอียดของลักษณะธาตุที่ 4 ซึ่งสอดคล้องกับตำราเล่มอื่นๆ ดังนี้
       
       ธาตุดิน คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่มีลักษณะเป็นของแข็ง มีความคงรูป 20 ชนิด คือ เล็บ ฟัน หนัง ผม ขน เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า และเยื่อในสมอง
       
       ธาตุน้ำ คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่มีลักษณะไหลไปไหลมา ซึมซับทั่วร่างกายมี 12 ชนิด คือ น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ มันเหลว มันข้น น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ และน้ำมูตร
       
       ธาตุลม คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่มีลักษณะเคลื่อนไหวได้ มีคุณสมบัติคือความเบา เป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว ธาตุลมมี 6 ชนิด คือ ลมพัดจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง ลมที่พัดในกระเพาะลำไส้ ลมที่พัดทั่วร่างกาย และลมหายใจเข้าออก
       
       ธาตุไฟ คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่มีลักษณะเป็นความร้อน ธาตุไฟมี 4 ชนิด คือ ไฟทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟทำให้ร่างกายระส่ำระสาย ไฟทำให้ร่างกายเหี่ยวแห้งทรุดโทรม และไฟย่อยอาหาร
       
       ในด้านหมอยาไทย ซึ่งอิงความเชื่อในพุทธศาสนาได้กล่าวถึงชีวิตไว้ว่า ธาตุทั้ง 4 มาอยู่รวมกันอย่างถูกส่วน ทำให้เกิดมนุษย์ สัตว์ และพืชขึ้น แม้ธาตุทั้ง 4 จะเที่ยงแท้และดำรงอยู่ชั่วนิรันดร แต่การประชุมกันของธาตุทั้ง 4 ทำให้เกิดการเจ็บป่วย การแยกตัวจากกันของธาตุทั้ง 4 ทำให้ชีวิตถึงแก่ความตาย
       
       สาเหตุของการเจ็บป่วยในทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้นมี 6 ประการ คือ มูลเหตุเกิดจากธาตุทั้ง 4 จากอิทธิพลของฤดูกาล เกิดจากธาตุที่เปลี่ยนไปตามวัย จากดินที่อยู่อาศัยและจากอิทธิพลของกาลเวลาและสุริยจักรวาล ประการสุดท้ายเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัว
       
       ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์นั้นได้กล่าวว่า ความไม่สมดุลของธาตุทั้ง 4 เป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยเชื่อว่า ธาตุทั้ง 4 จะต้องอยู่ในภาวะไม่สมดุลกับร่างกาย
       
       คือดินต้องอาศัยน้ำ ทำให้ชุ่มและเต่งตึง อาศัยลมพยุงให้คงรูปและเคลื่อนไหว อาศัยไฟทำให้พลังงานอุ่นไว้ไม่ให้เน่า น้ำต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะกุม ซับไว้มิให้ไหลเหือดแห้งไปจากที่ควรอยู่ อาศัยลมนำน้ำไหลซึมซับทั่วร่างกาย ลมต้องอาศัยน้ำและดินเป็นที่อาศัย นำพาพลังไปในที่ต่างๆ ดินปะทะลมสามารถทำให้เกิดการเคลื่อนที่แต่พอเหมาะ ไฟทำให้ลมเคลื่อนที่ไปได้ ในขณะที่ลมสามารถทำให้ไฟลุกโชน เผาผลาญมากขึ้นได้
       
       ขบวนการพลวัตของร่างกายนั้น เห็นได้ว่าธาตุทั้ง 4 ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมไม่ได้ ซึ่งหากธาตุใดธาตุหนึ่งแปรปรวนไม่ปกติทำให้เกิดการเสียความสมดุล ร่างกายจะเกิดอาการป่วยไข้ขึ้นมาทันที
       
       ฤดูกาลก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์กล่าวว่าเป็นสาเหตุจากธาตุเกิดผลกระทบ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เพราะรอยต่อระหว่างฤดูกาล เช่น ฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ความเย็นในร่างกายจะเจือผ่านออกไป และความร้อนเริ่มเจือผ่านเข้ามา ฤดูร้อนต่อฤดูฝน ความร้อนในร่างกายจะเจือผ่านออกไป มีผลต่อธาตุลมแทรกเข้ามากระทบความร้อนด้วย เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ละอองฝนปลายฤดูฝนและธาตุลมเปลี่ยนข้าสู่ความเย็น เกิดขณะที่ความหนาวเย็นต้นฤดูหนาวจะเริ่มเจือเข้ามารับลมปลายฤดูฝน สภาวะดังกล่าว หากร่างกายปรับตัวไม่ได้ ธาตุก็เกิดเสียความสมดุล ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น และอาจนำไปสู่ความตายได้ ถ้าธาตุทั้ง 4 เกิดการแยกจากกัน
       
       ส่วนในประเด็นอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุแห่งการเกิดโรค คืออายุที่เปลี่ยนไปตามวัย ซึ่งหมอยาไทยได้แบ่งวัยมนุษย์ออกเป็น 3 วัย คือ ปฐมวัย อายุตั้งแต่ 0-6 ปี เชื่อว่าโรคเกิดจากธาตุน้ำ ปัจฉิมวัย อายุตั้งแต่ 6-32 ปี เชื่อว่าโรคเกิดจากธาตุไฟ และปัจฉิมวัย คือมีอายุมากกว่า 32 ปีขึ้นไป เชื่อว่าเกิดโรคในธาตุลม
       
       สถานที่อยู่อาศัยก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดการเจ็บป่วย เพราะขาดที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมอยาไทยเรียกว่าประเทศสมมติฐาน เช่น ประเทศร้อน สถานที่ที่เป็นภูเขา และที่ราบสูง มักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ประเทศเย็นมีฝนตก โคลนตม พื้นแผ่นดินชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา มักเจ็บป่วยด้วยธาตุลม ประเทศอุ่น สถานที่ที่เป็นน้ำ มีกรวดทรายประกอบ มักเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ สำหรับประเทศหนาว สถานที่ที่เป็นน้ำเค็ม มีโคลนตมชื้นแฉะ ได้แก่ชายทะเล มักเจ็บป่วยด้วยธาตุดิน
       
       อิทธิพลของกาลเวลา นับเป็นสาเหตุหนึ่งในสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงในระยะรอบหนึ่งวัน การเกิดจันทรุปราคา หรือสุริยุปราคา เพราะกาลเวลาดังกล่าวอาจเกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของเวลา อิทธิพลของดวงดาว ย่อมมีผลต่อชีวิตได้เช่นกัน
       
       ส่วนพฤติกรรมส่วนตัวนั้น ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน เช่น การกินมากกินน้อย การกินอาหารไม่ถูกกับธาตุ การอดข้าวอดน้ำ อดนอน การกลั้นอุจจาระ-ปัสสาวะ การเศร้าโศกเสียใจ มีโทษะ หรือการมีกิจกรรมทางเพศมากเกินไป
       
       โดยที่พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ให้ความสำคัญของธาตุทั้ง 4 เนื้อในตำราได้พยายามอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย โดยเฉพาะในเรื่องการขาดความสมดุลของธาตุอย่างละเอียด และพิสดารมาก รวมถึงการสำแดงอาการออกมาให้เห็นทั้งภายในและภายนอก ซึ่งผู้เป็นหมอยาสามารถวินิจฉัยโรคได้ และสามารถนำมาเจียดยา ดังปรากฏในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์เพื่อนำมารักษาโรคอันเกิดแก่การเปลี่ยนแปลง ของธาตุทั้ง 4 ซึ่งไปสู่เป้าหมาย คือยาที่สามารถปรับธาตุทั้ง 4 ให้เกิดความสมดุลและร่างกายเป็นปกติเช่นเดิม

ประทีป ชุมพล    
1 และ 8 กุมภาพันธ์ 2554