ผู้เขียน หัวข้อ: ร่างคำอภิปราย-เรื่องร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ  (อ่าน 2379 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
เริ่มคำอภิปราย...................................

เรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ

       ผมขอกราบเรียนท่านว่า ท่านนายกอภิสิทธิ์  ท่านถนัดในการสร้างเรื่องขัดแย้งไปเสียทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในหรือนอกประเทศเช่นกับเขมร เป็นต้น  ความขัดแย้งสิ่งหนึ่งที่ท่านกำลังก่อขึ้นขณะนี้ก็คือ การที่ท่านนายกพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข   ชื่อฟังดูดีครับ เหมือนชื่อท่านนายก แต่ตัวจริงซิครับ คนละเรื่องเดียวกันเลยทีเดียว เพราะร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างผู้ผลักดันที่อ้างตัวว่ามาจากภาคประชาชนทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องกับผู้ค้านคือบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ  เพราะอะไรหรือครับ ท่านนายกทราบหรือไม่ว่าบุคลากรสาธารณสุขเขาไม่สบายใจเรื่องอะไรในร่างกฎหมายฉบับนี้  เจตนารมณ์เขียนเสียสวยหรูว่าเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการ  นี่ยังไม่ทันออกมาเป็นกฎหมายก็ขัดแย้งทะเลาะกันจะตีกันตายแล้ว  แล้วนายกยังดื้อดึงว่าจะผลักดัน  ซึ่งงานถนัดเขาละครับพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนตอนดื้อออกกฎหมายฟิล์มกรองแสงรถยนต์ที่ประชาชนเขาด่ากันทั่วเมืองให้รถเก่าไปลอกฟิล์มเก่าให้หมด จำกันได้ไหมครับ ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนภายหลังเลย  ท่านนายกท่านชอบความรุนแรงหรือครับที่เห็นคนทะเลาะกัน ท่านเคยยกความขัดแย้งไทยเขมรต่อยูเนสโกว่าไม่ควรเสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก  แล้วทำไมความขัดแย้งเรื่องร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯฉบับนี้ท่านทำไมไม่หยุดผลักดันเสียก่อน  แบบนี้ท่านนายกมีสองมาตรฐานหรือไม่  ทำไมไม่ลดความขัดแย้ง ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ก่อนถึงค่อยผลักดันต่อไป  

     ต่อไปนี้ผมขอชี้ให้เห็นข้อมาตราในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าบุคลากรสาธารณสุขเขากังวลอะไรกัน  ตามร่างพ.ร.บ.ของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นร่างหลัก  ซึ่งเขาเหล่านี้เป็นกำลังหลักของรัฐที่ช่วยดูแลสุขภาพของเราทุกคน ก็ควรเอาใจใส่เขาบ้าง ไม่ทอดทิ้งให้พวกเขากลัดกลุ้มใจกับร่างพ.ร.บ.นี้  เริ่มจากมาตรา 6 ในข้อที่ 2  บ่งบอกว่าความเสียหายที่ฟ้องร้องได้นั้น ต้องเกิดจากการให้บริการไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่พึงหลีกเลี่ยงได้    ท่านประธานลองคิดดูครับว่า  ประเทศเรายังขาดแคลนบุคลากร เช่น หมอ และพยาบาล และอุปกรณ์ทางการแพทย์  ประชาชนก็มารับบริการจนล้นมือ  ทำให้คุณหมอมีเวลาจำกัดในการตรวจรักษา บางทีตรวจใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีต่อคนไข้หนึ่งคน  แบบนี้มันไม่เป็นมาตรฐานวิชาชีพอยู่แล้ว  เท่ากับพวกเขาพร้อมจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำความเสียหายต่อคนไข้ได้ตลอดเวลา  ร่างพ.ร.บ.แบบนี้ถูกเขียนมา ให้ใช้กับประเทศที่มันพัฒนาแล้วที่คน และอุปกรณ์พร้อม  จะมาใช้กับบ้านเมืองเราได้อย่างไร  แบบนี้เท่ากับบีบให้เขาทำงานหนัก แต่ใช้กฎหมายบีบให้เขาระวังเดี๋ยวจะถูกกล่าวหาเป็นจำเลย   แบบนี้คนทำงานไม่ตายหรือครับ  อ้างว่าร่างพ.ร.บ.ไม่ชี้ถูกผิด  แต่มีบทลงโทษพวกเขาเยอะแยะ  เช่นมาตรา 46  มีลงโทษจำคุก 6เดือนหรือปรับหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ ศาลเตี้ยไปในตัว  หรือมาตรา 21 มีบทลงโทษว่า ถ้าถูกฟ้องร้องมากก็จะต้องถูกเก็บเงินสมทบกองทุนของร่างพ.ร.บ.นี้เพิ่ม   มีการยึดหรืออายัดทรัพย์ถ้าไม่จ่ายเงินสมทบ ทำเหมือนกับพวกเขาทำความผิดค้ายาบ้ายาเสพติด  จ่ายเงินสมทบไม่ทัน ต้องถูกปรับคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน  เน้นย้ำนะครับ ร้อยละ 2 ต่อเดือนจริงๆเขียนไว้ เท่ากับร้อยละ 24 ต่อปี  โหดขูดรีดเหมือนเงินกู้นอกระบบเลย  ไม่ทราบว่าเขียนกฎหมายกลั่นแค้นมาจากไหนกัน    แถมยังไปหลอกบุคลากรสาธารณสุขอีกว่ามีมาตรา 45 ช่วยลดโทษหรือเว้นโทษทางอาญาให้   แต่ขอโทษครับท่านประธาน  ต้องสำนึกผิดเสียก่อน ถึงจะลดหรือเว้นโทษทางอาญาให้นะครับ  แบบนี้ไม่ต่างกับสมัยโบราณที่ต้องทรมานนักโทษจนกว่าสารภาพผิด ถึงจะหยุดทรมาน  นี่มันยุคประชาวิวัฒน์ของท่านนายกหรือนี่ หรือกลับไปยุคโบราณบีบให้เขาจำยอม  นอกจากนี้ความกังวลของพวกเขายังมีมาตรา 7 ที่สัดส่วนคณะกรรมการ ไม่เป็นธรรมกับพวกเขาที่มีจำนวนตัวแทนวิชาชีพของพวกเขาน้อยมาก แต่มาตัดสินที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาชีพทางการแพทย์   ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ความรู้ทางนี้ไม่สันทัด ตัดสินเอาเท่าที่สมองรับรู้ได้แค่ไหน แต่กลับตัดสินโดยใช้เสียงข้างมาก แทนที่จะสู้ด้วยเหตุผลตามความรู้จริงๆ      ผู้ให้บริการ เห็นแบบนี้ เขากลัวจริงๆครับว่าจะกลายเป็นจำเลยง่ายๆ  ยิ่งตอนนี้เครือข่ายผู้ผลักดันโหมโฆษณาอย่างหนักว่าให้สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพราะได้รับเงินเยียวยาง่ายและรวดเร็ว  จบเห่กันละครับ    มักง่ายกันแบบนี้  ไม่แปลกใจละครับว่าทำไมบุคลากรทางการแพทย์ถึงได้กลัวว่าต้องตกเป็นจำเลยง่ายๆ เพื่อสนองภารกิจนี้  แม้จะอ้างว่าผู้ให้บริการไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยเอง มีกองทุนจ่ายแทน  แต่ผู้ให้บริการต้องรับภาระมาให้ปากคำของเรื่องที่ถูกฟ้อง  เสียเวลา เสียงาน      และถ้าโชคไม่ดี    ผู้เสียหายไม่ยอมรับเงินชดเชย จะฟ้องแพ่ง หรือฟ้องอาญาต่อ   ก็เอาคำตัดสินของคณะกรรมการของร่างพ.ร.บ.นี้  ว่าผู้ให้บริการทำให้เสียหายไปอ้างฟ้องต่อศาลได้อีก ซึ่งคณะกรรมการนี้มีความน่าเชื่อถือเพราะประธานคือรมต.สาธารณสุข  ตรงนี้ที่บุคลากรสาธารณสุข กังวลกับความไม่เป็นธรรม จากเดิมเขายอมรับที่ถูกตัดสินจากสภาวิชาชีพของเขา เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล เป็นต้น  
 
      ที่น่าตลกแต่ ตลกไม่ออก ก็คืออายุความในการฟ้องร้อง  ตามมาตรา 25 กำหนดว่าผู้เสียหายมีสิทธิ์ยื่นฟ้องได้ภายใน 3 ปี  นับตั้งแต่ที่ผู้เสียหายรู้ตัวว่าเกิดความเสียหาย  โดยอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่รู้ตัวว่าเกิดความเสียหาย เหมือนกัน  ท่านครับ  ปัญหาคือ แล้วเมื่อไหร่ผู้เสียหายจะรู้  ซึ่งมันล่องลอยมาก  ไม่แน่นอน   แบบนี้มันไม่มีอายุความแล้วครับท่าน  นี่ยังไม่พอนะครับ  ทายาทมีสิทธิ์ฟ้องด้วย  แบบนี้เวชระเบียนที่เป็นหลักฐานสำคัญทางคดี จะเก็บกันอย่างไร เพราะต้องเก็บไปจนกว่าผู้เสียหายตาย  หรือที่ร้ายกว่านั้น ต้องเก็บไปจนกว่าทายาทของผู้เสียหายตายด้วย  แถมตายแล้วก็ไม่ได้มาบอกโรงพยาบาลด้วย แบบนี้ต้องเก็บไปเรื่อยๆข้ามศตวรรษเลยกระมัง  เป็นภาระกับสถานพยาบาลมากนะครับท่าน  แม้ว่าจะอ้างว่าลอกมาจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับผู้ป่วยไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบผู้ให้บริการกับผู้บริโภคเลย  เพราะปกติผู้ให้บริการทั่วไปสามารถปฏิเสธการขายสินค้าหรือบริการก็ได้   แต่บุคลากรสาธารณสุขเช่นคุณหมอ ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้เลย  ซึ่งก็เสี่ยงเกิดความผิดพลาดและถูกฟ้องร้องตามมาได้   ดังนั้นเขียนกฎหมายทั้งที ช่วยเขาหน่อยครับ อย่ากดดันนักเลยครับ  ไม่ใช่หนีเสือมาปะจระเข้แบบนี้   มาเจอกฎหมายไม่มีอายุความแบบนี้  

      จากความกดดันทั้งหมดต่อผู้ให้บริการ  จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง  เพราะผู้ให้บริการเช่นคุณหมอ จะลังเลในการรักษา  หรือพยายามหลีกเลี่ยงการรักษาที่เสี่ยง  โดยส่งต่อไปที่อื่น  ทำให้ประผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า   สุดท้ายทำให้ผู้ป่วยตายหรือพิการเพิ่มขึ้น   การฟ้องร้องก็ยิ่งเพิ่มขึ้น   เพราะคนเห็นช่องทางว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้เงินง่าย  ฟ้องไปก่อนไม่เสียหายกับตนเอง   แบบนี้ซวยทั้งคู่ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ    เสียดายที่บุคลากรสาธารณสุขตั้งความหวังกับท่านนายกมาก  เพราะเห็นว่าท่านเกิดในครอบครัวแพทย์ที่มีบิดาเป็นถึงปูชนียบุคคลทางการแพทย์  กลับพยายามออกกฎหมายที่จะทำลายวงการสาธารณสุข เพราะยังไม่พร้อมทั้งจำนวนบุคลากร และอุปกรณ์เลย  มากดดันคนทำงาน    และเมื่อไม่มีใครสามารถหยุดความกังวลของแพทย์ได้  สุดท้ายหมอก็ต้องใช้วิธีตรวจผู้ป่วยนานขึ้นเพื่อระวังตัว   เพราะร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กดดันและบังคับให้ทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพมากขึ้น  ผู้ป่วยจะไม่ได้รับความสะดวกเหมือนแต่ก่อน ต้องรอคิวยาวมาก  ท่านนายกจะแก้อย่างไร  ดังนั้นที่มีกลุ่มแพทย์ที่ประกาศว่าจะนำร่องตรวจผู้ป่วย 15 นาทีต่อคน ก็เพราะเขาหวังดีอยากให้ประชาชนรับรู้ผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.นี้  กลับไปกล่าวหาว่าพวกเขาเอาประชาชนเป็นตัวประกัน  ถามว่าท่านนายกรู้ไหมว่าจะต้องเกิดแบบนี้แน่นอนในอนาคตถ้าพ.ร.บ.นี้ออกมา ท่านกล้ารับประกันได้หรือว่าจะไม่เกิดขึ้น ผมว่าท่านหรือใครก็ไม่กล้าอยู่แล้ว  แล้วทำไมไม่ให้พวกเขาทำนำร่องให้ดู  เท่ากับปิดหูปิดตาประชาชนหรือไม่
                                                                            
      นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.นี้ยังซ่อนกลวิธีแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนเยียวยา  โดยตามมาตรา 22 กล่าวว่าเงินสมทบไม่ต้องส่งคืนคลัง  แสดงว่าเงินยิ่งพอกพูน  ซึ่งคณะกรรมการกองทุนยิ่งได้ผลประโยชน์  เพราะตามมาตรา 20 อนุญาตให้คณะกรรมการใช้เงินได้ถึงร้อยละ 10 ของเงินกองทุน  ซึ่งเข้าล็อคเครือข่ายผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.นี้ที่หวังได้เป็นกรรมการในกองทุนนี้  เพราะยิ่งมีผู้เสียหายฟ้องมาก  ยิ่งเก็บเงินสมทบมากขึ้น  ไม่ต้องส่งคืนคลัง เงินกองทุนยิ่งมากขึ้น  มีสิทธิ์ใช้ ร้อยละ 10 ก็ยิ่งมีสิทธิ์ใช้เงินมากเป็นเงาตามตัวตามขนาดที่ใหญ่ขึ้นของเงินกองทุน  คณะกรรมการมีสิทธิ์อยู่ในตำแหน่งได้ติดต่อกันสูงสุดคือ 8 ปี  คงอ้วนท้วนกันน่าดู    แบบนี้เข้าข่ายอยู่บนภู  ดูเสือกัดกันเสร็จ แล้วค่อยลงมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์  นั่นคือเอาประชาชนกับบุคลากรสาธารณสุขตีกัน  แล้วตัวเองคือคณะกรรมการสบายไปเลย

     ล่าสุด ฝ่ายเครือข่ายผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ใช้วิธีการไม่สุจริต และเจตนาร้าย โดยการ เผยแพร่ข้อมูลเท็จในเฟสบุคหลอกลวงประชาชนว่า  โรงพยาบาลทั่วประเทศทำคนไข้ตาย 1 คนในทุก 6 คนที่ตายในโรงพยาบาล  และลงสถิติหลอกลวงว่า ในปีพ.ศ. 2549 โรงพยาบาลทั่วประเทศทำผู้ป่วยตายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งจากความผิดพลาดทางการแพทย์ถึง 65,000 คน  มากกว่าการตายจากโรคมะเร็ง  อุบัติเหตุและโรคหัวใจเสียอีก  ไม่ทราบว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านจุรินทร์  จะเอาหน้าไปวางไว้ไหน ถ้ายอมรับข้อมูลนี้  ซึ่งท่านต้องแถลงชี้แจงออกมา  และต้องจัดการการให้ข้อมูลเท็จนี้ด้วย  ซึ่งล่าสุดก็ชัดเจนแล้วว่ามีคุณหมอที่ถูกแอบอ้างงานวิจัยไปทำข้อมูลเท็จนี้ออกมาชี้แจงแล้วว่า  ไม่ถูกต้อง ถือเป็นการให้ข้อมูลเท็จกับประชาชน  นอกจากนี้ยังไปชี้นำประชาชนอีกว่า การฟ้องร้องหมอนั้นช้า เสียเวลา โอกาสชนะน้อย ใช้เงินเยอะ  สู้มีพ.ร.บ.นี้ไม่ได้  ได้เงินเร็ว  ขอโทษนะครับ  ฟังดูรู้สึกว่าพ.ร.บ.นี้ มักง่ายไปหน่อยนะครับ  การเก็บเงินสมทบกองทุนนี้ก็สร้างปัญหาให้กับประชาชน เพราะต้องเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องถูกบวกไปในค่ารักษาเพิ่มขึ้น  ประชาชนต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น   ส่วนโรงพยาบาลของรัฐที่ต้องจ่ายเงินสมทบ  ถ้ารัฐบาลจ่ายให้แทนทั้งประเทศ ก็ต้องบั่นทอนภาระทางการเงินของประเทศแน่นอน จะกล้าทำหรือไม่ เพราะต้องเสียไปโดยไม่ได้พัฒนาให้งอกเงยอะไร   ถ้ารัฐไม่อุดหนุนเงินแทนให้  โรงพยาบาลของรัฐก็ขาดเงินมาซื้อยาดีๆและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยใช้ สุดท้ายกรรมก็ตกอยู่ที่ประชาชน  แล้วแบบนี้ผมจะสามารถวางใจท่านนายกที่จะผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯที่ชื่อดูดีแต่ผลที่ได้ทำความเสียต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไปได้อย่างไร

..................................................................จบคำอภิปราย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กุมภาพันธ์ 2011, 14:12:53 โดย seeat »