ผู้เขียน หัวข้อ: ยอดคนกลางสุสานซากเรือ-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 999 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สังเวียนชีวิตของคนเล็กคนน้อยในบังกลาเทศกับงานที่จัดว่าเสี่ยงอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งของโลก

 

 

เรือเดินสมุทรไม่ได้ต่อขึ้นเพื่อให้รื้อตัดเป็นชิ้นๆได้ แต่ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อแรงกระทำมหาศาลท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อาจเรียกได้ว่าหฤโหดที่สุดบางแห่งของโลก  และมักสร้างด้วยวัสดุที่เป็นพิษ เช่น แร่ใยหินและตะกั่ว เมื่อเรือถูกชำแหละเป็นเศษเหล็กในประเทศพัฒนาแล้ว กระบวนการดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นงานรื้อทำลายซากเรือส่วนใหญ่ของโลกจึงมักทำกันในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งแรงงานมีราคาถูกและกฎระเบียบข้อบังคับมีน้อยที่สุด

การปฏิรูปอุตสาหกรรมรื้อทำลายซากเรือเป็นไปอย่างเชื่องช้าและขยักขย่อน ปัจจุบัน อินเดียบังคับให้มีมาตรการป้องกันมากขึ้นทั้งสำหรับคนงานและสิ่งแวดล้อม  แต่ในบังกลาเทศซึ่งมีเรือถูกรื้อทำลายถึง 194 ลำในปี 2013 อุตสาหกรรมนี้ยังคงสกปรกและอันตรายอย่างยิ่ง

แถมยังเป็นอุตสาหกรรมที่กำไรงามด้วย  นักรณรงค์เคลื่อนไหวในเมืองจิตตะกองให้ทรรศนะว่า เฉลี่ยแล้วเรือลำหนึ่งตามอู่รื้อทำลายซากเรือต่างๆในบังกลาเทศสามารถทำกำไรได้ราวหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินลงทุนห้าล้านดอลลาร์ เทียบกับกำไรไม่ถึง 200,000 ดอลลาร์ในปากีสถาน ทว่าคนในอุตสาหกรรมนี้แย้งว่า ส่วนต่างของผลกำไรไม่ได้สูงขนาดนั้นโดยขึ้นอยู่กับเรือแต่ละลำและหลายปัจจัย เช่น ราคาปัจจุบันของเหล็ก เป็นต้น

ไม่ว่ากำไรที่แท้จริงจะเป็นเท่าใด ก็ล้วนมาจากการนำชิ้นส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของเรือแต่ละลำมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู กระบวนการดังกล่าวเริ่มขึ้นหลังจากอู่รื้อทำลายได้เรือมาจากนายหน้าข้ามชาติผู้ซื้อขายเรือปลดระวาง กัปตันที่มีความชำนาญด้านการนำเรือขนาดใหญ่ขึ้นหาดจะได้รับการว่าจ้างให้นำเรือมาส่งที่อู่

เมื่อเรือถูกลากขึ้นมาเกยหาดเลนแล้ว  ของเหลวทุกอย่างภายในเรือจะถูกถ่ายออกมา รวมทั้งน้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่อง และสารเคมีดับเพลิงใดๆ ที่หลงเหลืออยู่  ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำไปขายต่อ จากนั้น เครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่แบตเตอรี่ไปจนถึงสายไฟ เรือชูชีพไปจนถึงหน้าปัดอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆในสะพานเดินเรือ จะถูกรื้อออกมาจนหมดแล้วขายให้กับพ่อค้าของเก่า

หลังจากเรือถูกรื้อจนเหลือแต่ซากโลหะลำมหึมา   กองทัพคนงานจากย่านยากจนที่สุดต่างๆ ของบังกลาเทศจะใช้เครื่องตัดแก๊สอะเซทิลินเฉือนซากเรือออกเป็นชิ้นๆ  แล้วลำเลียงออกไปจากหาดโดยทีมคนงานขนถ่าย เพื่อนำไปหลอมแล้วรีดเป็นเหล็กเส้นสำหรับใช้ในการก่อสร้าง

"ฟังดูแล้วก็เหมือนธุรกิจดีๆอย่างหนึ่ง กระทั่งคุณนึกถึงพิษที่แทรกซึมลงสู่ผืนดินของเรา" มุฮัมมัด อาลี ชาฮิน กล่าว เขาเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่คอยเฝ้าระวังอุตสาหกรรมรื้อทำลายซากเรือ "หรือกระทั่งคุณได้พบเหล่าภรรยาม่ายของคนงานหนุ่มๆที่ถูกแผ่นเหล็กตกลงมาทับตาย หรือขาดอากาศตายในเรือ"

ชาฮินยืนกรานว่า เขาไม่ได้มืดบอดต่อความจริงที่ว่า บังกลาเทศต้องการการสร้างงานเช่นที่มาจากอุตสาหกรรมรื้อทำลายซากเรือเป็นอย่างมาก "ผมไม่ได้บอกว่าการรื้อทำลายซากเรือต้องหยุดลงอย่างสิ้นเชิง" เขาบอกและเสริมว่า "แต่เราต้องทำกันอย่างสะอาดและปลอดภัยมากกว่าที่เป็นอยู่  พร้อมกับการปฏิบัติต่อคนงานที่ดีขึ้น"

ข้อวิจารณ์ของเขาไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ประกอบกิจการรื้อทำลายซากเรือในบังกลาเทศเท่านั้น "ในโลกตะวันตก  คุณไม่ปล่อยให้คนก่อมลพิษในบ้านด้วยการรื้อทำลายซากเรือบนหาดของพวกคุณ แต่ทำไมถึงยอมรับได้กับการที่คนงานยากจนต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อกำจัดเรือที่พวกคุณไม่ต้องการกันที่นี่ละครับ"

ในย่านชุมชนแออัดเหยียดยาวที่ผุดขึ้นรายรอบอู่รื้อทำลายซากเรือ เราพบคนงานหลายสิบชีวิตซึ่งเป็นกลุ่มที่ชาฮินเป็นห่วงที่สุด คนเหล่านี้คือคนงานตัดเหล็กและลากออกไปจากหาด  หลายคนมีแผลเป็นขรุขระบาดลึก "รอยสักจิตตะกองน่ะครับ" ชายคนหนึ่งเรียกอย่างนี้ บางคนนิ้วด้วน มีสองสามคนที่ตาบอดข้างหนึ่ง         

ระหว่างที่เราพูดคุยกันมีเสียงดังเหมือนฟ้าผ่าจนหลังคาสังกะสีสั่นสะเทือน  ตามมาด้วยเสียงถล่มครืน เรามองออกไปข้างนอก ในใจคิดว่าคงได้เห็นมรสุมที่ขึ้นชื่อว่ารุนแรงนักของบังกลาเทศกำลังตั้งเค้าแน่ๆ  แต่ดวงอาทิตย์ยังสาดแสงจ้าอยู่ "เสียงแผงเหล็กแผ่นใหญ่หล่นลงมาจากเรือน่ะครับ" ชายคนเดิมบอก "เราได้ยินกันทุกวันแหละครับ"

เรื่องโดย ปีเตอร์ กวิน
เดือนพฤษภาคม