ผู้เขียน หัวข้อ: ตามล่าไดโนเสาร์แห่งยูทาห์-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 978 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ทวีปที่สาบสูญนาม “ลารามีเดีย” คืออาณาจักรของไดโนเสาร์หลายชนิดที่วงการวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน

 

 

สองพี่น้องมิลเลอร์ดูเหมือนนักสำรวจแร่มากกว่านักบรรพพฤกศาสตร์  ด้วยหนวดเคราที่เกรอะกรังไปด้วยฝุ่นและหน้ากากที่ช่วยป้องกันดวงตาจากลมทะเลทราย ทั้งคู่เป็นหนุ่มร่างใหญ่สูงเกือบสองเมตรที่เยื้องย่างอย่าง                มั่นอกมั่นใจตามประสาคนใช้ชีวิตกลางแจ้งไปตามขอบผาที่บางราวคมมีดทางตอนใต้ของรัฐยูทาห์ ขณะที่เอียนเหวี่ยงอีเต้อเจาะหินโคลน  เดนก็ฉวยโอกาสที่ลมหยุดพัดรีบมวนยาสูบ

ทั้งคู่พร้อมด้วยสกอตต์ แซมป์สัน หัวหน้าภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์เดนเวอร์ (Denver Museum of Nature & Science)  และโจ เซอร์ทิก นักบรรพชีวินวิทยาไดโนเสาร์ประจำพิพิธภัณฑ์ ออกสำรวจหาฟอสซิลเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีที่ผ่านมาในเขตอนุสรณ์สถานแห่งชาติแกรนด์สแตร์เคส-เอสกาลันเต (Grand Staircase-Escalante National Monument) พวกเขาสำรวจพื้นที่ห่างไกลเป็นพิเศษแห่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะเหมือนเขาวงกตของผาชันริมน้ำและร่องน้ำเซาะ ขณะทีมงานที่เหลือปฏิบัติงานอยู่ในเหมืองฟอสซิลซึ่งค้นพบในช่วงหลายปีก่อนหน้า แซมป์สัน, เซอร์ทิก กับพี่น้องมิลเลอร์ มองหาแหล่งฟอสซิลใหม่ๆ หลังทำงานออฟฟิศมานานหลายเดือน แซมป์สันดีใจจนออกนอกหน้าเมื่อได้มาอยู่ “ในที่ที่ไม่เคยมีนักบรรพชีวินวิทยาคนใดเคยย่างกรายมาก่อน” พร้อมความหวังที่จะค้นพบขุมทรัพย์ใหม่ๆ จาก “ทวีปอันสาบสูญ” นามว่า ลารามีเดีย (Laramidia)

ลารามีเดียก่อตัวขึ้นเมื่อ 90 ล้านปีก่อนในช่วงปลายยุคครีเทเชียส เมื่อน้ำทะเลไหลบ่าเข้าท่วมตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้แผ่นดินแยกออกเป็นสองส่วน

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา  แซมป์สันนำทีมสำรวจเข้าสู่ภูมิภาคห่างไกลของลารามีเดีย  ส่วนใหญ่พวกเขาขุดค้นในหมวดหินไคแพโรวิตส์ (Kaiparowits) ซึ่งเป็นชั้นตะกอนหนา 800 เมตรอายุราว 77 – 75 ล้านปี และพบฟอสซิลพืชและสัตว์หลายพันชิ้น  ตั้งแต่ลูกสนไปจนถึงจระเข้ เต่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไดโนเสาร์  ในช่วงเวลาราว 20 ล้านปีที่ทวีปแห่งนี้ดำรงอยู่ ลารามีเดียเป็นเสมือนโรงงานผลิตไดโนเสาร์ที่ไม่เคยหยุดพัก โดยรังสรรค์ไดโนเสาร์น้อยใหญ่ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์อย่างน่าทึ่ง

การค้นพบสำคัญครั้งแรกๆครั้งหนึ่งที่หมวดหินไคแพโรวิตส์เกิดขึ้นในปี 2002 เมื่ออาสาสมัครภาคสนามคนหนึ่ง สังเกตเห็นกระดูกขากรรไกรโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน นักวิจัยพบในภายหลังว่า มันเป็นกระดูกที่ติดอยู่กับหัวกะโหลกขนาดใหญ่ของแฮโดรซอร์ (hadrosaur) หรือไดโนเสาร์ปากเป็ดยาวเก้าเมตร  แซมป์สันอธิบายว่า  ขากรรไกรของไดโนเสาร์ชนิดนี้อัดแน่นไปด้วยฟันร่วม 800 ซี่  จึงเป็นที่มาของฉายา “เครื่องบดอาหารแห่งยุคครีเทเชียส”  ส่วนจมูกมีสันชัดเจน นักวิจัยจึงจัดมันอยู่ในสกุล ไกรโพซอรัส (Gryposaurus หรือสัตว์เลื้อยคลานที่มีจมูกงุ้ม)  กระนั้น ยักษ์ใหญ่แห่งยูทาห์นี้กลับดู “บึกบึน” อย่างที่แซมป์สันเปรียบเปรยว่า “ดูเหมือนไดโนเสาร์ปากเป็ดภาคอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์น่ะครับ”   เขาและเทียร์รี เกตส์ ตั้งชื่อไดโนเสาร์ชนิดใหม่นี้ว่า จี.โมนูเมนเทนซิส (G. monumentensis) ตามสถานที่ที่ค้นพบ

ในปีเดียวกันนั้น ไมก์ เกตตี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้จัดเตรียมตัวอย่างสำหรับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เดนเวอร์ ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในยูทาห์เป็นไดโนเสาร์สูงสองเมตร สัตว์กินเนื้อสองขาและอาจ มีขนปกคลุมตัวนี้กลายมาเป็น ฮากรีฟัส ไจแกนทีอัส (Hagryphus giganteus) หรือเทพปักษีร่างยักษ์แห่งทะเลทรายตะวันตก

จากนั้น ไดโนเสาร์ชนิดอื่นๆก็ตามมา เช่น ไดโนเสาร์หัวกลม ไดโนเสาร์หุ้มเกราะ ไดโนเสาร์ที่มีอุ้งเล็บงุ้มโง้งเหมือนเคียวและเป็นญาติของ เวโลซีแรปเตอร์ (Velociraptor) รวมทั้งไดโนเสาร์มีเขาอีกหลายชนิด  แต่ละชนิดดูน่าตื่นตากว่าชนิดก่อนหน้า

แซมป์สันบอกว่า “สัตว์ที่พบเกือบทุกตัวเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ครับ” และไม่ใช่แค่ไดโนเสาร์เท่านั้น หากยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา กิ้งก่า เต่า และจระเข้อีกด้วย  “ดูเหมือนว่าสัตว์พื้นถิ่นที่นี่เป็นของใหม่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ทั้งนั้นครับ” นักวิจัยสันนิษฐานว่ามีบางสิ่งแบ่งแยกหรือตัดขาดไดโนเสาร์ในลารามีเดียตอนใต้จากเครือญาติทางตอนเหนือ เมื่ออยู่อย่างโดดเดี่ยวสัตว์แต่ละกลุ่มย่อมวิวัฒน์แตกต่างกันไป  แต่แซมป์สันและทีมงานยังไม่ปักใจเชื่อแนวคิดที่ว่า ปราการทางกายภาพ เช่น เทือกเขาหรือแม่น้ำสายกว้างเป็นตัวแบ่งแยกสัตว์เหล่านี้ออกจากกัน  เขากล่าวว่า เทือกเขาอาจกีดขวางเส้นทางของสัตว์บางประเภท แต่ก็มีสัตว์อีกหลายประเภทที่รู้กันว่าสามารถเดินข้ามเทือกเขาได้ “พวกมันเดินข้ามเขากันตลอดเวลาแหละครับ” ส่วนแม่น้ำนั้น แซมป์สัน บอกว่า  “ผมนึกภาพไม่ออกว่า  แม่น้ำจะดำรงอยู่ได้นานนับหมื่นๆ หรือเป็นแสนๆปีได้อย่างไร เพราะไม่ช้าก็เร็วต้องมีช่วงฝนแล้งที่ทำให้แม่น้ำเหือดแห้งอยู่ดี”

แซมป์สันอธิบายความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งของ “ความจำเพาะถิ่น” ของไดโนเสาร์แห่งลารามีเดียว่า ถ้าสิ่งที่แยกส่ำสัตว์ในลารามีเดียออกจากกัน  คือความแตกต่างหรือความแปรผันของสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่เละ   กล่าวคือเมื่อไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งกระจายพันธุ์ครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างใหญ่พอ  ประชากรที่อยู่สองฟากฝั่งตรงข้าม เช่น เหนือสุดและใต้สุด อาจต้องปรับตัวผ่านกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) ให้เข้ากับเขตภูมิอากาศและพืชพรรณที่แตกต่างออกไป เมื่อเวลาล่วงเลย สมาชิกของแต่ละกลุ่มประชากรอาจวิวัฒน์ในลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงถึงขนาดที่ว่าแม้โคจรมาพบกัน ก็อาจไม่รู้ว่าอีกฝ่ายสามารถเป็นคู่ผสมพันธุ์ได้ ณ จุดนั้นเอง ประชากรสองกลุ่มจึงกลายเป็นสัตว์สองชนิดพันธุ์

 เรื่องโดย ปีเตอร์ มิลเลอร์
เดือนพฤษภาคม