ผู้เขียน หัวข้อ: เมดิคัลฮับ-นโยบายแย่ การกำจัดสิทธิของแพทย์-นโยบายยอดดีกระนั้นหรือ  (อ่าน 1399 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
เมดิคัลฮับ-นโยบายแย่ การกำจัดสิทธิของแพทย์-นโยบายยอดดีกระนั้นหรือ

ศ.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล ราชบัณฑิต

บทบก.วารสารวงการแพทย์ ประจำวันที่ 1-15 มค. 2554

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทึดีอาร์ไอ) เสวนาเรื่องทางเลือกประเทศไทยในระบบการคลังสาธารณสุข ที่โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท ว่านโยบายศูนย์การแพทย์ (เมดิคัลฮับ)ของรัฐบาลที่ต้องการดึงชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลไทย เป็นนโยบายที่เลวที่สุดที่เคยมีมา ประเทศไทยกำลังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก เมดิคัลฮับดึงแพทย์ออกจากระบอบสาธารณสุข  หากจะรั้งแพทย์ไม่ให้ออกจากระบบต้องจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ให้มากขึ้น สร้างปัญหาใหม่ในด้านงบประมาณ ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในระบบสาธารณสุขไทย  “งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทที่ใช้ในการสนับสนุนเมดิคัลฮับหากช่วยให้สามารถผลิตแพทย์ได้มากขึ้นก็พอรับได้ แต่เรื่องอะไรที่ประเทศไทยต้องต้อนรับอาคันตุกะขี้โรคเหล่านั้น  รัฐบาลควรหยุด และหันหลังกลับมาทบทวนนโยบายดังกล่าว รัฐบาลไม่มีความจำเป็นจะต้องทำประชาพิจารณ์ ร่างยุทธศาสตร์เมดิคัลฮับ เพราะเรื่องนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นและคิดผิดมาตั้งแต่ต้น” ดร.อัมมาร์กล่าว และว่า “ปัจจุบันโรงพยาบาลมีกำไรราว 4-5 พันล้านบาท ในขณะปี 2553 ขาดทุนกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งปัญหาการขาดทุนนี้ เกิดจากการที่ค่าตอบแทนแพทย์สูงขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ต้องดึงเงินบำรุงโรงพยาบาลมาใช้ และหากจะอ้างว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ให้งบประมาณไม่เพียงพอแก่การรักษาพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลเกิดหนี้สูญนั้นไม่เป็นความจริง สปสช.จ่ายงบประมาณงวดแรกไปแล้ว 28,000 ล้านบาท และจะจ่ายงวดถัดไปเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ รวมแล้วปีละ 50,000 ล้านบาท เงินจำนวนดังกล่าวเพียงพอสำหรับการรักษาพยาบาลและค่าตอบแทนแพทย์ ในแต่ละโรงพยาบาล”

บท เรียนจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อของประเทศไทยนี้ น่าจะสอนให้เราโดยเฉพาะแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ได้รู้ว่าในทัศนะของ นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อของประเทศไทยท่านมีความจำเป็นต่อวงการแพทย์เช่นใด และท่านรู้หรือไม่ว่า

1.   แพทย์เป็นวิชาชีพเดียวที่ถูก “บังคับ” โดยรัฐให้ต้องใช้ทุนโดยการปฏิบัติงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว แพทย์ใช้ทุนส่วนใหญ่ต้องไปปฏิบัติงานใช้ทุนในโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกล

2.   มีวิชาชีพใดบ้างไหม เช่น เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ฯลฯ ที่ต้องถูก “บังคับ” เช่นวิชาชีพแพทย์ ทั้งๆที่วิชาชีพอีกจำนวนมากมายที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ทำไมไม่บังคับให้ต้อง “ใช้ทุน”  เช่นวิชาชีพแพทย์

3.   การ “ใช้ทุน” เป็นเพียงแต่ “ชื่อ” เท่านั้น ความจริงเมื่อเรียนแพทย์ก็ไม่เคย “ได้ทุน” จากรัฐเลย

4.   การแสดงความเห็น “หากจะรั้งแพทย์ไม่ให้ออกจากระบบต้องจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ให้มากขึ้น  สร้างปัญหาใหม่ในด้านงบประมาณ ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในระบบสาธารณสุขไทย” หมายความว่า ต้องทั้ง “บังคับให้ทำงาน” “บังคับเรื่องรายได้” กระนั้นหรือ เราต้องการให้แพทย์ไทยต้อง “ยากจน” ไปตลอดชีพกระนั้นหรือ?

5.   การที่จะมีเมดิคัลฮับได้นั้น ประการสำคัญที่สุดก็คือ แพทย์ต้องมี “ฝีมือ” มี “ชื่อเสียง” ใช่ไหม ถ้าเรายังมีแพทย์ที่ไร้ฝีมือ ไร้ชื่อเสียง ก็ต้องถามต่อไปว่าจะมีชาวต่างชาติสักกี่คนที่ยินดีจะเข้ามาในประเทศไทยให้รักษา ถ้าหากได้อ่านประวัติการแพทย์ของไทย ผู้อ่านก็จะทราบความเป็นมาว่าเหตุใดแพทย์ไทยจึงมีฝีมือ มีชื่อเสียงมากเพียงพอขนาดให้ชาวต่างชาติยินดีเข้าประเทศมาเพื่อการรักษา

6.   ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงราคาค่าใช้จ่าย ถ้าหากไม่คุ้มทุน ไม่คุ้มค่าแล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

7.   ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือไม่ใช่ ทุกๆคนก็คงต้องมีการดำรงชีพและวิถีชีวิตที่ตนต้องการ และส่วนหนึ่งก็ย่อมขึ้นอยู่กับรายได้ของแพทย์ ท่านยังต้องการจะ “กด” แพทย์ให้ได้รับเงินเดือนน้อยหรือรายได้น้อย แต่ต้องรับใช้สังคมจน “โงหัวไม่ขึ้น” กระนั้นหรือ?

   ยังมีประเด็นอีกมากมายที่อาจจะนำมาสาธยายได้ แต่คราวนี้ขอเพียงเท่านี้ก่อน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 กุมภาพันธ์ 2011, 09:58:47 โดย seeat »