ผู้เขียน หัวข้อ: แฉ! อภ.ส่อฮั้วเจ้าของ รพ.เอกชน เช่าพื้นที่โครงการล้างไต 8.3 ล้านบาท  (อ่าน 542 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
8 องค์กรสุขภาพแฉ อภ.ซ้ำ พบ "หมอสุวัช" ตั้งโครงการล้างไตทางช่องท้องส่อทุจริต ฮั้วที่ปรึกษาคณะทำงานเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของนาน 18 เดือน รวมกว่า 8.3 ล้านบาท ตั้งคำถามใช่ภารกิจ อภ.หรือไม่ แถมไม่ใช้วิธีประกวดราคา ด้าน อภ.แจงทำตามคำแนะนำ สปสช. ยันเป็นโครงการวิจัย ไม่ต้องประกวดราคา ระบุเลือก รพ.เอกชน เพราะ รพ.รัฐพื้นที่เต็ม
   
       วันนี้ (31 ก.ค.) นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทและ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้มีประเด็นส่อทุจริตในองคต์การเภสัชกรรม (อภ.) อีก คือกรณี นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. แต่งตั้งคณะทำงานบริหารโครงการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ซึ่งคณะทำงานนี้มีมติเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ให้จัดตั้งโครงการศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยให้เช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ เป็นสถานที่ดำเนินโครงการนำร่อง เดือนละ 462,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2557 - 31 ม.ค. 2559 เป็นเวลา 18 เดือน รวม 8,316,000 บาท
       
       "น่าสังเกตว่าไม่มีการเปิดให้มีการเปิดซองเปรียบเทียบราคา เพื่อเปิดโอกาสให้ที่อื่นเสนอราคาแข่งขันได้ แต่กลับใช้วิธีตกลงราคาโดยเลือก รพ.มหาสารคามอินเตอร์ ซึ่งบริหารโดย นพ.ดำรัส โรจนเสถียร กรรมการบริษัท มหาสารคามเมดิคอล จำกัด โดย นพ.ดำรัส เป็นที่ปรึกษาของคณะทำงานนี้ จึงคล้ายกับมีเจตนาฮั้วกันหรือไม่ ที่สำคัญการแต่งตั้งให้นพ.ดำรัส เป็นที่ปรึกษาเรื่องโครงการล้างไตทางช่องท้อง ก็ไม่แน่ใจถึงความเหมาะสม เพราะเท่าที่ทราบ นพ.ดำรัส สนับสนุนการฟอกไตมากกว่า" นพ.วชิระ กล่าว
       
       นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า การที่ อภ.จะดำเนินการนำร่องเรื่องโครงการล้างไตทางช่องท้อง ควรเป็นความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดีกว่าหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา สปสช.ก็มีนโยบาย CAPD First หรือสนับสนุนให้เลือกวิธีล้างไตทางช่องท้องก่อนสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบ แต่ครั้งนี้มีเจตนาส่อทุจริต โดยที่สปสช.ไม่ทราบเรื่อง จึงมีข้อสังเกตว่า การทำโครงการดังกล่าวเป็นพันธกิจของอภ.หรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วน่าจะเป็นภารกิจร่วมของ อภ.และ สปสช. ซึ่งอภ.ต้องทำเรื่องการจัดหาน้ำยาล้างไตและสำรองให้เพียงพอสำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองทั่วประเทศจะดีกว่า รวมถึงการเช่าพื้นที่ของที่ปรึกษาคณะทำงาน เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนและทำให้ราชการเสียหายหรือไม่ นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างอาจจะผิดระเบียบพัสดุ เนื่องจากมูลค่าเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องประกวดราคาไม่ใช่การตกลงราคา
       
       “นอกจากนี้ จากการที่ อภ.และสปสช.ทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องการจัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วย โดย อภ.ทำหน้าที่เป็นผู้จัดซื้อน้ำยาล้างไตแทน สปสช. มีรายงานว่า อภ.ไม่สามารถจัดส่งน้ำยาได้ทัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้” นพ.วชิระ กล่าว
       
       ด้าน นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผอ.แผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคไตวาย สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงได้รับน้ำยาล้างไตต่อเนื่องตามปกติ แต่ยอมรับว่ามีปัญหาการจัดส่งน้ำยาล้างไตช้าอยู่บ้าง จึงยังไม่กระทบต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการระหว่าง อภ.และสปสช. เป็นข้อตกลงความร่วมมือ สปสช.ให้อภ.ทำหน้าที่จัดซื้อน้ำยาล้างไตและจัดส่งให้กับผู้ป่วย หาก อภ.ไม่สามารถดำเนินการได้ สปสช.ก็จะดำเนินการหาหน่วยงานอื่นเพื่อมาทำหน้าที่นี้ต่อไป แต่ยืนยันว่าในขณะนี้ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ผู้ป่วยยังได้รับน้ำยาล้างไตตามปกติ
       
       นพ.สุวัช กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเคยได้รับคำแนะนำจาก สปสช.ว่าต้องการให้ อภ.มีการผลิตน้ำยาล้างไต และการจัดส่งที่มีคุณภาพ ลดปัญหาที่ผู้ป่วยจะได้รับ โดยเฉพาะกรณีการจัดส่งน้ำยา ซึ่งกว่าจะถึงผู้ป่วยอาจเกิดปัญหาน้ำยาเสียหาย ตรงนี้จะเป็นการศึกษาและพัฒนาน้ำยาให้มีคุณภาพ รวมทั้งการขนส่งให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น อีกทั้งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการศึกษาวิจัย จึงไม่ต้องมีการประกวดราคาเลือกบริษัทมาดำเนินการ ส่วนที่ต้องเลือกพื้นที่เอกชน เพราะพื้นที่โรงพยาบาลรัฐเต็ม ไม่มีสถานที่พอในการดำเนินการ ยืนยันว่าเรื่องทุกอย่างมีข้อเท็จจริง และพร้อมชี้แจงทุกเรื่อง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 กรกฎาคม 2557