ผู้เขียน หัวข้อ: อุ้มบุญ “น้องแกรมมี่” ปลายยอดธุรกิจค้ามนุษย์ “หมอ” ทำผิดกม.ชัดเจน  (อ่าน 730 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รายงานพิเศษ
       
       น้อง “แกรมมี่” ทารกเพศชายชาวออสเตรเลีย วัย 6 เดือน ที่ถือกำเนิดขึ้นด้วยวิธีการ “อุ้มบุญ” กำลังกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เห็นใจ กระทั่งส่งผลทำให้ขณะนี้ยอดบริจาคพุ่งทะลุกว่า 6 ล้านบาท แล้ว
       
       กล่าวสำหรับน้องแกรมมี่นั้น เป็นเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญโดยที่พ่อและแม่ชาวออสเตรเลียได้ว่าจ้าง “ภัทรมน จันทร์บัว” หญิงสาวชาวไทยวัย 21 ปี ผู้รับอุ้มบุญเด็ก แต่กลับทอดทิ้งน้องแกรมมี่ให้อยู่กับผู้รับจ้างตั้งครรภ์ภายหลังจากที่ทราบว่าน้องแกรมมี่ป่วยเป็นดาวน์ซินโดรม
       
       อีกทั้งประเด็นดังกล่าวยังสาวโยงไปถึงแพทย์ผู้รับทำอุ้มบุญที่มีส่วนพัวพันกรณีอุ้มบุญนี้ด้วย โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการยื่นเรื่องต่อแพทย์สภาให้มีการตรวจสอบแพทย์ผู้ทำอุ้มบุญดังกล่าวและแพทย์ผู้ที่เป็นเจ้าของคลินิก “เอส เอ อาร์ ที” ที่ได้ให้บริการแก่บุคคลที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งถือว่ามีความผิดตามมาตรา 34 (2) พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ชัดเจน
       
       อย่างไรก็ตาม กรณีอุ้มบุญได้ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อนางสาวภัทรมน จันทร์บัว อายุ 21 ปีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้ออกมาแฉธุรกิจอุ้มบุญผ่านสื่อต่างๆว่าเธอรับจ้างเป็นแม่อุ้มบุญแต่กลับต้องกลายเป็นผู้เลี้ยงเด็กที่เกิดมาไม่สมบูรณ์ โดยเหตุที่ต้องรับจ้างตั้งท้องนางภัทรมนเล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่เธอมีปัญหาเรื่องหนี้สิน ต่อมาภายหลังก็ได้มีเอเย่นต์มาติดต่อให้เธออุ้มท้องแทนผู้อื่น กระทั่งได้มีการปรึกษากับสามีจนนำไปสู่การยอมรับการว่าจ้างดังกล่าว ด้วยความเข้าใจว่าเป็นการท้องโดยไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น
       
       “มีการตกลงค่าจ้างที่ 3.5 แสนบาท แล้วเอเย่นต์ได้พามาที่กรุงเทพฯ เพื่อตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จากนั้นก็นำเด็กที่ผสมเทียมจากเชื้ออสุจิของชายชาวออสเตรเลีย กับไข่ของสาวชาวจีน ฉีดฝังเข้าไปที่มดลูก กระทั่งเมื่อเข้าเดือนที่ 3 ผลตรวจเลือดออกมาเป็นบวกจนผิดปกติ ก็ตรวจพบว่า ลูกเป็นแฝดชายหญิง เอเย่นต์บอกจะให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นบาท แต่พอเดือนที่ 4 เอาน้ำคร่ำไปไปตรวจพบว่า เด็กคนหนึ่งเป็นดาวน์ซินโดรม แต่หมอ และเอเย่นต์ไม่ยอมบอกเรื่องเด็กเป็นดาวน์ซินโดรม มีแต่บอกให้ไปทำแท้ง แต่ตนไม่ยอมทำ เพราะกลัวบาป กระทั่งเด็กคลอด เอเย่นต์ได้เอาเด็กผู้หญิงที่ไม่เป็นดาวน์ซินโดรมไปทันที ทิ้งเด็กชายที่ป่วยไว้ให้เลี้ยง โดยที่เอเย่นต์ไม่ยอมจ่ายเงินที่เหลืออีก 7 หมื่นบาทให้ ซึ่งเหตุผลที่ไม่ได้ทำแท้งก็เพราะสำนึกกลัวบาปตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา”
       
       “อีกทั้งน้องแกรมมี่เป็นโรคหัวใจมาแต่กำเนิด และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แม้เด็กที่เกิดมาจะไม่มีเลือดเนื้อของตนเองเลย แต่ก็รู้สึกรัก เพราะอุ้มท้องมาตลอด 9 เดือน และคลอดออกมาเอง และอยากจะเตือนผู้ที่คิดจะทำธุรกิจประเภทนี้ว่า อย่าเห็นแก่เงินค่าจ้าง เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ไม่เพียงเด็กที่เกิดมาจะกลายเป็นภาระสังคมแล้ว ยังเป็นภาระของแม่อุ้มบุญที่ไม่ต้องการมีลูกอีกด้วย เพราะการเป็นแม่ต้องเป็นโดยสัญชาตญาณ ไม่ใช่เพียงแค่รับจ้างอุ้มบุญเท่านั้น”
       
       และด้วยเหตุสำนึกความเป็นแม่ที่เฝ้าอุตส่าห์อุ้มท้องเด็กฝาแฝดมาตลอด 9 เดือน จนถึงคราวที่รับรู้ว่าเด็กชายอีกคนหนึ่งในท้องได้ป่วยเป็นดาวน์ซินโดรม กอปรกับที่เธอมีจิตใจเมตตา ละอายใจแก่บาป ทำให้เธอรับเลี้ยงน้องแกรมมี่ไว้แม้ว่าหนี้สินจะท่วมท้นและอยู่อย่างอัตคัดก็ตาม
       
       ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นนี้เองจึงทำให้ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเอบีซี นิวส์ ที่ได้ทราบเรื่องดังกล่าวได้เดินทางมาสัมภาษณ์นางสาวภัทรมน ผู้อุ้มบุญน้องแกรมมี่ กระทั่งทำการเผยแพร่ออกไป ผู้คนทั่วโลกได้มีการติดต่อเข้ามาขอบริจาคเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลจนขณะนี้ยอดพุ่งขึ้นเป็น 6 ล้านบาท (3ส.ค.57)
       
       ส่วนทางด้านผู้ว่าจ้างนั้น สำนักข่าวเอบีซี นิวส์ รายงานว่า นางเฮเลน มอร์ตัน รัฐมนตรีปกป้องสิทธิเด็กแห่งรัฐออสเตรเลีย ตะวันตก ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านวิทยุ “แฟร์แฟกซ์” ของออสเตรเลียเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดี 7 ส.ค. โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานปกป้องสิทธิเด็ก ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายเดวิด วัย 56 ปี และนางเวนดี้ ฟาร์เนลล์ ชาวเมืองบันเบอรี คู่สามีภรรยาที่เป็นบิดามารดาของน้องแกรมมี่แล้ว แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดของการพูดคุยและเปิดเผยถึงสถานที่พำนักของคู่สามีภรรยา ซึ่งทั้งคู่หนีหน้าหายไปตั้งแต่ น.ส.ภัทรมน ออกมากล่าวหาว่าทั้งคู่ทิ้งเด็กชายแกรมมี่ ซึ่งเป็นคู่แฝดพี่น้องกับเด็กหญิงอีกคน ภายหลังรู้ว่าเด็กชายแกรมมี่ เป็นดาวน์ซินโดรมและมีปัญหาโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด
       
       นางมอร์ตันอ้างว่าจนถึงขณะนี้ทางการออสเตรเลียอยู่ระหว่างประเมินศักยภาพของคู่สามีภรรยาฟาร์เนลล์ ว่าจะเลี้ยงดูแลเด็กหญิงคู่แฝดของเด็กชายแกรมมี่ได้ดีหรือไม่
       
       เรื่องสะเทือนใจของการอุ้มบุญที่เกิดขึ้นก็คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำธุรกิจซึ่งทำเป็นกระบวนการ โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ประหนึ่งเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง สังคมจึงมีการตั้งคำถามไปถึงจรรยาบรรณของแพทย์ผู้ทำอุ้มบุญน้องแกรมมี่ครั้งนี้ เพราะสืบไปสืบมาไม่ใช่มีแค่กรณีของน้องแกรมมี่เท่านั้น หากแต่ยังพบการทำธุรกิจอุ้มบุญของหญิงไทยให้ชาวต่างชาติอีกเป็นจำนวนไม่น้อย และกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า ชณะนี้มีเด็กเกิดจากอุ้มบุญตกค้างในไทยกว่า 50 ราย
       
       ตัวอย่างล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นคึกโครมก็คือ กรณีทารก 9 คนที่เกิดจากการอุ้มบุญของหญิงไทยโดยมีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ว่าจ้าง พร้อมมีพี่เลี้ยงคอยดูเเลเด็กอีก 9 คน ทนายความอีก 1 คน
       
       ที่น่าประหลาดไปกว่านั้นคือเด็กทั้ง 9 คนนั้นมีบิดาเป็นชาวญี่ปุ่นคนเดียวกัน และมาจ้างสาวไทยอุ้มบุญเพราะชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าวเป็นเศรษฐีนักธุรกิจที่เตรียมมาปักหลักลงทุนในเมืองไทย ต้องการมีทายาทไว้เลี้ยงดูในเมืองไทย
       
       ทั้งนี้ ในการประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนมีข้อมูลรายงานออกมาว่า ชายชาวญี่ปุ่นเจ้าของน้ำเชื้อ ชื่อนายชิเกตะ มิตซูโตกิ อายุ 24 ปี ขณะที่ในการสอบปากคำหญิงสาวที่ท้อง 7 เดือน 2 ราย ชื่อ น.ส.เอ และน.ส.บี (นามสมมติ) ให้การว่า รับจ้างอุ้มบุญจริง โดยนัดหมายให้ไปฉีดเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย ที่คลินิกย่านเพลินจิต ส่วนโรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์เด็กทั้ง 9 พบว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ย่านลาดพร้าว รามคำแหง พระรามเก้า
       
       ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้ออกมากล่าวชี้แจงภายหลังจากการประชุมอนุกรรมการบริหารแพทย์สภา ต่อกรณีการอุ้มบุญน้องแกรมมี่นี้ว่า แพทย์ทั้งสองคน ซึ่งก็คือ ผู้ที่ทำอุ้มบุญ และแพทย์ผู้ที่เป็นเจ้าของคลินิกที่ให้บริการที่มีชื่อว่า “เอส เอ อาร์ ที” ซึ่งถือว่าเข้าข่ายมีความผิด เนื่องจากมีการจ้างหญิงตั้งครรภ์แทนและไม่ใช่ญาติ ซึ่งผิดมาตรฐานบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่กำหนดชัดเจนว่า จะต้องไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์ หญิงที่ตั้งครรภ์ โดยหญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติทางสายเลือดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สำหรับการลงโทษคงไม่สามารถเอาผิดได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการเอาผิดจากแพทย์สภาก่อน เพื่อให้ความเป็นธรรม มิเช่นนั้นผู้ถูกร้องอาจฟ้องศาลปกครองได้
       
       “กระบวนการพิจารณาจะต้องเข้าสู่คณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา พิจารณาเบื้องต้นก่อน เมื่อเห็นว่ามีมูล จะส่งไปยังคณะอนุกรรมการจริยธรรม หากพิจารณาว่ามีมูล จะส่งเรื่องต่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาโทษ จากนั้นจึงส่งเข้าคณะกรรมการแพทยสภาเพื่อลงโทษ คาดว่าใช้เวลามาก ไม่สามารถเสร็จทันได้ภายในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า แพทย์ทั้ง 2 รายไม่ได้เป็นกรรมการในแพทยสภา หรือหากแพทย์ที่ถูกร้องเป็นกรรมการแพทยสภาจริง ก็จะพิจารณาเอาผิดโทษเช่นเดียวกัน โดยแพทย์ทั้ง 2 รายอยู่ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียง คาดว่าแพทย์ทราบว่าผิด แต่ที่ทำเพราะภูมิใจ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ยาก และอาจมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะค่าตอบแทนสูง
       
       “ระหว่างการพิจารณา แพทย์ที่ถูกดำเนินการไม่จำเป็นต้องหยุดทำหน้าที่ เพราะไม่มีอำนาจไปบังคับ แต่แพทยสภากำลังปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับแพทยสภา ให้มีอำนาจสั่งแพทย์ที่ถูกตรวจสอบให้หยุดการทำหน้าที่ได้ รวมถึงจะร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยปรับปรุงข้อบังคับแพทยสภา เรื่อง มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจะยึดตามหลักเกณฑ์เดิมคือ ไม่ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน” ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทย์สภาแจกแจง
       
       ทั้งนี้ สำหรับประกาศข้อบังคับแพทย์สภาในเรื่อง “มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” ก็ได้มีฉบับใหม่เพิ่มเติมใน 4 ประเด็น คือ 1.ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาว่ามีไข่บริจาค หรือมีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน หรือมีบุคคลประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้ตั้งครรภ์แทน 2. ห้ามทำเพื่อคู่สมรสเพศเดียวกันหรือไม่มีคู่สมรส 3. ห้ามสถานพยาบาลหรือผู้ให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เป็นคนกลาง หรือร่วมกับนายหน้าจัดการ หรือนำเสนอ จัดหา หรือนำเข้า-ส่งออกไข่ บริจาค หรือตัวอ่อนบริจาค หรือจัดหาสตรี เพื่อมารับตั้งครรภ์แทน และ 4. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นญาติโดยสายเลือด แต่ต้องไม่เป็นบุพการี หรือเป็นผู้สืบสันดารของคู่สมรส หรือเป็นภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยต้องเคยมีบุตรมาก่อน มีอายุระหว่าง 20 - 34 ปี สุขภาพแข็งแรง และการตั้งครรภ์ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองและทารกที่จะเกิดมา และจะมีการควบคุมจำนวนตัวอ่อนที่ฉีดเข้าไปในมดลูกหญิงรับตั้งครรภ์แทนด้วย เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการควบคุม ซึ่งการฉีดไข่หลายใบ อาจทำให้เกิดตัวอ่อนพร้อมกันหลายตัว อันส่งผลให้เด็กไม่แข็งแรง
       
       ถึงตรงนี้ คงต้องกล่าวว่า ชีวิตของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญโดยทำกันเป็นขบวนการค้ามนุษย์ตั้งแต่ตัวอ่อนนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่งนัก กรณีน้องแกรมมี่เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

 ASTVผู้จัดการรายวัน    9 สิงหาคม 2557