ผู้เขียน หัวข้อ: แนวปฏิรูป 10 ประการ กับ30บาทรักษาทุกโรค  (อ่าน 481 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
การปฏิรูปในภาคส่วนต่างๆ กำลังเข้มข้น ในส่วนของการรักษาพยาบาล อย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคทำมากว่า 10 ปีควรปรับและปรุงหรือไม่ อย่างไรบ้าง

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โรงพยาบาลพิจิตร อ.เมือง จังหวัดพิจิตร ในฐานะผู้อยู่ในภาคปฏิบัติ บอกว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นดีแน่ เพราะลดการล้มละลายจากการรักษาพยาบาลให้ชนชั้นกลาง และช่วยเหลือคนยากจน ทั้งทำให้คนมีศักดิ์ศรีด้วย ไม่ต้องขอสงเคราะห์อย่างก่อนมีโครงการนี้ออกมา

และการมีบริการ ใกล้บ้านใกล้ใจ รักษาโรคเรื้อรังใกล้บ้าน เท่ากับเป็นการป้องกันโรคขยายกว้าง เช่นการตรวจหามะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ดังนั้น “โครงการ 30 บาท แม้จะทำให้ประเทศชาติล้มละลายก็คงไม่สามารถเลิกได้” พญ.ชัญวลีบอก

ส่วนข้อเสียคือ เป็นนโยบายประชานิยมซึ่งต้องการงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น การใช้บัตรมากขึ้น โรคซับซ้อนขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไข้กับแพทย์ลดลง จำนวนคนไข้มาก โอกาสผิดพลาดทางการรักษาพยาบาลก็มีมาก และจะกลายเป็นว่า การป้องกันโรครักษาโรคกลายเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนไม่พึ่งตนเองมีแต่รอรับความช่วยเหลือหรือรอรับบริการ

อย่างไรก็ตาม คุณหมอบอกว่า ในบรรดานโยบายประชานิยมของรัฐบาล โครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รู้จักกันในนามของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งดำเนินการมาถึงปีที่ 12 นับว่าเป็นนโยบายที่ถูกใจประชาชนมากที่สุด จากสถิติพบว่า ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 47.24 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 75.29 จากจำนวนประชากรกว่า 64 ล้านคน มีสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพที่ช่วยคุ้มครองดูแลสุขภาพ ในด้านการรักษาโรค การป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนและบุคลากรในหน่วยบริการปี พ.ศ.2551 โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลพบว่า มีความพึงพอใจร้อยละ 88.37 โดยพึงพอใจในเรื่องบริการของแพทย์มากที่สุดร้อยละ 93.6

รองลงมาเป็นการบริการของเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมถึงการบริการของพยาบาล ร้อยละ 92.8 และผลการสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

ข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือ ประชาชนได้รับการคุ้มครองค่าบริการทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใดๆ สามารถลดปัญหาความยากจนของประชาชนไทยจากการล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล แต่ข้อดีนี้ก็ส่งผลกระทบทางลบหลายประการ เช่น เกิดภาระด้านงบประมาณของประเทศจนอาจมีปัญหาความยั่งยืนของระบบ, มีความพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากจำนวนประชากรที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น และความสามารถในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นโดยกำหนดมาตรการหลายอย่าง เช่น ใช้เงินเป็นตัวกำหนดโรค, กำหนดการรักษาพยาบาล จนอาจเกิดการลดคุณภาพการรักษาพยาบาล, โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล จนไม่มีงบประมาณในการลงทุนจัดหาซื้อวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ฯลฯ, มีการจำกัดการจ่ายยาท่ีมีราคาแพง, ประชาชนไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองแม้เจ็บป่วยเล็กน้อยก็ต้องพบแพทย์ เป็นต้น

ดังนั้น หากจะให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างยั่งยืน เกิดความสมดุลระหว่างการใช้งบประมาณกับคุณภาพและปริมาณการรักษาพยาบาล ควรมีการปฏิรูประบบหลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้าดังนี้

1. ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของสุขภาพไม่ใช่บุคลากรทางสาธารณสุข ประชาชนควรรับผิดชอบการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง หมอที่เก่งที่สุดคือตัวเราเอง เจ็บป่วยเล็กน้อยควรพึ่งตนเองเป็นพื้นฐาน มีกลยุทธ์ สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในการดูแลสุขภาพ มีแรงจูงใจให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เช่น มอบรางวัลสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี มีมาตรการลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ

2.ไม่ควรรักษาพยาบาลฟรีสำหรับผู้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกคน แต่ควรมีระบบคัดกรองบุคคลที่มีรายได้น้อยและบุคคลที่สมควรช่วยเหลือ การรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน หมายถึงสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายถึงการได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน การควบคุมค่าใช้จ่ายของหลักประกันสุขภาพโดยไม่ลดประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการร่วมจ่ายที่เหมาะสม

3. การให้บริการการรักษาพยาบาล ควรยึดหลักคุณภาพ ประสิทธิภาพ และชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์คนไข้กับผลเสียต่อคนไข้เป็นหลัก ไม่ควรยึดตัวเงินเป็นหลัก การกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับคนไข้แต่ละคนแต่ละครั้งที่มาตรวจผู้ป่วยนอก และการนำกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups) กำหนดค่ารักษาพยาบาล แม้มีข้อดีคือสุดท้ายสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศได้ แต่อาจส่งผลเสียคือลดมาตรฐานการรักษา ละเว้นใช้ยาหรือการรักษาพยาบาลที่มีต้นทุนสูงเพื่อไม่ให้โรงพยาบาลขาดทุน

4. ผู้ให้บริการในระบบบริการสุขภาพ ต้องมีจรรยาบรรณในการรักษาพยาบาล สามารถตัดสินใจในการรักษาพยาบาลอย่างอิสระ สามารถเรียนรู้พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต และมีความสุขในการทำงาน นอกจากการสร้างบรรยากาศในการทำงานดี มีสวัสดิการดี มีค่าตอบแทนเหมาะสมกับชั่วโมงการทำงาน ในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ผู้ให้บริการควรได้รับการคุ้มครองในมูลค่าที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการคุ้มครองผู้รับบริการ

5. ส่งเสริมการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ แต่ไม่ควรละเลยการส่งเสริมการรักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพราะการรักษาพยาบาลล้วนแต่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่สามารถแยกส่วนกันได้โดยเด็ดขาด หากระดับใดระดับหนึ่งไม่เข้มแข็ง ก็จะส่งผลให้ระดับอื่นๆ อ่อนแอไปด้วย

6. แก้ไขปัญหาการขาดแคลน และการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ โดยสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

7.ส่งเสริมการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้เพียงพอ ปัจจุบันมีความขาดแคลนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งจำเป็นต่อการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเป็นอย่างมาก แม้มีการจูงใจให้มีการฝึกอบรมโดยไม่ต้องใช้ทุนหลังจากจบแพทยศาสตรบัณฑิต เชื่อว่าเกิดจากการขาดการประชาสัมพันธ์หน้าที่บทบาท, แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า ค่านิยมเรื่องเกียรติศักดิ์ศรีด้อยกว่าแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น, ไม่มีตำแหน่งบรรจุ เป็นต้น

8. มีการร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล ใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า

9.พัฒนาระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้มีการประสานงานที่ดี มีแนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาลทุกระดับ มีการทบทวนปัญหาและแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอ

และ 10. การวางนโยบาย การกำกับดูแล การปฏิบัติหน้าที่รักษาพยาบาล ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรมีการประสานงานเพื่อให้ได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเป็นการสั่งการมาจากเบื้องบน ซึ่งบางทีก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รพ.ไม่อยากขาดทุนจึงลดต้นทุน

สำหรับความปรองดองของคนในชาติ พญ.ชัญวลีเห็นว่า ความเป็นไปได้ในประมาณ 50/50 โอกาสปรองดองจะสูงขึ้น ถ้าหากมีผู้นำเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่นั่นคือ เห็นแก่ชาติมากกว่าเห็นแก่ตัว ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีคอร์รัปชัน มีความเข้มแข็ง มีการประสานกันหลายฝ่าย เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ผู้นำมีจิตวิทยาสามารถทำให้คนในชาติ รักชาติ เสียสละเพื่อชาติ ซึ่งผู้นำก็ต้องทำให้ดู ผู้นำนั้นควรมีประวัติความดีงามมาตลอด ไม่เป็นที่ระแวงแคลงใจของคนในชาติ

และที่สำคัญต้อง “ดูแลให้ผู้คนอยู่ใต้กฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน” พญ.ชัญวลี ทิ้งท้าย.

ไทยรัฐออนไลน์  8 กค 2557