ผู้เขียน หัวข้อ: Medical Hub (พินิจ-พิจารณ์)  (อ่าน 1888 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
Medical Hub (พินิจ-พิจารณ์)
« เมื่อ: 20 กุมภาพันธ์ 2011, 12:46:29 »
มีคนพูดกันมากมายว่าประเทศไทยควรจะเป็นศูนย์กลางด้าน การแพทย์และสาธารณสุขหรือไม่? รัฐบาลชุดก่อนๆมีนโยบาย 2 นโยบายที่ ในความเห็นของผม เป็นนโยบายที่ค้านกัน ถ้าทำพร้อมกัน คือ นโยบาย "30 บาท" และ นโยบาย "medical hub"

นโยบาย"30 บาท" เป็นนโยบายที่ดี ทำให้ประชาชนทั้งหมดที่ไม่มีระบบสาธารณสุขรองรับ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้จริงๆ แม้ผู้ที่ยากไร้สามารถเข้าถึงการบริการได้ก่อนหน้านี้ แต่การมีระบบ "30 บาท"หรือ universal (health) coverage หรือ "UC" ทำให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างสบายใจขึ้น(เป็นสิทธิ์)และเป็น ระบบขึ้น ถึงแม้ตอนนโยบายเกิดใหม่ๆ งบประมาณมีให้น้อยมาก แต่ทำไปปรับไปก็ดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นการให้บริการที่เป็น"ขั้นต่ำที่ดี" มากกว่าขั้นสูงสุด การมีโครงการ"30 บาท" ทำให้ประชาชนไปพบแพทย์มากขึ้น แพทย์ในระบบราชการมีงานหนักมากยิ่งขึ้น

แต่เวลาเดียวกันเพราะประเทศไทยมีแพทย์ที่เก่ง ค่าบริการถูกเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก หรือฮ่องกง สิงคโปร์ ฯลฯ รัฐบาลสมัยก่อนจึงพยายามสนับสนุนให้ไทยเป็น medical hub เพื่อนำชาวต่างประเทศและครอบครัวให้มาตรวจสุขภาพทั่วๆไป เพื่อการวินิจฉัย รักษาหรือฟื้นฟูโรค อาจกล่าวได้ว่า มาเที่ยว shopping และตรวจสุขภาพทั่วไป ซึ่งจะเป็นการนำรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย

แต่แพทย์ประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้ เฉลี่ยทั่วประเทศมีเพียงแพทย์ 1 คนต่อประชาชน 1,700 กว่าคน โดยแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ ปริมณฑล หรือเมืองใหญ่ๆ ทำให้ต่างจังหวัดยังขาดแพทย์เป็นจำนวนมาก อาจมีแพทย์ 1 คนต่อประชากรหลายพันจนถึงหลายหมื่นคน! การที่การแพทย์ไทยเป็นที่เสน่ห์หาของชาวต่างประเทศ จึงทำให้ความต้องการแพทย์ทางด้านเอกชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการไหลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ สู่ภาคเอกชน ด้วยเหตุผลนี้เอง ผมจึงไม่เห็นควรสนับสนุนให้ไทยเป็น medical hub ในขณะนี้มากนัก แต่ควรรอให้ระบบ "30 บาท" ตั้งตัวอยู่ได้เสียก่อน มิฉะนั้นจะมี brain drain ของแพทย์(พยาบาล ฯลฯ) จากภาครัฐสู่ภาคเอกชน

ขณะนี้ถึงไม่สนับสนุนให้ไทยเป็น medical hub แต่ไทยก็เป็นอยู่แล้ว มีชาวต่างชาติมาตรวจ รักษาในไทยปีละ 4 ล้านคนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายังไม่เพิ่มค่าตรวจรักษามากไป ขณะนี้ค่าตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งแพงมากไป จนคนไทยทั่วไปใช้บริการไม่ไหว หรือไปก็อยู่ได้ไม่นาน ต้องย้ายเข้าโรงพยาบาลรัฐบาล ผมคิดว่า ควรมีองค์กรหนึ่งองค์กรใด ดูค่ารักษาพยาบาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เราต้องทำให้ระบบนี้เป็น"น้ำบ่อทราย" ไม่ใช่ใช้ระยะหนึ่งก็หมด ต้องทำให้มาตรฐานดี แต่ราคาก็ดีด้วย ผมมีผู้ป่วยหลายคนที่ไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะฉุกเฉินหรืออะไรก็แล้วแต่ พออยู่ไป 3-4 วันก็ขอย้ายมาที่จุฬา ฯลฯ

รัฐบาลไทยควรทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขภาครัฐอยู่ได้ก่อน อยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี จึงค่อยพัฒนาประเทศไทยเป็น medical hub (ให้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้ก็เป็นอยู่แล้ว!) ประเด็นสำคัญคือ เงินเดือน เงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐต้องเหมาะสมกับความเป็นอยู่ปัจจุบัน จนในที่สุดเขาอยู่ได้โดยไม่ต้องลาออกไปอยู่ภาคเอกชน ถึงแม้ภาคเอกชนจะให้มากกว่าก็ตาม

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
สมาชิกวุฒิสภา
...............................................

Medical Hub (ภาค 2) (พินิจ-พิจารณ์)

ผมเพิ่งเขียนเรื่อง Medical Hub ไปเมื่อเร็วๆนี้เอง แต่เนื่องจากขณะนี้เรื่อง Medical Hub ยังเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์อีก และมีแพทย์บางท่านออกมาคัดค้าน จริงๆแล้วคงไม่ต่อว่าหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมาสนับสนุนหรือคัดค้าน เพราะแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่เฉพาะของตนเอง ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป เสนอไป แต่หน่วยเหนือหรือในที่นี้คือ รัฐบาล ต้องมองภาพรวมที่ดีที่สุด สำหรับประชาชนและประเทศ

ผมมีความเห็นว่า รัฐบาลต้องมีระบบการกระจายแพทย์ที่ดี แล้วจึงค่อยส่งเสริม Medical Hub อย่างเต็มที่ ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีแต่ชาวต่างชาติและบางแห่งมีราคาแพงมาก ผมพบปัญหาเกือบทุกวันว่า คนไทยที่หลงเข้าไป จะรีบออกจากโรงพยาบาลเอกชนมาเข้าโรงพยาบาลรัฐบาล หลายโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่ได้มีไว้ช่วยประชาชนคนไทย แต่เป็นการบริการชาวต่างชาติเกือบทั้งนั้น

รัฐบาลจึงควรทำให้แพทย์ภาครัฐทั่วประเทศอยู่ในระบบราชการได้เป็นอย่างดีก่อน ปัจจุบันนี้ทราบว่า แพทย์ต่างจังหวัดรายได้ที่ดีขึ้น แพทย์เพิ่งจบและกำลังใช้ทุนช่วง 3 ปีแรก ต่างมีค่าตอบแทน(รวมเงินเดือน ค่าอยู่เวร ทุรกันดาร ฯลฯ) เดือนละหลายหมื่นจนถึงแสนกว่าบาท! แต่แพทย์ในกรุงเทพ เช่น ในโรงเรียนแพทย์ ยังมีค่าตอบแทนไม่ดีพอ เช่น อาจารย์ท่านหนึ่งที่จุฬาฯ อายุ 40 ปี เป็นพนักงานรัฐ(คือไม่มีบำเหน็จ บำนาญ)ได้เงินเดือน 20,000 บาท ค่า"ปริญญาเอก" 10,000 บาท(ที่แพทยสภาซึ่งผมมีส่วนร่วมทำไว้) ค่าตำแหน่งวิชาการ ฯลฯ รวมแล้ว 40,000 กว่าบาท ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับสมัยผม แต่ก็ยังเทียบภาคเอกชนไม่ได้เลย เช่น แพทย์ที่เพิ่งจบสาขาระบบทางเดินอาหารใหม่ๆอายุ 32 ปี ได้รับการเสนอเงินเดือน 150,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ผมอยากเห็นแพทย์ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนทั้งหมด ไม่ใช่จากค่าไม่ทำร้าน ค่าอยู่เวร ค่าอยู่ไกลปืนเที่ยง เพราะถ้าเกษียณ ถ้าเป็นข้าราชการจะคำนวณเงินบำนาญจากเงินเดือนเท่านั้น จริงๆแล้วอยากให้ข้าราชการทุกๆ อาชีพ มีเงินเดือนที่อยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องทำงานที่ 2 เลยเช่นในปัจจุบันนี้

ปัญหาอยู่ว่า แพทย์ต่างจังหวัดยังมีน้อย ทั้งๆที่รัฐบาลผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะนี้รับนิสิตแพทย์ปีละ 2,000 คน แต่ชาวต่างจังหวัดยังขาดแพทย์ รัฐบาลต้องทำให้แพทย์ไปอยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะชุมชนเล็กๆที่ทุรกันดารได้ โดยแพทย์สามารถออมเงินได้ มีระบบสวัสดิการ ความก้าวหน้าที่ดี มีความปลอดภัย มีโรงเรียนที่ดีสำหรับลูกๆ มีการคมนาคมที่ดี ฯลฯ

ผมอยากเห็นโรงพยาบาลต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปดีเท่าโรงเรียนแพทย์ ประชาชนจะได้ไม่ต้องไปไกลเพื่อหาแพทย์เฉพาะทาง แต่ขณะนี้โรงพยาบาลทั่วไป(จังหวัด)ยังขาดแพทย์อีกมาก ไม่ว่าสาขาอะไร เช่น สาขาระบบทางเดินอาหาร ต้องมีแพทย์ เครื่องมือ ที่เพียงพอทำการตรวจรักษาโรคทั่วๆไปได้ เช่น ต้องมีความสามารถในการตรวจ รักษาผู้ป่วยที่มีเลือดออกด้วยการส่องกล้อง เอานิ่วออกจากทางเดินน้ำดีโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่แพทย์สาขานี้(และสาขาอื่นๆ)มีน้อยมาก ยังขาดมากกว่าครึ่งของประเทศ เช่น ที่นครสวรรค์ มีแพทย์ทางนี้ 1 คนเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ เป็นโรงเรียนแพทย์ ซึ่งอย่างน้อยควรมี 3 คน

รัฐบาลต้องกระจายแพทย์ให้ได้ มีระบบที่จะเก็บแพทย์เหล่านี้ไว้ในภาครัฐและต้องพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขให้ดีกว่านี้ ผมดีใจที่เร็วๆนี้ ท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขพูดในทีวีว่าอยากให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มีความสามารถเฉพาะทางในทางหนึ่งทางใด ถ้าทำได้จริงประชาชนจะได้ประโยชน์มาก

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
สมาชิกวุฒิสภา