ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.โอดติดลบเหตุงบฯ ไม่สมดุลวอน สปสช.ปรับจ่ายตามจริง  (อ่าน 1521 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 รพ.ในเชียงใหม่โอดเงิน บำรุงติดลบ เหตุงบไม่สมดุล ผู้มาใช้บริการมากแต่งบน้อย แถม สธ.ยกระดับโรงพยาบาลชุมชนให้มีลักษณะเหมือนโรงพยาบาลจังหวัด แต่ สปสช.จัดสรรให้เท่าเดิม เผยแก้ปัญหาระยะสั้นเกลี่ยงบประมาณจากโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงเหลือมากมาให้ กับโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงติดลบ ระยาวยาววอน สปสช.จัดสรรงบประมาณตามจริง
       
        นพ.วัฒนา กาญจนกามล นาย แพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (นพ.สสจ.เชียงใหม่) กล่าวว่า ใน จ.เชียงใหม่ มีโรงพยาบาลจังหวัด 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลอำเภอ 23 แห่ง ในจำนวนนี้มี 7 แห่งที่เงินบำรุงโรงพยาบาลติดลบ โดยมีสาเหตุจากเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลจังหวัดแต่ ได้รับการจัดสรรงบฯ ในอัตราโรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ฝาง รพ.จอมทอง รพ.สันป่าตอง และเกิดจากมีจำนวนประชากรน้อย ทำให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยแต่กลับมีการเข้าใช้บริการมาก 4 แห่ง คือ รพ.ดอยเต่า รพ.หางดง รพ.แม่แตง และรพ.ดอยหล่อ ส่วนโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงเหลือ 1-10 ล้านบาท มี11 แห่ง และโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงเหลือ 10-40 ล้านบาท จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ รพ.แม่อาย รพ.สันทราย รพ.แม่แจ่ม รพ.อมก๋อยและรพ.เชียงดาว เนื่องจากประชาชนไปใช้บริการในโรงพยาบาลน้อยทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายน้อย
       
       “การที่โรงพยาบาลมีปัญหาทาง การเงินเป็นผลจากการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายให้จังหวัดยกระดับโรงพยาบาลชุมชนให้มีลักษณะเหมือนโรงพยาบาลจังหวัด แต่ในการจัดสรรงบประมาณซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลที่มีการยกระดับการบริการในอัตราของโรง พยาบาลชุมชน ทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายจากการให้บริการสูงเหมือนโรงพยาบาลจังหวัด แต่กลับมีรายรับเหมือนโรงพยาบาลชุมชนงบประมาณที่ได้รับต่ำกว่าความเป็นจริง จนเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรื้อรังมานานก่อนที่จะมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับบุคลากร สาธารณสุขในโรงพยาบาลเสียอีก โดย รพ.ฝางและสันป่าตองเป็น รพช.ขนาด 120 เตียง ส่วน รพ.จอมทองเป็น รพช.ขนาด 220 เตียง ขณะที่โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลจังหวัดบางแห่งมีขนาดเพียง 150 เตียง”นพ.วัฒนากล่าว
       
       นพ.วัฒนากล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมา ใช้วิธีการเกลี่ยงบประมาณจากโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงเหลือมากมาให้กับโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงติดลบ โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2553 ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวตนได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการการเงิน การคลังของ สปสช.ที่มี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณตามความเป็นจริงของโรงพยาบาลที่ต้องให้ บริการประชาชน ไม่ใช่จัดสรรงบฯ ให้แก่โรงพยาบาลชุมชนในอัตราเดียวกันทั้งหมด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 กุมภาพันธ์ 2554