ผู้เขียน หัวข้อ: จากพุทธคยาถึงโปตาลา-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1142 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

จากต้นกำเนิดในอินเดีย ปัจจุบันพุทธศาสนามีสายปฏิบัติที่แตกแขนงออกไป  แต่ละสายมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง โดยอาจจำแนกออกเป็นสามสายใหญ่ๆ ได้แก่ พุทธศาสนาเถรวาท พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาวัชรยาน กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้การศึกษาพุทธศาสนาข้ามสายปฏิบัติ ข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรม ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องยากและเป็นของใหม่ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ประสบการณ์ในโลกตะวันตกทำให้เขาตระหนักว่าพุทธศาสนาแต่ละสายต่างก็มีโลกทัศน์ จักรวาลวิทยา และหลักปรัชญาที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อวิถีปฏิบัติ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป ทว่าหากมองอีกด้านหนึ่ง “คุณค่า” อาจไม่ได้มาจากหลักธรรมคำสอนเสียทั้งหมด  ในแต่ละสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และชีวิตของผู้คน ต่างมีวิญญาณของสถานที่ (sense of place) ซึ่งเมื่อถูกค้นพบและปลดปล่อย วิญญาณเหล่านั้นก็สามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อคุณค่าทางศาสนธรรมในภูมิภาคนั้นๆ ได้อย่างตื่นรู้และมีพลัง

ยามนึกถึง พุทธศาสนาเถรวาท เราจะนึกถึงภาพพระภิกษุในจีวรสีส้มเดินเรียงกันเป็นแถวเพื่อออกบิณฑบาตในตอนเช้า พระพุทธรูปในท่านั่งขัดสมาธิแลดูสงบเยือกเย็น พระพุทธเจ้า อัครสาวก พระไตรปิฎก พระป่าสะพายย่าม บาตร กลด และเจดีย์ เป็นต้น พุทธศาสนาเถรวาทเป็นสายปฏิบัติเก่าแก่ มีเอกลักษณ์คือการธำรงรักษาพระธรรมวินัยให้เหมือนครั้งพุทธกาลมากที่สุด เถรวาทเป็นพุทธศาสนาแบบจารีตที่ได้รับการนับถือศรัทธาโดยประชากรส่วนใหญ่ในประเทศแถบเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ศรีลังกา พม่า ลาว ไทย และกัมพูชา ประเทศที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งอยู่ในแถบศูนย์สูตร มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาศัยรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน แต่ละชุมชนอยู่ห่างจากกันไม่มากนัก โดยมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดยรอบเชื่อมต่อตามชายขอบ สมณะหรืออนาคาริกทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานวัฒนธรรมด้วยการใช้ชีวิตทั้งในชุมชน และเดินท่องไปจากชุมชนหนึ่งสู่อีกชุมชนหนึ่ง

สำหรับชาวพุทธเถรวาท การจะสามารถรักษาธรรมวินัยทุกข้อได้อย่างไม่มีบิดพลิ้ว เป็นข้อจำกัดอยู่ในตัวว่า สมณะจำเป็นต้องใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเองในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศร้อนชื้นแถบเส้นศูนย์สูตรเท่านั้น การจะเดินทางด้วยเท้าเข้าไปในสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสูง ปกคลุมด้วยหิมะ และสภาพอากาศที่แปรปรวนนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ หรือหากเป็นไปได้ก็ไม่อาจปฏิบัติตนหรือตีความคำสอนให้เหมือนกับในบริบทสังคมอินเดีย                  สมัยพุทธกาลได้ทุกรายละเอียด ทำให้สายปฏิบัตินี้จำกัดอิทธิพลอยู่ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การตีความคำสอนมีลักษณะตรงไปตรงมาอยู่ในบริบทที่แคบ ความสัมพันธ์ของพระกับชุมชนสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมและการรวมตัวกันแบบหมู่บ้านเล็กๆ  การเดินท่องไปของสมณะทำได้ในภูมิประเทศแบบที่ราบและสภาพอากาศร้อนชื้น มีอุปสรรคเพียงฤดูมรสุมหรือฤดูฝน ซึ่งพระภิกษุจำเป็นต้องหยุดพักการเดินทางไม่ร่อนเร่ค้างแรมที่ไหน

ยามนึกถึง พุทธศาสนามหายาน เราจะนึกถึงภาพพระเซนนั่งอยู่ในกระท่อมไม้ในป่าลึกที่ปกคลุมด้วยหิมะ สวนหินแบบเซนให้ความรู้สึกของความเงียบงันอันลุ่มลึก ศาสตร์การต่อสู้และการฝึกกายฝึกใจอย่างเข้มงวดของพระวัดเส้าหลิน นักรบซามูไรของญี่ปุ่น และรูปพระโพธิสัตว์กวนอินของจีน เป็นต้น จินตนาการแบบมหายานเปิดขอบฟ้าของความเป็นไปได้อย่างไม่มีจำกัด ก่อให้เกิดภาพซ้อนเหลื่อมกับพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลที่หลากหลายมากขึ้น อุดมคติของมหายานคือการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ความกรุณา และการอุทิศตนเพื่อยังประโยชน์ให้คนอื่นก่อนตนเอง ทำให้หลักธรรมคำสอนกลายเป็น “หัวใจ” ที่สามารถอยู่กับความทุกข์ตรงหน้า

มหายานเป็นรูปแบบพุทธศาสนาที่ได้รับการนับถือศรัทธาโดยประชากรส่วนใหญ่ในประเทศแถบตอนเหนือของอินเดียขึ้นไป ได้แก่ เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และมองโกเลีย  หากดูจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ดินแดนเหล่านั้นมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศแตกต่างไปจากอินเดีย กล่าวคือผืนดินที่มีความสูงกว่าระดับทะเลค่อนข้าง มาก ภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบ มีฤดูกาลครบทั้งสี่ฤดู โดยเฉพาะฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นและหิมะตก ลักษณะของป่า พืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิต มีความแตกต่างจากที่พบเห็นในแถบเส้นศูนย์สูตร  การเดินทางของผู้ปฏิบัติมหายานที่ออกห่างจากวัฒนธรรมอินเดีย สะท้อนเสรีภาพ แรงบันดาลใจในการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ และความเป็นตัวของตัวเองของผู้ปฏิบัติในฐานะนักรบทางจิตวิญญาณ คำสอนมหายานเปิดกว้างต่อความรู้สึก ความปรารถนา และความคิดสร้างสรรค์ โดยมีอุดมคติของการปลดปล่อยเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์เป็นหมุดหมายสำคัญ ส่งผลให้การตีความพระธรรมวินัยของฝ่ายมหายานมีลักษณะเปิดกว้างและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์อันท้าทายของชีวิต

ยามนึกถึง พุทธศาสนาวัชรยาน เราจะนึกถึงความสูงเสียดฟ้าของเทือกเขาหิมาลัย ภาพโยคีที่ปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฏ์อยู่ตามเถื่อนถ้ำ เทือกเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม รายรอบด้วยทะเลทรายห่างไกลจากผู้คน นักบวชเร่ร่อนที่เดินทางไกลจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง ภาพวาดพระพุทธเจ้าสีสันฉูดฉาดตามผนังหิน ภาพคุรุ ทวยเทพ ธรรมบาล ธงมนตร์ เครื่องรางประกอบพิธีกรรม ภาพยักษ์ ปีศาจ ภูตผีที่ดุดัน เป็นต้น  ภูมิทัศน์ทางศาสนาสัมพันธ์อยู่กับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่รุนแรง ความไม่แน่นอน ความเป็นความตาย ภัยธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย

วัชรยานเป็นรูปแบบพุทธศาสนาที่ได้รับการนับถือศรัทธาโดยประชากรส่วนใหญ่ในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัย เช่น ลาดัก สิกขิม เนปาล ภูฏาน และทิเบต ภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงสลับกับทะเลทราย มีหิมะปกคลุมตลอดปี ร้อนก็ร้อนจัด หนาวก็หนาวจัด แทบไม่มีพืชพันธุ์ใดๆงอกงามได้ ความดิบของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์และจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนามหายานที่วิวัฒน์ไปสู่วัชรยาน อันมีหัวใจอยู่ที่การแปรเปลี่ยนกิเลส ตัณหาและอารมณ์ของมนุษย์ให้กลายเป็นพลังแห่งการรู้แจ้ง

การเดินทางเข้าไปทำความรู้จักจักรวาลพุทธศาสนาทั้งในแบบเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ทำให้มุมมองของเราที่มีต่อการเผยแผ่พุทธธรรมนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า พุทธศาสนาเผยแผ่จากวัฒนธรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ราวกับเป็นสินค้าแบรนด์เนมที่กระจายจากศูนย์กลางการผลิตไปทั่วโลก โดยสินค้านั้นต้องได้รับการรับรองหรือรับประกันว่ามีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน อ้างอิงพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หรือประวัติศาสตร์แบบทางการที่ได้รับการเชื่อถือและยอมรับตรงกัน ทว่าในอีกมุมมองหนึ่ง พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยประสบการณ์ชีวิตและการลองผิดลองถูกของมนุษย์ จากการเดินท่องไปจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง การเผชิญสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และบริบทวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไป ส่งผลให้พุทธศาสนาพัฒนารูปแบบ อุบาย และคำสอนที่แตกต่างกันไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสถานที่

พลวัตของพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในทางประวัติศาสตร์สะท้อนถึงความพยายามในการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน วิพากษ์ และปฏิรูปพุทธศาสนาให้รักษาจิตวิญญาณแห่งการสละละวาง และการปลดปล่อยเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ขณะเดียวกันก็พัฒนาศักยภาพในหลักธรรมคำสอน และอุบายวิธีเพื่อเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงบริบทความทุกข์ที่หลากหลายได้ดียิ่งขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกชีวิตมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอยู่ในตัว ทุกสถานการณ์ทุกอารมณ์ และทุกผู้คนสามารถถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางการพัฒนาศักยภาพแห่งการรู้แจ้งได้ จนกลายเป็นวิถีพุทธธรรมที่แสดงออกถึง การปลดปล่อย (liberation) ส่งเสริมศักยภาพ (empowerment) ให้ความเคารพต่อเสรีภาพ (freedom) และส่งเสริมความเป็นมนุษย์ (humanization) อันสะท้อนถึงคุณค่าและความหมายของ “พุทธะ” โดยรากกำเนิด

เรื่องโดย วิจักขณ์ พานิช
สิงหาคม