หมวดหมู่ทั่วไป > ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์

การแพทย์แผนไทยในยุคแห่งอรุณรุ่ง

(1/1)

pani:
 หลักฐานในสมัยสุโขทัยที่ยอมรับกันว่าเป็นรัฐอิสระแรกเริ่มของคนไทย แต่ไม่ปรากฏการจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บมากนัก มักจะมีแต่เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาและพระราชวงศ์เป็นส่วนใหญ่ เราจึงไม่ค่อยทราบความเป็นอยู่ของคนในสมัยสุโขทัยเท่าใดนัก
       
       ลองตรวจสอบหลักฐานในสมัยนั้นก็พบการบันทึกเรื่องโรคภัยไข้เจ็บบ้าง เหมือนกัน ได้แก่ข้อความในไตรภูมิกถา หรือที่รู้จักกันดีว่าไตรภูมิพระร่วง อันเป็นพระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาลิไทได้กล่าวถึง โรคที่น่ากลัวในสมัยนั้นมีกล่าวไว้ว่า “... ฝูงคนกินเข้านั้น แลจะรู้ว่าเป็นหิด และเรื้อนเกลื้อน แลกลากหูด และเปาเป็นต่อม เป็นเตาเป็นง่อยเป็นเพลียตาพูหูหนวก เป็นกระจอกงอกเลื้อย เปื้อยเนื้อเมื่อยตน ท้องขึ้นท้องพองต้องไส้ ปวดหัว มัวตาไข้เจ็บ เหน็บเหนื่อยวิการ ดังนี้ไส้” และในศิลาจารึก กล่าวถึงโรคร้อยบางโรคว่า “... อย่าไข้เจ็บเล็บเหนื่อยเมื่อยห้านคร้านอิด เป็นหิดเป็นฝีดับอั้น”
       
       เห็นได้ว่าในสมัยสุโขทัย ผู้คนหวาดกลัวโรคบางโรค เช่น โรคผิวหนัง โรคปวดท้อง ปวดหัว ปวดตา โรคปวดเมื่อย เป็นต้น แต่ไม่มีการกล่าวถึงวิธีการรักษา
       
       มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำนานกล่าวว่า กว่าจะมาตั้งเมืองใหม่ได้นั้นต้องใช้เวลาอันยาวนานเหมือนกัน คือก่อนหน้านั้นชุมชนกลุ่มหนึ่งได้หนีโรคห่าระบาดมาจากเมืองใดไม่ปรากฏโดยมี พระเจ้าอู่ทองเป็นผู้นำ ร่อนเร่พเนจรอยู่พักใหญ่ แล้วเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองในบริเวณหนองโสน เป็นพื้นที่มีสภาพลุ่ม อีกทั้งแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาเมืองหลวงนี้ว่า กรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2893
       
       “โรคห่า” เป็นชื่อของโรคที่ปรากฏเสมอๆ ในตำนานไทยโบราณ ความจริงแล้วโรคอะไรก็ได้ที่ระบาดอย่างรวดเร็วเหมือนห่าฝน จึงมักเรียกกันว่า “โรคห่า” ซึ่งได้แก่ อหิวาตกโรค ฝีดาษ และไข้ทรพิษ เป็นต้น เป็นโรคที่คนไทยโบราณกลัวกันนัก
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อสร้างเมืองหลวงขึ้นแล้ว แม้จะเกิดโรคไข้ทรพิษระบาดอย่างรุนแรงอีกชนิดหนึ่งขึ้นใน พ.ศ. 1997 รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ก็ไม่มีการอพยพโยกย้ายหนีไปสร้างเมืองใหม่ที่ไหนอีก เพราะในสมัยนี้มีการต่อสู้ด้วยยารักษาโรค และไข้ทรพิษก็ทุเลาลงและหายไปในที่สุด
       
       หลังจากไข้ทรพิษระบาดเพียงปีเดียว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจการด้านสาธารณสุขอย่าง จริงจัง จึงได้สถาปนาหน่วยงานที่มีฐานะเป็นกระทรวงสาธารณสุขขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.1998 มีกรมต่างๆ ถึงเจ็ดกรม คือ
       
       กรมโรงพระโอสถ มีออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดีอะไภยพิรียปรากรมพาหุ จางวางแพทยาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้า ถือศักดินาสูงสุด อันหมายถึงเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจเด็ดขาดในกระทรวงสาธารณสุข โรงพระโอสถเป็นกรมที่เก็บรักษาวัตถุดิบที่นำมาปรับปรุงเป็นสมุนไพร รวมถึงการผลิตตำราหลวงด้วย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานงานกับหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ (หมอราษฎร์) และหมอพระ เพื่อคอยเป็นผู้ชำระตำรายา วิจัยพืชสมุนไพร และเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บในพระราชอาณาจักรด้วย
       
       กรมหมอนวด เป็นกรมค่อนข้างจะใหญ่ และมีเจ้าหน้าที่มากที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข เพราะการแพทย์แผนไทยถือว่าการนวดเป็นการรักษาป่วยไข้ขั้นพื้นฐาน ดังปรากฏในข้อความของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวว่า “ใน กรุงสยามนั้น ถ้าใครไข้ป่วยลง ก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืดโดยให้ผู้ชำนาญในทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ และใช้เท้าเหยียบๆ กล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์มักจะใช้ให้เด็กเหยียบเพื่อคลอดบุตรได้ง่าย” สมัยนั้นฝรั่งไม่เข้าใจเรื่องการนวดบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขั้นพื้นฐาน แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าฝรั่งจะหลงใหลในการนวดบำบัดแบบแผนไทยมาก
       
       กรมหมอ มีหน้าที่ด้านการเตรียมสมุนไพรมาผลิตเป็นยา และการแสวงหาเครื่องยาให้พร้อมเพื่อนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็วเมื่อถึงคราวคับขัน
       
       กรมแพทยา เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารและดูแลแพทย์ทางฝ่ายทหารและพลเรือนทั้งใน ส่วนพระราชวังหลวงและส่วนท้องถิ่น ผู้ดูแลดำรงตำแหน่งเป็นพระศรีมโหสถราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ์
       
       กรมหมอกุมาร ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานดูแลรักษาผู้ เจ็บไข้ได้ป่วยที่เป็นเด็ก เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยโบราณนั้นเด็กจะได้รับความคุ้มครองดูแลอย่างดี ซึ่งหน้าที่นี้น่าจะรวมไปถึงการดูแลสตรีที่มีครรภ์ ตลอดจนถึงการทำคลอดและการเลี้ยงดูเด็ก
       
       กรมหมอวรรณโรค เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับการรักษาบาดแผลชนิดต่างๆ
       
       กรมหมอยาตา เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโรคตาทุกชนิด เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยอยุธยาก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับตามาก ถึงกับมีกรมสำหรับทำหน้าที่รักษาโรคตาโดยเฉพาะทีเดียว
       
       ในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากจะมีกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบเกี่ยวกับสุขอนามัยของคน ได้แบ่งความรับผิดชอบเป็นกรมต่างๆ ทำหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างเคร่งครัด เห็นถึงความเอาใจใส่ของทางราชการต่อไพร่ฟ้าประชาชน และนอกจากนี้ในเมืองหลวงก็ยังมีร้านขายยา จำหน่ายเครื่องสมุนไพร ยาสำเร็จรูป เครื่องเทศมากมาย ทั้งตำรับยาในจีนและยาฝรั่ง ชาวอยุธยาเรียกแหล่งขายยาว่า ป่ายา หรือแหล่งจำหน่ายยา มีแหล่งจำหน่ายขนาดใหญ่ เรียกว่า ถนนป่ายา ดังในหนังสือคำให้การของขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า “ถนนป่ายามีร้านขายเครื่องเทศ เครื่องไทยครบทุกสิ่ง ชื่อ ตลาดป่ายา”
       
       สิ่งที่น่าสงสัยสำหรับชาวอยุธยาคือ ไม่มีโรงพยาบาลบริการสำหรับผู้เจ็บป่วย ธรรมเนียม การสร้างโรงพยาบาลเป็นของเขมรที่เรียกว่า อโรคยศาล ซึ่งเคยมีในเมืองไทย แต่ไม่เป็นที่นิยมจึงสูญหายไป เมื่อหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ศาสนาและสร้างโรงพยาบาลในกรุง ศรีอยุธยานั้นก็ไม่มีใครต่อต้าน แต่เมื่อหมอสอนศาสนาขอให้สมเด็จพระนารายณ์อุปถัมภ์โรงพยาบาล พระองค์กล่าวว่า ธรรมเนียมไทยไม่มีการสร้างโรงพยาบาล เป็น สิ่งพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า คนไทยไม่นิยมโรงพยาบาล ใช่ว่าคนไทยล้าหลังก็หาไม่ เพราะเรามีกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยนั้น รักษากันที่บ้านแพทย์หรือหมอยาจะเป็นผู้ตรวจรักษาและเจียดยาให้ผู้ป่วย การที่คนไทยปฏิเสธโรงพยาบาลนั้น เพราะคนไทยถือว่าโรงพยาบาลเป็นเรือนตายที่ว้าเหว่ อนาถา น่าสมเพช และถือว่า บ้านเป็นเรือนตาย เพราะถ้าจะตายก็ตายในท่ามกลางของญาติพี่น้อง จะถือว่านอนตายตาหลับวิญญาณจะจากไปอย่างมีความสุข จน เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.2310 นั้น ตำรายาหลวงได้สูญเสียไปมากและหมอยาถูกฆ่าตาย บางคนถูกกวาดต้อนไปยังพม่า ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นครองราชสมบัติก็ได้ประกาศฟื้นฟูใน ศิลปวิทยาการทุกสาขา

 สำหรับทางด้านการแพทย์นั้นได้รับการบูรณาการอย่างเร่งด่วน พยายามร่วมมือร่วมใจกันสืบหาผู้มีความรู้ด้านการแพทย์และตำรายาในทุกหัว เมือง เพราะขณะนั้นไพร่ฟ้าประชากรชาวไทยลำบากมาก ทั้งขาดแคลนข้าวปลาอาหารและยารักษาโรค ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรีว่า “คนทั้งปวงถึงพิบัติชีพตาย ด้วยทุพภิกขะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ประดุจหนึ่งภูเขา และเห็นประชาชนซึ่งลำบาก อดอยากอาหารมีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจ”
       
       อีกทั้งในฐานะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้รับผิดชอบในความเป็นอยู่ของประชาราษฎร์ ถึงกับอธิษฐานเป็นสัจวาจาว่าจะยอมตัดพระพาหาให้หนึ่งข้างให้กับผู้ที่ทำให้ ประชาชนมีความสุข ดังข้อความว่า “บุคคลใดเป็นอาทิคือเทวดา บุคคลผู้สัมฤทธิ์มากระทำให้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้ผู้นั้นปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่งก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้ ตามความกรุณา เป็นความสัตย์”
       
       สิ่งที่พระองค์ทรงตั้งก็สมจริง ตามคำอธิษฐาน เพราะเมื่อผู้ปกครองในชั้นหลังทรงทำให้ไพร่ฟ้ามีความสุขและพระโอรสของ พระองค์เองมีอาชีพเป็นแพทย์หลวงถึงสี่พระองค์ ซึ่งจัดเป็นแพทย์หลวงที่มีความสามารถ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าในการชำระตำรายาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชโอรสทั้งสี่พระองค์ ได้แก่
       
       สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ แรกของสมเด็จพระเจ้าตากสินกับกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าฟ้าฉิม) พระธิดาเจ้าพระนครศรีธรรมราช (หนู) เรียกกันว่าทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ หลังจากสิ้นราชวงศ์ถูกถอดยศลงมาเป็น “พระพงศ์อมรินทร์” หรือที่เรียกกันว่า “พระพงศ์นรินทร์” เป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดพระองค์หนึ่งใน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
       
       พระองค์เจ้าหนูแดง พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ทราบนามทางฝ่ายพระมารดา ในสมัยรัชกาลที่สาม ได้รับตำแหน่งเป็นพระยาบำเรอราชแพทย์ คราวบูรณะวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีหน้าที่เป็นแพทย์ใหญ่คุมจารึกเรื่องตำรับยาแพทย์แผนไทย และปรากฏหลักฐานในตำราเรื่องแพทย์หมอ พระราชนิพนธ์พระองค์เจ้าศรีเสาวภาคย์พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงหมอหนูแดงว่า มีคำเล่าว่าพระบำเรอราช (หนูแดง) เป็นบุตรขุนหลวงตาก เป็นผู้รู้คัมภีร์แพทย์ ได้เรียบเรียงตกแต่งไว้มาก
       
       พระองค์เจ้าชายละมั่ง เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระ เจ้าตากสิน ไม่ปรากฏพระนามมารดา ภายหลังถูกถอดยศแต่เข้ารับราชการเป็นหมอหลวงได้เป็นพระยาสัมบัติยาธิบาล เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมแต่งโคลงท่าฤาษีตัดตนที่วัดพระเชตุพนฯ
       
       พระอินทรภัย พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินกับ กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (ฉิม) ร่วมอุทรเดียวกับสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ (พระพงศ์นรินทร์) มีศักดิ์เป็นพระอนุชาและได้เรียนทางหมอเช่นเดียวกับพระเชษฐา ในสมัยรัชกาลที่สอง มีตำแหน่งเป็นหมอหลวง ภายหลังถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับเจ้าจอมในวังและถูกประหารชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2355
       
       พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีได้ทรงรวบ รวมตำราแพทย์แผนไทยเป็นครั้งแรก หลังจากพระองค์สถาปนากรุงเทพมหานครเป็นนครหลวงของไทยจากศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ มีหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ “ตั้งตำรายา”
       
       จนสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงมีการรวบรวมตำราการแพทย์แผนไทยขึ้น พ.ศ. 2355 โดยมีพระองค์อมรินทร์พระราชนิกูล แพทย์ใหญ่เป็นหัวหน้าทำหน้าที่รวบรวมและชำระตำรายาที่รู้จักกันดี เรียกว่า ตำรายาโรงพระโอสถ เมื่อ โรคระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในสมัยรัชกาลที่สอง คือการระบาดของอหิวาตกโรคซึ่งเรียกกันว่า ไข้ป่วงใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2363 ในชั่วระยะเวลาเพียงสิบห้าวันเท่านั้น วันนั้นปรากฏว่ามีคนตายถึงสามหมื่นคน
       
       ในขณะที่ในเวียดนามคนตายในคราวนี้เกือบหนึ่งแสนคน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าใน พ.ศ. 2364 หลังจากอหิวาตกโรคระบาดเพียงหนึ่งปี ก็ได้พระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำรายาไทยลงบนศิลาประดิษฐานไว้ที่วัดจอมทอง ผู้ควบคุมคือพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงตั้งพระนามวัดจอมทองใหม่ว่า วัดราชโอรส อันหมายถึงวัดที่พระราชโอรสเป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์นั้นเอง
       
       การแพทย์แผนไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งพร้อมกับวิทยาการในสาขาอื่นๆ นั่นคือ ได้โปรดให้ประชุมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ตำรายา ตำราหมอนวด ตำรา โคลง ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ประเพณี ศาสนา และสุภาษิต เป็นต้น มาจารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2375 เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ได้ศึกษาค้นคว้าเพราะสมัยนั้นตำรับตำรายังหายาก โดยเหตุนี้จึงกล่าวกันว่าวัดโพธิ์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย ตำรายาและตำราเกี่ยวกับการนวดหรือที่เรียกว่า ตำราการแพทย์แผนไทย จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ มีมากที่สุดรวมทั้งสิ้นประมาณสามสิบเปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาจารึกทั้งหมด
       
       ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยที่วัดโพธิ์ ตามที่พระยาบำเรอราชแพทย์เป็นหัวหน้าผู้สืบเสาะหาตำรายาและตำราลักษณะโรคจาก หมอหลวง หมอพระและหมอเชลยศักดิ์ มีการประกาศขอตำรายาดีซึ่งมีผู้นำมาให้มากมาย ผู้นำตำรายามาให้นั้นจะต้องสาบานตัวว่ายาขนานนั้นๆ ตนได้ใช้มาก่อนและใช้ได้ผลดีจริงๆ และพระยาบำเรอราชแพทย์ นำมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำมาจารึกไว้
       
       วิชาการแพทย์แผนไทยที่จารึกไว้ที่วัดโพธิ์ แสดงให้เห็นถึงการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมครั้งสำคัญที่สุด มีการบันทึกหลักฐานอย่างมีระเบียบ จากความเชื่อที่ว่าแพทย์ไทยหวงแหนวิชานั้นไม่ปรากฏให้เห็น แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ หมอพระ และเป็นรากฐานของแพทย์แผนไทยสืบมา ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว เป็นการตั้งรับการแพทย์แผนตะวันตกที่กำลังรุกคืบเข้ามาอย่างน่ากลัว

ประทีป ชุมพล    
15 และ 23 กุมภาพันธ์ 2554

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version