ผู้เขียน หัวข้อ: ท่องเที่ยว สร้างสรรค์หรือทำลาย-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 960 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ราต้องสูญเสียอะไรไปเพื่อแลกกับเม็ดเงินมหาศาลจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ตัวเลขที่น่าเชื่อถือจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก  (World Travel and Tourism Council หรือ WTTC) ชี้ว่า ในปี พ.ศ. 2556 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทำรายได้คิดเป็นร้อยละ 9 ของจีดีพี หรือประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท นั่นคือคำตอบส่วนหนึ่งว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลทุกสมัยถึงประคบประหงมภาคการท่องเที่ยวราวกับไข่ในหินอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มมีบทบาทอย่างจริงจังหลังปี พ.ศ. 2500  โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม  เมื่อสหรัฐฯใช้ไทยเป็นฐานที่มั่น  พร้อมนำทหารอเมริกันหรือเรียกกันติดปากว่า “จีไอ” จำนวนมากเข้ามา ประกอบกับการเปิดตัวเครื่องบินโบอิ้ง 747  ในเวลาต่อมาที่ปฏิวัติการเดินทางทางอากาศทั่วโลก    การท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการรณรงค์หารายได้เข้าประเทศ เช่น โครงการ Visit Thailand เมื่อปี พ.ศ. 2530  ที่ทำรายได้มหาศาล และคำขวัญ Amazing Thailand ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2540 ก็ดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาจนมีส่วนช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติมาได้         

                ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทำให้ไทยเป็นดินแดนที่เปี่ยมมนต์เสน่ห์ นักท่องเที่ยวราวสองในสามจากต่างประเทศเป็นพวกนิยม “3S”  คือ Sea, Sand และ Sun  (หาดทราย ทะเล และแสงตะวัน) แต่ต้นทุนที่ประเมินค่าไม่ได้คือคนไทยที่มักปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเสมือนแขกในบ้านของตัวเอง นักวิชาการเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “Thainess” ที่กลายเป็นภาพลักษณ์แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมาโดยตลอด 

                หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวระบุว่า ปี พ.ศ. 2556 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยเกือบ 27 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1.17 ล้านล้านบาท  ทว่าการท่องเที่ยวก็นำปัญหามากมายมาด้วย  ตัวอย่าเช่นจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังประสบปัญหานักท่องเที่ยวจีนล้นเมือง พวกเขายกโขยงมาพร้อมพฤติกรรมที่คนไทยไม่คุ้นชิน ต้นตอของเรื่องนี้มาจากภาพยนตร์จีนต้นทุนต่ำเรื่องหนึ่งที่โด่งดังเป็นพลุแตกในแดนมังกร  ภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อให้เห็นความงดงามในมุมที่นักท่องเที่ยวจีนหลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน กอปรกับระยะหลังเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนประชากรส่วนหนึ่งมีกำลังพอออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศได้ และพวกเขาเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแรกๆ 
 
               ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเป็นประเด็นที่น่านำมาพิจารณา นโยบายรับนักท่องเที่ยวไม่จำกัดอาจส่งผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็เหมือนดาบสองคม เช่น นักท่องเที่ยวที่แห่กันไปเยือนอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2549 สะท้อนให้เห็นว่า ทรัพยากรในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ไม่เพียงพอรองรับการท่องเที่ยว  ช่วงหนักหนาที่สุดในปีหนึ่ง มีคนต่อยกันหน้าปั๊มน้ำมันเพื่อแย่งเติมน้ำมันเพราะขายหมดเกลี้ยงทั้งอำเภอ  ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีปายเปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยวกระแสหลัก รีสอร์ตหน้าใหม่ผุดเหมือนถั่วได้น้ำ พลิกโฉมเมืองนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ อาภรณ์ แสงโชติ นักเคลื่อนไหวชาวปาย เล่าว่า ทุกวันนี้ที่ดินในเขตเมืองปายตกอยู่ในมือนายทุนต่างถิ่นกว่าร้อยละ 70 โรงแรมและรีสอร์ตหลายแห่งเป็นกิจการของนักการเมืองระดับชาติ “ที่แย่กว่านั้นคือ คนข้างนอกเค้ามาเอาเงินอย่างเดียว แต่ทิ้งปัญหาไว้ให้ชาวบ้าน”               

                แม้ว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบี (Asian Development Bank: ADB) จะสนับสนุนให้ประเทศแถบลุ่มน้ำโขงใช้นโยบายท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือขจัดความยากจน แต่นักวิชาการกลับมองว่าการสนับสนุนการท่องเที่ยวจะยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า คนที่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้ มักมีต้นทุนสำหรับลงทุนสร้างหรือซื้อสาธารณูปโภครองรับการท่องเที่ยวเหนือกว่าคนที่ไม่มี  ไม่เช่นนั้นก็เป็นผู้นำที่มีศักยภาพ มองเห็นโอกาสหรือลู่ทางริเริ่มธุรกิจก่อนคนอื่น หลายกรณีเป็นกลุ่มทุนใหญ่จากนอกถิ่น           

                ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยยังเป็นสิ่งที่เรา “หลับตาข้างเดียว” เพราะมักมีมุมมืดแฝงอยู่  แต่ทุกคนทำเหมือนไม่รู้ไม่เห็น คืนพระจันทร์เต็มดวงที่หาดริ้น เกาะพงัน เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกว่าเป็นสถานที่จัดงานรื่นเริงพระจันทร์เต็มดวง (full-moon party) นักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 2 หมื่นคนกระจุกบนหาดแห่งนั้น ทั้งดื่มแอลกอฮอล์และเต้นรำกันราวกับเป็นคืนสุดท้ายของโลก แม้จะมีมาตรการป้องปรามยาเสพติด แต่นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งก็ยังคงจดจำภาพลักษณ์ทำนองนั้น และรู้ดีว่าพวกเขาจะหามันได้ที่ไหน หลังเลิกงานในเช้ารุ่งขึ้น ตลอดทั้งแนวหาดจะเต็มไปด้วยกองขยะ ถังพลาสติก ขวดเบียร์ ก้อนกรองบุหรี่ รองเท้าแตะ และคนเมาที่ถูกฝังหลับในกองทราย

อีกมุมหนึ่ง ความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community-based Tourism) หรือเรียกย่อๆว่า CBT กำลังดำเนินอยู่เงียบๆ อธิบายให้ง่ายคือชุมชนท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องปรับตัวรับการท่องเที่ยว แต่ผู้ปรับตัวควรเป็นฝ่ายมาเยือนมากกว่า ครั้งหนึ่งเราไปเยือนและค้างแรมที่หมู่บ้านจ่าโบ่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวมูเซอดำ หมู่บ้านแห่งนี้ยึดแนวคิดการท่องเที่ยวแบบ CBT มาได้สักระยะแล้ว นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าที่พัก ค่ามัคคุเทศก์ ค่าอาหาร และค่ากิจกรรม แลกกับโอกาสได้อาศัยร่วมชายคากับชาวบ้าน รับประทานอาหารจากครัวร้อนๆ จับปลาหรือตำข้าว เรียนดนตรี ทอผ้า ร่ายรำ รวมทั้งเดินป่า หรือสำรวจถ้ำ ค่าใช้จ่ายโดยรวมค่อนข้างสูงกว่าทัวร์กระแสหลัก ความสะดวกสบายอาจเทียบกันไม่ติด และไม่มีการจัดฉากหรือแสดงโชว์ ศรชัย ไพรเนติธรรม เป็นผู้รับหน้าที่ประสานงานท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์หมู่บ้านเล่าว่า สมาชิกชาวบ้านจ่าโบ่จะได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวเท่าๆกัน มีกองทุนที่หักรายได้เป็นกองกลาง โฮมสเตย์จะหมุนเวียนรับนักท่องเที่ยวเพื่อให้ทุกคนได้ค่าที่พักทั่วถึง ส่วนมัคคุเทศก์และวิทยากร ซึ่งหมุนเวียนกันทำหน้าที่จะได้รับค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อเช่นกัน       

                กระนั้น การท่องเที่ยวแบบ CBT ก็เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของการพัฒนาชุมชน  เป้าหมายสูงสุดคือการส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ ที่ตนมี ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือธรรมชาติ

                ทั่วโลกมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000 ล้านคน และนับวันมีแต่เพิ่มจำนวนขึ้น แน่นอนว่าการท่องเที่ยวอาจชักนำปัญหาไปสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แต่อีกนัยหนึ่งก็อาจช่วยพลิกฟื้นให้ชุมชนลืมตาอ้าปากได้ แต่สมดุลและความยั่งยืนอยู่ที่ไหน นั่นคือโจทย์ที่เราทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ หรืออย่างน้อยก็มองข้ามไม่ได้

เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลสิริ
มิถุนายน 2557