ผู้เขียน หัวข้อ: แฉปลัด สธ.ชง คสช.บังคับ ปชช.ร่วมจ่ายค่ารักษา ด้าน สธ.ปัด ไม่เคยเสนอ  (อ่าน 479 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
แฉ ปลัด สธ. เสนอ คสช. บังคับประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 - 50% ไม่ยอมเรียกประชุม สปสช. ทำให้ประชาชนเบิกจ่ายยามะเร็ง - ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีไม่ได้ ด้าน สธ. ยันไม่เคยเสนอ คสช. เรื่องร่วมจ่าย แจงเป็นเพียงข้อเสนอในที่ประชุมตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน และไม่มีข้อสรุปในประเด็นนี้

แฉปลัด สธ.ชง คสช.บังคับ ปชช.ร่วมจ่ายค่ารักษา ด้าน สธ.ปัด ไม่เคยเสนอ
   
        ตามที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ 30 - 50% โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้นำเสนอประเด็นนี้กับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ด้านสังคมจิตวิทยา ในการเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุข และระหว่างนี้ ปลัด สธ. ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่เรียกประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งไม่มีการประชุมมาแล้ว 2 เดือน
       
        นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า การที่ สธ. ได้นำเสนอ คสช. ให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย (co-pay) ในอัตรา 30 - 50% โดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะทำให้ระบบล้มละลาย ซึ่งนี่เป็นการให้ข้อมูลที่ผิดมาก
       
        “การที่ สธ. บอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะอยู่ไม่ได้ เพราะใช้เงินเยอะ ไม่จริง เพราะรัฐจ่ายเพื่อสุขภาพเพียง 7% เท่านั้น ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มมาก ทั้งช่วยลดความยากจนในครัวเรือนได้ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพของไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติมาโดยตลอดว่า มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณที่ไม่มากแต่สามารถช่วยประชาชนให้พ้นความยากจนได้จริง ถ้ารัฐจะผลักภาระตรงนี้ ทหารเกณฑ์ที่ใช้บัตรทองก็ต้องมาแบกรับด้วย”
       
        สำหรับการที่ปลัด สธ. ไม่เรียกประชุมบอร์ด สปสช. เป็นเดือนที่ 2 แล้วนั้น กรรมการหลักประกันสุขภาพระบุว่า ทำให้ไม่สามารถอนุมัติสิทธิประโยชน์ใหม่ๆได้ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส
       
        “ตอนนี้ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ก็ยังไม่ได้อนุมัติ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ถ้าไม่ได้ยาก็พัฒนากลายไปเป็นมะเร็งตับ ค่ารักษาก็แพงอีก นี่เป็นความทุกข์ แต่ยังไม่ประชุมบอร์ดกว่า 2 เดือนแล้ว บอร์ดจะประชุมได้ ประธานต้องเรียก ก็ไปดูแล้วกันว่าใครเป็นประธาน แล้วทำไมถึงไม่เรียกประชุมบอร์ดเสียที ตรงนี้อยากฝากไปถึง คสช. ที่พูดตลอดเวลาว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะ และวางรากฐาน แต่ตอนนี้เรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุขยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน และไม่เคยมีข้อเสนอที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายนิมิตร์กล่าว
       
        ทั้งนี้ รายการบัญชียา จ.2 ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาได้อนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างรอบอร์ด สปสช. พิจารณาเข้าระบบให้ผู้ป่วยเบิกจ่ายได้นั้น ประกอบไปด้วย ยารักษามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก Tastuzumab, ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี Peginterferon, ยารักษามะเร็งเม็ดเลือด Nilotinib, ยารักษามะเร็งเม็ดเลือด Dasatinib และ ยากำพร้า Dacarbazine ที่ใช้รักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease)
       
        “ที่ผ่านมา เคยมีมติบอร์ดว่า เมื่อคณะกรรมการบัญชียาหลักอนุมัติไปแล้วระหว่าง รอประกาศ ให้สามารถเบิกจ่ายได้เลย ดังนั้น สำนักงาน สปสช. ควรมีความกล้าหาญทำตามมติบอร์ด อย่าไปใช้ข้ออ้างนี้ในการไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิ อย่าไปยอมให้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจับประชนเป็นตัวประกัน”
       
        นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบการทำงาน โดยมีการกระจายอำนาจการบริหารไปที่เขตบริการสุขภาพ ซึ่งในการดำเนินการปฏิรูปครั้งนี้ ต้องมีการปรับระบบการทำงาน การบริหาร รวมทั้งการบริหารจัดการเรื่อง บุคลากร งบประมาณ และทรัพยากร ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จากทั่วประเทศ ระดมความคิด ร่วมพิจารณา (ร่าง) ข้อเสนอการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบขาลง) ประจำปีงบประมาณ 2558 เมื่อวันที่ 1 - 2 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา
       
        ทั้งนี้ มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นทางการ ในบทบาทที่ควรจะเป็นระหว่าง สปสช. (ผู้ซื้อบริการ) กับกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ให้บริการหลัก) เพื่อสร้างระบบบริการที่มีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ให้ทุกหน่วยบริการได้รับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ โดยไม่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการที่ใช้การเงินเป็นตัวตั้งมากกว่าการเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เน้นบริการส่งเสริมสุขภาพเป็นรายกลุ่มอายุตามบริบทของแต่ละพื้นที่ จัดการบริหารระบบบริการสุขภาพ เป็นเขตพื้นที่ 12 เขต พัฒนาขีดความสามารถเพื่อให้บริการประชาชนเบ็ดเสร็จภายในเขต ลดการส่งต่อออกนอกเขตเพื่อความสะดวกของผู้รับบริการ มีการบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการโดยมีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมบริหารในทุกๆ ระดับการบริการ โดยจะดำเนินการในการปรับระบบการเงินการคลังดังนี้ 1. ขอให้มีการทำข้อตกลงกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้ตัวชี้วัด (KPI) ระดับประเทศ โดย สปสช. ผู้ถือเงินทำหน้าที่จ่ายเงินและประเมินผลการดำเนินงาน ตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกันไว้กับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้จัดระบบบริการรายใหญ่ของประเทศ จะจัดบริการตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกัน
       
        2. งบเหมาจ่ายรายหัวประชากร (งบ UC) ไม่ควรแยกหมวดรายการเป็นกองทุนย่อยๆ เช่นที่ผ่านมา ควรจัดงบฯให้เหลือแค่ 4 ประเภท ได้แก่ งบบริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยใน บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 3. การบริหารงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข จะบริหารในรูปแบบเขตบริการสุขภาพและบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งเงิน ผ่านคณะกรรมการของแต่ละเขตบริการสุขภาพ ตามตัวชี้วัดระดับประเทศและตัวชี้วัดของพื้นที่
       
        สำหรับแนวคิดการให้ประชาชนร่วมจ่ายนั้น ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข้อเสนอที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมและที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุย และมีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ยืนยันไม่ใช่มติที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ คสช. แต่อย่างใด ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในโอกาสที่หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ตรวจเยี่ยมและรับฟังการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สปสช. สวรส. สวพ. สพฉ. เป็นต้น
       
        “สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการการปฏิรูปขณะนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ให้บริการมีความสุขในการทำงาน ไม่ใช่แนวคิดจะล้มระบบการทำงานของ สปสช. หรือจะเพิ่มทุกข์ให้ประชาชนโดยการให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล” นพ.ณรงค์ กล่าว
       
       นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รายงานการประชุมทุกครั้งตนจะต้องรับรอง ซึ่งรายงานการประชุมฉบับดังกล่าวตามที่มีการเสนอข่าว ว่า มีการสรุปว่าจะต้องจัดทำแนวทางการร่วมจ่ายในสัดส่วนร้อยละ 30-50 นั้นยังไม่เคยมีการรับรองแต่อย่างใด โดยแนวคิดดังกล่าว เป็นการเสนอความเห็นภายหลังการประชุมที่อธิบดีคนหนึ่งได้เสนอแต่ไม่มีการระบุว่าจะต้องเป็นสัดส่วนร้อยละ 30-50 และไม่มีการลงความเห็นจากผู้บริหาร ซึ่งจะมีการสอบถามความจริงต่อไปว่าการสรุปบันทึกการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเป็นเพียงการเสนอความเห็นทั่วไปเท่านั้น
       
       ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมด้วยแต่จำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้เสนอเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่มีการนำแนวทางเรื่องการร่วมจ่ายเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางของระบบหลักประกันสุขภาพ จะต้องไม่ให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพและป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วย
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 31 พ.ค. ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริหารจากทุกกรม และหน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ สปสช. สวรส. สพฉ. สช. ได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง ไม่มีการส่งตัวแทน โดยระบุว่า ไม่ได้มีการเสนอแนวทางการร่วมจ่ายต่อ พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่อย่างใด แต่น่าจะมีการพูดคุยและเสนอเป็นความเห็นที่ไม่มีการลงมติเท่านั้น
       

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 กรกฎาคม 2557