ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ท่องคาถา “แยกบทบาท” บีบ สปสช.เลิก สสจ.เป็น สนง.สาขา เจอย้อนศรจ่อยึดคนชายขอบ  (อ่าน 668 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช. ยอมถอย เห็นด้วยข้อเสนอ สธ. ยกเลิก สสจ. เป็น สปสช. สาขาจังหวัด ชี้กฎหมายกำหนดชัดแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ ก่อนเล่นกลับจ่อเสนอยึดดูแลคนชายขอบ แรงงานต่างด้าว คนรอพิสูจน์สถานะจาก สธ. อ้างคำเดียวกันต้องแยกบทบาทให้ชัดเจน จ่อเสนอบอร์ด สปสช. ฟันธง ยันยกเลิกให้ สสจ. จ่ายค่าตอบแทนภาระงานนานแล้ว
     
       วันนี้ (17 เม.ย.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. และรองเลขาธิการ สปสช. ร่วมแถลงข่าวกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงเรื่องการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในส่วนงบบัญชี 6 ซึ่งเป็นเงินส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยจากการรับบริการทางการแพทย์ ฯลฯ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในฐานะ สปสช. สาขาจังหวัด ซึ่ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยื่นข้อเรียกร้องมายังบอร์ด สปสช. ให้ยกเลิกการมอบหมาย สสจ. เป็น สปสช. สาขาจังหวัด ยกเลิกระเบียบการจัดสรรเงินบัญชี 6 การจ่ายค่าตอบแทนล้างไตหรือค่าตอบแทนอื่นใดลักษณะเดียวกัน และยกเลิกการใช้งบค่าเสื่อมตามที่ สตง. ท้วงติง โดยให้ตอบภายใน 2 สัปดาห์
       
       ทั้งนี้ นพ.วินัย กล่าวว่า ประเด็นที่ สตง. ทักท้วงการใช้จ่ายเงินนั้นไม่มีประเด็นการทุจริต แต่เป็นการใช้จ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ตรงตามประกาศ สปสช. ซึ่งเมื่อมีการทักท้วงก็ต้องตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นกลางมาร่วมดูข้อเท็จจริง ถ้าเป็นการเข้าใจผิดหรือไม่จงใจให้เกิดความเสียหาย ก็จะได้ชี้แจงกับ สตง. ได้ ส่วนประเด็นที่ปลัด สธ. เสนอมาทั้งหมดและจะให้ตอบภายใน 2 สัปดาห์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องนำเรื่องเข้าสู่บอร์ด สปสช. พิจารณาในวันที่ 7 พ.ค. โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิก สสจ. เป็น สปสช. สาขาจังหวัด ซึ่งกฎหมายระบุว่า สปสช. มีอำนาจในการมอบหมายหน่วยงานรัฐเป็น สปสช. สาขาจังหวัด การปรับเปลี่ยนก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นหลัก ซึ่งอาจจะให้สำนักงานสาขาเขตหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่แทน
       
       นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สตง. ได้ตรวจสอบการใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ปีงบประมาณ 2555 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการสุ่มตรวจสอบในระดับจังหวัด ทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ราชบุรี สมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี และตราด โดยพบว่ามีการใช้เงินบัญชี 6 ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือไม่มีระเบียบของ สปสช. รองรับ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นการทุจริต และเสนอให้ สปสช. และ สธ. ร่วมตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีรับผิดทางละเมิด โดยมีตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรียน (ก.พ.) ร่วมด้วย โดยจะประชุมครั้งแรกวันที่ 30 เม.ย. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่ สตง. ทักท้วง และเสนอ บอร์ด สปสช. พิจารณาต่อไป
       
       “ข้อทักท้วงส่วนใหญ่เกิดจากการตีความของ สตง. ตามความเคยชิน ซึ่งหากเป็นคณะกรรมการที่อยู่ในสายงานหรือทำงานด้านสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ก็อาจจะมีมุมมองและความเห็นอีกแบบ เพื่อไปอธิบายและชี้แจงในสิ่งที่ สตง.ทักท้วงได้ ซึ่ง สตง. ก็ยินดีที่จะปรับการตีความให้ครอบคลุมขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
       
       ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นที่ปลัด สธ. เสนอมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. นั้น ประเด็นแรกคือการให้ยกเลิก สสจ. เป็น สปสช. สาขาจังหวัด เนื่องจากมีความทับซ้อนในบทบาทหน้าที่ของผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการนั้น เรื่องนี้ สปสช.เห็นด้วย เพราะโดยหลักการแล้วผู้ซื้อและผู้ให้บริการต้องแยกจากกัน ซึ่งบทบาทของ สสจ. ขัดกับกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ระบุว่าภารกิจหลักประกันสุขภาพจะเป็นบทบาทของ สปสช. และ มาตรา 42-43 พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดชัดเจนว่าบทบาทของ สธ. ต้องตัดการจัดระบบหลักประกันออกจาก สธ.
       
       “ขณะนี้มี สปสช. สาขาเขตแล้ว และชุมชนเริ่มดูแลตนเองได้ ไม่เหมือนตอนแรกที่เริ่มดำเนินการ จึงต้องให้ สสจ. ทำหน้าที่ดังกล่าว ทางที่เป็นไปได้คืออาจขยายความพร้อมลง สปสช. สาขาเขตเข้ามาดูแล และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเริ่มมีความเข้มแข็งเข้ามาดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียนการใช้สิทธิต่างๆ รวมทั้งเห็นด้วยในการยกเลิกจัดสรรงบบัญชี 6 ที่เดิมจะส่งไปพักที่ สสจ. ซึ่งจะนำข้อเสนอทั้งหมดนี้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันที่ 7 พ.ค. อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องแยกบทบาทระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการให้ชัดเจน จริงๆ แล้วงานที่ สธ. ให้บริการคนชายขอบ คนไทยที่รอการพิสูจน์สัญชาติ หรือแม้แต่แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ในการทำงานก็ยังไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องแยกให้ชัดเจนต่อไปด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
       
       นพ.ประทีป กล่าวว่า ประเด็นที่สอง ที่เสนอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไตหรือค่าตอบแทนอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันที่มอบให้ สปสช. สาขาเป็นผู้จ่ายนั้น ขอชี้แจงว่าการจ่ายตามภาระงานเป็นการกระตุ้นให้ขยายการให้บริการและลดการรอคิวรับบริการ อย่างผู้ป่วยไตเพิ่มการเข้าถึงได้ถึง 10,000 คนต่อปี ผู้ป่วยต้อกระจกเพิ่มการเข้าถึงกว่า 100,000 รายต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีงบประมาณ 2557 บอร์ดสปสช.ได้มีมติยกเลิกให้ สสจ. เป็นผู้จ่ายเงินแล้ว โดยให้หน่วยบริการเป็นผู้จ่ายเงินเอง ส่วนประเด็นที่สามคือการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้งบค่าเสื่อมตามที่ สตง. ท้วงติงก็เป็นตามหลักการทั่วไป เมื่อมีการทักท้วงก็ต้องมีการยกเลิก ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาดูแล้วก็พบว่าเป็นเจตนาดีก็คงชี้แจงกับ สตง. ต่อไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 เมษายน 2557