ผู้เขียน หัวข้อ: สงครามฝิ่น (สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2210 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานซึ่งมีประชากรร้อยละ 85 เป็นเกษตรกร  ต้อง พึ่งพารายได้จาก “ท่อน้ำเลี้ยง” สองแหล่ง ด้านหนึ่งคือความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกที่หวังว่าอัฟกานิสถานจะตัดขาด จากกลุ่มตอลิบาน อีกด้านหนึ่งมาจากการค้าฝิ่นที่ได้รับแรงหนุนจากกลุ่มตอลิบานซึ่งอาศัยราย ได้จากการนี้ไปใช้ในปฏิบัติการโจมตีกองกำลังชาติตะวันตก รัฐบาลอัฟกานิสถานเพิ่งจะตระหนักเมื่อไม่นานมานี้เองว่า หากพวกเขายังหวังให้ความช่วยเหลือด้านการเงินจากประชาคมโลกดำเนินต่อไป ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพารายได้จากการปลูกฝิ่นจำเป็นต้องยุติลง    พร้อมกับไร่ฝิ่ที่ต้องถูกทำลายอย่างสิ้นซาก

            เมื่อ ห้าปีก่อน แคว้นบาดาคชานเป็นแหล่งปลูกฝิ่นใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของอัฟกานิสถาน รองจากแคว้นเฮลมันด์ที่อยู่ในการควบคุมของกลุ่มตอลิบาน  ใน ช่วงเวลาสั้นๆที่รัฐบาลตอลิบานห้ามการปลูกฝิ่นเมื่อปี 2000 แค้วนบาดาคชานถึงกับก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการปลูกฝิ่น เนื่องจากในขณะนั้นบาดาคชานอยู่ภายใต้การควบคุมของแนวร่วมอิสลามเพื่อการปลด ปล่อยอัฟกานิสถาน หรือกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance Militia) มากกว่า จะเป็นกลุ่มตอลิบาน เมื่อปี 2007 บาดาคชานมีพื้นที่ปลูกฝิ่นอยู่ประมาณ 36.5 ตารางกิโลเมตร สองปีต่อมาพื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงเหลือน้อยกว่า 6 ตารางกิโลเมตร                                             

            ตลอด หลายร้อยปีที่ผ่านมา ฝิ่นมีอิทธิพลแทรกซึมอยู่ในอัฟกานิสถานไม่มากก็น้อย ก่อนที่จะเข้าครอบงำเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชทรงไม่อาจพิชิตดินแดนทุรกันดารแห่งนี้ได้ ทั้งหมดในศตวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาล แต่ก็เชื่อกันว่าพระองค์คือผู้ทรงนำฝิ่นเข้ามาสู่อัฟกานิสถาน ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็น ผู้ พิชิตดินแดนแห่งนี้ได้ในที่สุด ทว่าการปลูกฝิ่นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ของอัฟกานิสถานว่าเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนนี้เอง ฝิ่นเป็นพืชที่เหมาะกับดินอุดมของบาดาคชานและแคว้นนังการ์ฮาร์ทางตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกฝิ่นเป็นครั้งแรก  ซ้ำยังเป็นพืชที่ต้องการน้ำฝนและปุ๋ยเพียงเล็กน้อย  มีฤดูการปลูกสั้นๆ  และ ไม่ได้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอะไรมากมายในการหว่านเมล็ดและกรีดดอกฝิ่น ฝิ่นเข้ายึดครองพื้นที่เล็กๆแต่ให้ผลประโยชน์สูงในประเทศเกษตรกรรมแห่งนี้ ตลอดช่วงศตวรรษที่สิบแปดและสิบเก้า  แม้เมื่ออินเดีย ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลิตและค้าฝิ่นในเวลาต่อมาก็ยังต้องพ่ายต่อตุรกี และต่อมาได้เสียตำแหน่งให้กับดินแดนแห่งขุนเขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รู้จักกันในนาม “สามเหลี่ยมทองคำ”)  เป็นเพราะตลาดเฮโรอีนที่กำลังขยายตัวในยุโรปและสหรัฐฯนั่นเอง

 

อัฟกานิสถานเพิ่งจะกลายเป็นผู้ส่งออกฝิ่นในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบนี้เอง  กษัตริย์ มุฮัมมัด ซาฮีร์ ชาห์ มีพระบัญชาให้ยุติการปลูกฝิ่นชั่วคราวตามคำร้องขอขององค์การสหประชาชาติซึ่ง อัฟกานิสถานเข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 1946 ชาวไร่ในแคว้นบาดาคชานและนังการ์ฮาร์ที่ยังชีพด้วยการปลูกฝิ่นพยายามโน้ม น้าวให้พระองค์เปลี่ยนพระทัย ในเวลาเดียวกัน พืชผลที่สร้างชื่อให้อัฟกานิสถาน ได้แก่ ถั่วพิสตาชิโอ อัลมอนด์ ทับทิม ฝ้าย และองุ่น

            เรื่องราวดำเนินไปเช่นนั้น  จนกระทั่งการรุกรานของสหภาพโซเวียตเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1979 พลิกโฉมหน้าภูมิประเทศของอัฟกานิสถานไปตลอดกาล  โซเวียตปิดตลาดผลไม้หลายแห่ง  พร้อมกับเลิกกิจการโรงงานปั่นฝ้ายในประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกของอุซเบกิสถาน   สงคราม ยืดเยื้อนานสิบปีระหว่างโซเวียตกับกลุ่มมุญาฮิดีนที่มีสหรัฐฯหนุนหลัง สร้างความเสียหายมหาศาลแก่โครงสร้างพื้นฐานของอัฟกานิสถาน ตั้งแต่ถนนจากไร่นาสู่ตลาด คลองชลประทาน ยุ้งฉาง ไปจนถึงโรงงานแปรรูปอาหาร การเกษตรของอัฟกานิสถานถูกทำลายย่อยยับ  ในช่วงรอยต่อหลังจากสหภาพโซเวียตถอนกำลังออกไปเมื่อปี 1989  และกลุ่มตอลิบานผงาดขึ้นสู่อำนาจในปี 1994  ประเทศเข้าสู่กลียุคเมื่อผู้นำชนเผ่าต่างๆ เปิดศึกแย่งชิงอำนาจ  เกษตรกร ชาวอัฟกานิสถานที่กระเสือกกระสนเพื่อให้มีที่ยืนในตลาดอีกครั้งพบว่า อินเดียและปากีสถานได้พัฒนาผลผลิตของตัวเองขึ้นมาและไม่สนใจนำเข้าพืชผลจาก อัฟกานิสถานอีกต่อไป ขณะที่ประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการปราบปรามการปลูกฝิ่นในประเทศของ ตน   นักค้ายาเสพติดจึงเริ่มหมายตาหาดินแดนไร้เสถียรภาพแห่งใหม่ที่เอื้อต่อธุรกิจค้ายาเสพติด  ผู้ผลิต คนขนยา และนักค้ายาเสพติดจากปากีสถานเริ่มปรากฏตัวขึ้นที่นังการ์ฮาร์ จากนั้นก็ไปที่บาดาคชาน ตามด้วยแคว้นเฮลมันด์ทางใต้

            ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของฝิ่นอัฟกานิสถานพุ่งทะยานจากร้อยละ 19 ในปี 1986 เป็นร้อยละ 90 ในอีก 20 ปีต่อมา  อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดเห็นจะไม่พ้นกลุ่มตอลิบาน  เมื่อตอลิบานก้าวขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกในปี 1996  พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้นำชนเผ่า  โดยตกลงว่าจะไม่มีการปราบปรามการปลูกฝิ่น  มุลลาห์ โอมาร์  ผู้นำสูงสุดของตอลิบาน  ได้รับเงินทุนอย่างสม่ำเสมอจากกลุ่มค้ายาเสพติดกลุ่มต่างๆที่เขาอนุญาตให้ทำธุรกิจได้ ล่วงถึงปี 1999  ผล ผลิตฝิ่นของอัฟกานิสถานก็เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 5,000 ตัน กระตุ้นให้ผู้ตรวจสอบจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชา ชาติ หรือยูเอ็นโอดีซี (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) เพิ่มแรงกดดันให้อัฟกานิสถานเร่งปราบปรามการปลูกฝิ่น           
            ในเดือนกรกฎาคม ปี 2000 มุลลาห์ โอมาร์ ได้ออกฟัตวา (fatwa) หรือคำตัดสินความตามหลักศาสนาอิสลาม ประกาศให้การผลิตฝิ่นเป็นการฝ่าฝืนศาสนาอิสลาม  รัฐบาลตอลิบานบังคับใช้ข้อห้ามนี้ด้วยกฎเหล็ก  ตาม ที่อดีตชาวไร่ฝิ่นคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า “พวกเขาขู่ว่าจะจุดไฟเผาบ้าน” ผลก็คือการผลิตฝิ่นของอัฟกานิสถานลดลงถึงร้อยละ 91 ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี

 

หลังจากสหรัฐฯนำ กำลังพันธมิตรรุกรานอัฟกานิสถานและกลุ่มตอลิบานล่มสลายลงในปี 2001 ผู้นำชนเผ่าต่างๆหันไปสนับสนุนให้มีการปลูกฝิ่นอีกครั้ง และเมื่อไร้ซึ่งอำนาจ กลุ่มตอลิบานจึงมองฝิ่นเป็นช่องทางหาเงินทุนสำหรับการก่อการร้าย  ฝิ่นเป็นพืชที่ปลูกในฤดูหนาว  ดังนั้นหลังจากเก็บเกี่ยวในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิแล้ว ชาวไร่จึงสามารถปลูกข้าวโพด ฝ้าย หรือพืชตระกูลถั่วต่างๆต่อได้ในผืนดินเดียวกัน  ในช่วงหลายปีที่ความต้องการฝิ่นในตลาดมีสูงมาก ชาวไร่รายหนึ่งอาจทำรายได้จากฝิ่นมากกว่าพืชผลอื่นถึงหกเท่า เมื่อฝิ่นราคาตก  ชาวไร่ก็เพียงแค่ห่อผลผลิต (ยางฝิ่น) ที่สามารถเก็บได้ยาวนานด้วยพลาสติก และเก็บไว้จนกระทั่งราคาในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

            ใน ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มตอลิบานขยายอิทธิพลควบคุมพื้นที่ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน การปลูกฝิ่นยิ่งทำได้ง่ายขึ้น ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดใช้วิธีจ่ายเงินค่าผลผลิตล่วงหน้าให้ชาวไร่และจะมารับ ของในภายหลัง ส่วนบรรดาเจ้าพ่อค้ายาก็รับประกันได้ว่า เส้นทางลำเลียงฝิ่นสู่ห้องปฏิบัติการผลิตเฮโรอีนที่ชายแดนและการส่งออกนอก อัฟกานิสถานจะเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและศุลกากรต่างได้รับสินบนเพื่อแลกกับการเอาหูไปนาเอาตา ไปไร่

                “ใคร จะหยุดพวกลักลอบค้าฝิ่นได้ ตำรวจน่ะหรือ” ชาวไร่คนหนึ่งถาม “ก็ไม่ใช่พวกตำรวจหรอกเหรอที่ขนฝิ่นเราขึ้นรถไป คุณเห็นตึกใหญ่ๆในลัศการ์กาห์กับกันดาฮาร์หรือเปล่า สร้างจากเงินคอร์รัปชั่นทั้งนั้น” เขาไม่เข้าข้างกลุ่มตอลิบานเลยแม้แต่น้อย แต่ระบบที่ตอลิบานบังคับใช้เป็นผลดีสำหรับเขา เขาเสริมว่า “มันเป็นวิธีหาเงินที่เลวร้าย คุณจะทำอย่างอื่นไม่เป็นเลย ถ้าพ่อหาเลี้ยงลูกชายด้วยเงินที่ได้จากฝิ่น ลูกชายก็จะปลูกฝิ่นด้วยเหมือนกัน เขาจะไม่มีทักษะอย่างอื่น เราไม่มีช่างไม้ ไม่มีวิศวกร ไม่มีช่างเครื่อง ไม่มีอะไรทั้งนั้น” ก่อนจะยิ้มเศร้าๆและตบท้ายว่า ฝิ่นเป็นเนื้อร้ายของประเทศนี้ครับ”

 

เป็นไปได้หรือไม่ที่ จะจำกัดเนื้อร้ายนี้ จังหวัดนังการ์ฮาร์ที่มีพรมแดนติดกับปากีสถานทางทิศตะวันออก เป็นชุมทางของการลักลอบค้ายาเสพติดมาช้านานแล้ว ดินแดนแห่งขุนเขาและเถื่อนถ้ำในแถบนี้ เช่น ช่องเขาไคเบอร์ และหมู่ถ้ำโตราโบรา ขึ้นชื่อลือกระฉ่อนว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ด้วยภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน จังหวัดนังการ์ฮาร์จึงเป็นแหล่งผลิตฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถานจนถึงปี 2004 การบังคับปราบปรามไร่ฝิ่นเริ่มขึ้นเมื่อปี 2005 แต่ในระยะแรกรัฐบาลไม่อาจรักษาคำมั่นที่จะสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ อื่นนอกเหนือจากการปลูกฝิ่น และแม้แต่ในจาลัลอาบาด เมืองหลวงของจังหวัด ก็ยังคงสภาพเป็นเมืองด้อยพัฒนาและเงียบสงัด

            ทุก วันนี้ เมืองจาลัลอาบาดและพื้นที่ปริมณฑลดูเหมือนภาพสะท้อนของความสำเร็จในการกำจัด ฝิ่นและการสร้างเศรษฐกิจทางเลือก ปัจจุบันถนนหนทางของจาลัลอาบาดจัดว่าคึกคักและมีชีวิตชีวาที่สุดแห่งหนึ่งใน อัฟกานิสถาน ทุกเช้ารถบรรทุกนับร้อยๆคันจะขนพืชผลนับสิบชนิดอย่างแตงโม มันฝรั่ง น้ำเต้า กระเจี๊ยบ และหอมหัวใหญ่มาส่งที่ตลาดขายส่งอันคับคั่งจอแจ กระนั้นก็ยังไม่มีพืชผลใดทำเงินได้ทัดเทียมการปลูกฝิ่น

            ที่ หมู่บ้านยากีบันด์ซึ่งครั้งหนึ่งแทบจะพูดได้ว่าปลูกฝิ่นเพียงอย่างเดียว ผู้อาวุโสของเผ่ากลุ่มหนึ่งนั่งล้อมวงแลก เปลี่ยนความความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปของจังหวัดนังการ์ฮาร์หลังปิดฉาก ยุคฝิ่นครองเมือง พวกเขารวมตัวกันอยู่ในห้องที่มองลงไปเห็นไร่ฝ้าย นาข้าว แปลงบร็อคโคลีและพืชผลอื่นๆ  “ชีวิตไม่ได้ดีเท่ากับ เมื่อห้าปีก่อนหรอก” ผู้เฒ่าคนหนึ่งเปรยขึ้น “คงได้สักร้อยละ 60 จากที่เราเคยมีกระมัง พวกเรายังมีความหวังกับโครงการใหม่ๆ”
                ควอ จา มุฮัมมัด รองผู้อำนวยการตลาดขายส่ง กล่าวชื่นชมความช่วยเหลือของเหล่าเอ็นจีโอ แต่ก็เสริมว่า “อัฟกานิสถานยังอยู่ในภาวะสงคราม เรายังไม่อาจยืนบนลำแข้งของตัวเอง ถ้าประเทศจมอยู่ในวังวนของสงคราม มานาน 30 ปี คุณอาจต้องใช้เวลาถึง 80 ปีในการสร้างประเทศขึ้นใหม่  ถ้าชาวไร่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ก็อย่าไปหวังให้พวกเขาเลิกปลูกฝิ่นเลยครับ”

 กุมภาพันธ์ 2554