ผู้เขียน หัวข้อ: หวั่นลุกลามบานปลาย องค์การอนามัยโลกจัดประชุมฉุกเฉินรับมือ "อีโบลา"  (อ่าน 506 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
องค์การอนามัยโลก (ฮู) จัดการประชุมฉุกเฉินเป็นเวลา 2 วัน เริ่มตั้งแต่วันพุธ (6 ส.ค.) เพื่อหาหนทางรับมือการระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก โดยทางหน่วยงานของสหประชาชาติกำลังตัดสินใจว่าจะประกาศให้เรื่องนี้เป็นวิกฤติระดับสากลหรือไม่
       
       การประชุมแบบเป็นการภายในครั้งนี้ เป็นการหาหนทางรับมือกับการระบาดของโรคร้ายในลักษณะที่ทางองค์การอนามัยโลกมักจะเรียกว่าเป็น "เหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่นานาชาติให้ความกังวล"
       
       การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบของการประชุมผ่านทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสของฮู ตัวแทนของบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก โดยจะยังไม่มีการแถลงประกาศการตัดสินใจใดๆ ต่อสาธารณชนจนกว่าจะถึงวันศุกร์ (8 ส.ค.)
       
       จนถึงขณะนี้ ฮูยังไม่ได้มีการออกคำแนะนำใดๆ ในระดับโลก (อาทิ แนะให้จำกัดการเดินทางหรือจำกัดการค้าขาย) เกี่ยวกับการระบาดของอีโบลาคราวนี้เลย ทั้งนี้ การระบาดระลอกนี้เริ่มที่กินี จากนั้นได้แพร่กระจายไปในไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและไนจีเรีย
       
       อย่างไรก็ตาม ความกังวลกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากการที่ทางองค์การอนามัยโลกต้องจัดประชุมฉุกเฉินในลักษณะเช่นนี้ขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นบ่อยนัก
       
       โดยในปีนี้ ฮูเคยจัดประชุมเกี่ยวกับโรคโปลิโอ ส่วนเมื่อปีที่แล้วก็มีการจัดประชุมเกี่ยวกับกลุ่มอาการของโรคระบบทางเดินหายใจที่พบในตะวันออกกลาง แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น การประชุมฉุกเฉินครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2009 ที่มีการระบาดของไข้หวัด H1N1

       ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการระบาดที่แอฟริกาตะวันตกในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ อีโบลาก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 887 ราย ทั้งยังมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,603 ราย
       
       ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกินี แต่ระดับการแพร่ระบาดของที่นั่นเริ่มที่จะช้าลงแล้ว ในขณะที่ประเทศใกล้เคียงอย่างไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนกลับมีการแพร่ระบาดมากขึ้น
       
       ไนจีเรียได้ยืนยันในวันนี้ (6 ส.ค.) ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่อีก 5 รายที่ติดเชื้อในเมืองลากอส และยังมีผู้เสียชีวิตรายที่สองจากไวรัสอีโบลา ทำให้จำนวนรวมของผู้ติดเชื้อในเมืองนี้กลายเป็น 7 ราย
       
       สำหรับ "อีโบลา" โรคร้ายที่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนรักษา จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตกเลือด ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ ปวดหัว และในกรณีที่ร้ายแรงอาจจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด
       
       ทั้งนี้ เชื่อกันว่า โรคดังกล่าวมาจากบรรดาสัตว์ที่ถูกล่าแล้วเอาเนื้อมากิน จากนั้นก็เริ่มแพร่ระบาดในคนผ่านทางของเหลวจากร่างกาย โรคนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่ติดเชื้อ นับตั้งแต่เริ่มมีการตรวจพบในปี 1976 ซึ่งจากบันทึกของการระบาด 2 ครั้งในช่วงนั้นมีอัตราการตายสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราการตายของการระบาดในครั้งล่าสุดนี้อยู่ที่ 55 เปอร์เซ็นต์
       
       โรคอีโบลาถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1976 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ส่วนชื่อโรคนั้นตั้งตามชื่อของแม่น้ำในละแวกนั้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 สิงหาคม 2557