ผู้เขียน หัวข้อ: "แพทยสภาปกป้องทั้งคนไข้-แพทย์"  (อ่าน 2042 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
"แพทยสภาปกป้องทั้งคนไข้-แพทย์"
« เมื่อ: 23 กุมภาพันธ์ 2011, 23:16:17 »
รับตำแหน่งนายกแพทย สภาคนใหม่อย่างเต็มตัวและสมศักดิ์ศรี ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภาวาระ พ.ศ.2554-2556 วัย 65 ปี หลังได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการแพทยสภาจากแพทย์ทั่วประเทศด้วยคะแนน อันดับ 2 ได้รับเลือกจากคณะกรรมการแพทยสภาด้วยคะแนน 33 เสียงจาก 52 เสียงให้เป็นนายกแพทยสภา และศาลปกครองยกฟ้องกรณีมีผู้ร้องว่าการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาไม่โปร่งใส

ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ หรือ "หมออำนาจ" เคยรับตำแหน่งเลขาธิการแพทยสภาในปี 2550-2552 และอุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 ถึง 2 วาระ แม้จะเป็นนายกแพทยสภาในยุคที่ภาพของแพทย์ถูกมองในทางลบมากขึ้น แต่ “หมออำนาจ” บอกด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “ไม่หนักใจ แต่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขให้ได้”

 หากจะย้อนถึงจุดหักเหที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้แปร เปลี่ยนจาก ญาติมิตร เป็น คนแปลกหน้า หมออำนาจ เล่าว่า ปรากฏการณ์แบบนี้เริ่มเด่นชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นผลจากการที่แพทย์ไม่มีศิลปะในการสื่อสารให้คนไข้เข้าใจแนวทางการ รักษาที่เป็นเทคนิคเฉพาะ บวกกับในระยะหลังแพทย์ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยจำนวนมากที่แห่เข้ารับการรักษาใน โรงพยาบาล ภาระงานแพทย์เท่าทีวีคูณ เวลาตรวจรักษาต่อคนจึงน้อยมาก การพูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบใกล้ชิดแบบญาติด้วยความห่วงใยจึงค่อยๆ ลดน้อยลง 

 "แพทย์เป็นวิชาชีพที่ทำงานกับร่างกายมนุษย์ที่มีความซับซ้อนและละเอียด อ่อน เมื่อแพทย์ไม่ได้อธิบาย หรือสื่อสารให้เข้าใจ คนไข้ก็จะไม่รู้และไม่เข้าใจว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิต เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทางการแพทย์ กลับกลายเป็นเข้าใจว่าเป็นความผิดของแพทย์ทั้งหมด จนนำสู่การฟ้องร้องแพทย์" หมออำนาจกล่าว

 แนวทางในการแก้ปัญหานี้ แพทยสภาจะ เดินหน้าด้วยการเน้นหลักสูตรจริยธรรมแพทย์ตั้งแต่เป็นนักศึกษา รวมถึงสนับสนุนการฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อให้เป็นแพทย์ประจำครอบ ครัว สามารถดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและผูกพัน จากที่ปัจจุบันมีแพทย์สาขานี้จำนวนไม่มากและไม่เพียงพอ แต่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...  "ไม่ใช่คำตอบในเรื่องนี้"

 หมออำนาจ แพทย์ที่มีดีกรีนิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิตไทยและวุฒิบัตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (ศาลยุติธรรม) พ่วงด้วย ขยายความว่า หากเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาที่ดีและเหมาะสมจริงๆ ก็จะเป็นประโยชน์ แต่เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันยังไม่ใช่คำตอบของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์ และผู้ป่วยหรือลดการฟ้องร้องแพทย์ เนื่องจากยังมีเนื้อหาสาระที่ไม่เหมาะสม จึงควรนำมาปรับปรุงแก้ไขและทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร จะหยิบวาระนี้ขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้ได้กฎหมายที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรปรับปรุงใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินที่ยังมีรายละเอียดที่ยากแก่การตีความ อาจทำให้คนไข้เข้าใจผิดว่าหากเกิดเหตุไม่ประสงค์จากการรักษาสามารถรับเงิน ได้ทั้งหมด เมื่อไม่ได้ก็ไปฟ้องร้อง 2.องค์ประกอบของคณะกรรมการทั้งชุดใหญ่และเล็กยังไม่มีความเหมาะสม และ 3.ภายหลังการจ่ายเงินแล้ว การยุติการฟ้องร้องไม่เป็นรูปธรรม

 การขับเคลื่อนจากนี้แพทยสภาได้ ประสานงานกับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จัดสัมมนาและประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ร่วมกัน ตามที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาลเคยมอบหมายให้กระทรวง สาธารณสุขดำเนินการ โดยจะเริ่มวันที่ 1 มีนาคม ในภาคใต้เป็นภูมิภาคแรก จากนั้นจะวนไปจนครบ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจะสอบถามความคิดเห็นทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ และจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด หากแล้วเสร็จจะนำเสนอผลการประชาพิจารณ์ต่อรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อใช้ประกอบในการดำเนินการต่อไป

 "อยากให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และวิปรัฐบาลชะลอการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมาพิจารณาในวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎรไว้ก่อน เพื่อรอผลการทำประชาพิจารณ์ เพราะการพิจารณาเรื่องนี้ไม่ใช่วาระด่วนที่จะต้องเร่งรีบ แต่ควรเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติ หากได้ร่าง พ.ร.บ.ที่ดีและมีประโยชน์ที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ยอมรับได้" หมออำนาจ กล่าว

 ยิ่งกว่านี้ แพทยสภาใน ยุค หมออำนาจ จะผลักดันเรื่องค่าตอบแทนแพทย์ให้เหมาะสมกับภาระงาน เสนอแยกบัญชีเงินเดือนแพทย์ออกมาจากระบบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือน (ก.พ.) แก้ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ทางอาญา ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทางการแพทย์และสาธารณสุข และเร่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดและวิธีพิจารณาความเพื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

 สำหรับการคุ้มครองประชาชน แพทยสภาจะ เสนอคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. ให้ดำเนินการช่วยเหลือโรงพยาบาลเล็กๆ ในต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาการมีหนี้สิน จนทำให้ขาดแคลนและไม่มียาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์มาช่วยประชาชน อีกทั้งเสนอช่องทางช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล โดยเพิ่มการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศและเพิ่มเพดานการจ่ายเงิน

 คดีจริยธรรมที่ประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่อง แพทย์รักษาไม่ดีไม่ถูกต้อง จะมีอนุกรรมการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนแห่งแพทยสภา โดยมีระบบดูแลประชาชนที่เข้าใจว่าแพทย์มีพฤติกรรมผิดจริยธรรม อาจนำไปสู่การเปลี่ยนใจไม่ร้องเรียนหากเข้าใจการทำงานของแพทย์ แต่กรณีที่แพทย์เข้าข่ายการกระทำผิดจริยธรรม จะเร่งรัดขั้นตอนการพิจารณาความผิดให้แต่ละคดีเสร็จภายใน 1 ปี

 “แพทยสภาเป็น องค์กรที่มุ่งดูแล ปกป้อง คุ้มครองทั้งประชาชนและแพทย์อย่างเท่าเทียมกัน แพทย์ที่ทำหน้าที่ที่ดีต้องได้รับการปกป้อง ขณะเดียวกันแพทย์ที่ทำผิดต้องได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสม และในช่วงที่ผมอยู่ในตำแหน่งจะแก้ไขปัญหาการมองแพทย์ในแง่ลบให้ได้ จะทำให้ประชาชนเข้าใจแพทย์ และแพทย์เข้าถึงประชาชน" หมออำนาจ ให้ความเชื่อมั่น

คม ชัด ลึก
22 กุมภาพันธ์ 2554