หมวดหมู่ทั่วไป > ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์

แจงยากลูโคซามีนไม่คุ้มค่า จึงไม่จัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

(1/1)

story:
 คณะ อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติออกโรงชี้แจงต่อสังคม ยากลุ่มกลูโคซามีนไม่มีความคุ้มค่า จึงไม่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยืนยันยาในบัญชียาหลัก มีให้เลือกใช้เพียงพอสำหรับทุกโรค วอนแพทย์-คนไข้ เข้าใจและร่วมกันใช้ยาอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า
       
       นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธาน คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่กรมบัญชีกลาง ประกาศงดการเบิกจ่ายยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการในโรคข้อเข่าเสื่อม ที่ออกฤทธิ์ช้า เช่น กลูโคซามีน จนเกิดกระแสความเห็นต่างๆ นานา ทั้งในเชิงสนับสนุน และคัดค้าน ว่า
       
       การคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับอันตรายจากยา ความสะดวกในการใช้ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนความคุ้มค่า ในปัจจุบันการดำเนินการเกี่ยวกับบัญชียาหลักแห่งชาติ อยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ทำให้เกิดความต่อเนื่องของการทำงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่ง ชาติ และคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีการประชุมพิจารณารายการยาสม่ำเสมอทุกเดือน ทำให้บัญชียาหลักแห่งชาติมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญ การคัดเลือกยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการใช้ยาที่ได้ผลต่อสุขภาพจริง และเป็นการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำกัดสิทธิในการใช้ยาของประชาชน ทั้งยังเป็นการคัดเลือกยาเพื่อประชาชนทุกคนในประเทศ มิใช่เพื่อผู้ใช้สิทธิสวัสดิการกองทุนใดกองทุนหนึ่ง
       
       ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลัก ใช้การกลั่นกรอง 3 ขั้นตอน เริ่มต้นจากการเสนอรายการยาโดยผู้ใช้ยา หรือบริษัทยา เข้าสู่การให้ความเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติในแต่ละสาขา ซึ่งได้จากผู้เชี่ยวชาญที่เสนอโดยราชวิทยาลัย แพทย์เฉพาะทาง คณะแพทย์และเภสัชกรในมหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติจะพิจารณาจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ เท่านั้น
       
       ขั้นตอนที่สอง เป็นการศึกษาความคุ้มค่าโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ (เฉพาะยาที่มีราคาสูง) และนำผลการพิจารณาทั้งหมดเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานประสานผล เพื่อให้ความเห็นต่อคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ
       
       ในขั้นตอนสุดท้ายจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ พัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีแพทย์และเภสัชกรอาวุโส ผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกองทุนต่างๆ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ซึ่งดูแลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และยังมีผู้แทนผู้ป่วยอยู่ในคณะอนุกรรมการด้วย เมื่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เห็นชอบแล้วจึงเสนอต่อประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรี) และนำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
       
       คณะ อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ขอให้ข้อมูลกับข้าราชการและประชาชน ว่า ยาใดที่ไม่ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีความเป็นไปได้ในข้อหนึ่งข้อใด หรือหลายข้อรวมกัน คือ หนึ่ง เป็นยาที่ไม่ได้ผลจริง หรือได้ผลน้อย จนไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ป่วย และไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอย่างชัดเจน หรือข้อมูลของผลที่ได้ยังก้ำกึ่งหรือไม่ชัดเจน สอง มีอันตรายมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ สาม ไม่คุ้มค่า โดยราคายาไม่สอดคล้องกับประโยชน์ที่ได้รับ หรือสูงจนเกินความสามารถในการจ่ายของระบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งในกรณีของยารักษาโรคข้อเสื่อมในกลุ่มนี้เข้าข่ายในข้อ 1 และข้อ 3 ดังกล่าวมาแล้ว
       
       “การตัดสินใจของกรมบัญชีกลางในการงดการเบิกจ่ายยาในกลุ่ม นี้ สอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการที่บัญชียาหลักแห่งชาติได้ตัดสินใจมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ในการไม่บรรจุยาเหล่านี้ไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ขอเรียนว่า ยังมียาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งที่เป็นยาแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพร อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นยากิน ยาฉีด ยาฉีดเข้าข้อ และยาทาเฉพาะที่ ที่มีประสิทธิผลจริงในการบรรเทาอาการให้แก่ผู้มีอาการโรคข้อเสื่อม ซึ่งแพทย์สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ยืนยันว่า หากยาใดมีความจำเป็นต่อสุขภาพของคนไทย มีความคุ้มค่า และประเทศสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ยานั้นจะได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างแน่นอน” นพ.สุวิทย์ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์   23 กุมภาพันธ์ 2554

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version