ผู้เขียน หัวข้อ: เกาะพี่เกาะน้อง แฝดคนละฝา-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1146 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ค้นพบสรวงสรรค์กลางมหาสมุทรอินเดีย

ลองนึกภาพหินก้อนใหญ่สองก้อนกำลังร่ายรำ ภาพภาพนั้นคือ “บทอัศจรรย์” ของเต่าตนุสองตัวที่กำลังคลอเคลียพลอดรัก กระดองแนบชิดกระดอง ครีบแหวกว่ายอย่างอ้อยอิ่งไปตามท้องน้ำใสแจ๋วท่ามกลางมวลหมู่ปะการังแนวปะการังเช่นที่โอบล้อมเกาะยูโรปานอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของมาดากัสการ์ คือบริเวณที่เต่าตนุเพศเมียเฉลี่ยปีละมากกว่า 10,000 จะมาชุมนุมกันเพื่อรอการจับคู่ผสมพันธุ์ ก่อนจะขึ้นไปวางไข่บนฝั่ง

เต่าตนุมีกลยุทธ์ในการขยายพันธุ์ที่รู้จักกันในชื่อ “ดาวล้อมเดือน” กล่าวคือ แทนที่เต่าตนุเพศผู้จะใช้พลังงานไป กับการปกป้องอาณาเขตหรือต่อสู้กัน พวกมันกลับพุ่งเป้าไปที่การเสาะหาเต่าตนุเพศเมียที่ไร้พันธะ หรือไม่ก็พยายามเข้ามาแย่งผสมพันธุ์กับเพศเมียที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มกับเพศผู้ตัวอื่น  จึงไม่น่าแปลกใจที่บางครั้งบางคราวเราจะเห็นเพศผู้อีกตัวเกาะทับอยู่บนหลังของเพศผู้ที่กำลังผสมพันธุ์  วอลเลซ เจ. นิโคลส์ นักชีววิทยาทางทะเล เคยเห็นเต่าเพศผู้เกาะซ้อนกันมากถึง 4 ตัว เขาบรรยายภาพที่เห็นว่า  “ลองนึกดูสิครับว่า เต่าตนุที่หนักถึง 180 กิโลกรัม ทำให้ดูเหมือนกายกรรมในละครสัตว์เลยทีเดียว”

กายกรรมของเต่าตนุที่เกาะยูโรปาไม่ใช่จะพบเห็นกันได้บ่อยๆ  เกาะแห่งนี้เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ และผืนน้ำรอบๆก็ได้รับการคุ้มครอง เกาะยูโรปาไม่ต่างจากเกาะเพื่อนบ้านอย่างบัสซาดาอินเดียที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 110 กิโลเมตร นั่นคือ เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแกตเทอเรดที่ประกอบด้วยเกาะขนาดเล็ก 5 เกาะซึ่งล้อมรอบมาดากัสการ์

แม้ว่าเกาะยูโรปาและบัสซาดาอินเดียจะตั้งอยู่ใกล้กันในบริเวณกึ่งกลางของช่องแคบโมซัมบิก แต่กลับแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ยูโรปาเป็นเกาะที่ปกคลุมไปด้วยสุมทุมพุ่มไม้ขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าตนุแล้ว ยังเป็นรังรักของนกทะเลนับล้านคู่  ส่วนบัสซาดาอินเดียเป็นเกาะปะการังวงแหวนปริ่มน้ำ และมีลากูนขนาดใหญ่เกือบ 90 ตารางกิโลเมตรที่ชุกชมไปด้วยฉลาม ทั้งสองเกาะเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งสุดท้ายในมหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตกที่ระบบนิเวศทางทะเลยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทอมัส พี. แพสเชก นักชีววิทยาทางทะเลซึ่งถ่ายภาพประกอบสารคดีเรื่องนี้   บอกว่า “ถ้ามองเผินๆ เกาะเหล่านี้ดูเหมือนไม่มีอะไร เป็นแค่จุดเล็กๆที่ไม่สลักสำคัญ แต่ถ้าลองได้ดำลงไปใต้น้ำแล้วละก็ คุณจะไม่อยากไปดำน้ำที่ไหนอีกเลยตลอดชีวิต”

เกาะทั้งสองเกาะครอบคลุมน่านน้ำมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยคลื่นลมแรงและกระแสวน จนกลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักเดินเรือมานานนับศตวรรษ ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลค้นพบวิธีศึกษาสภาพแวดล้อมบริเวณนี้โดยไม่ต้องออกทะเลเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้ เนื่องจากนกทะเลกับสิ่งมีชีวิตในทะเลมีความเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิดในเชิงนิเวศวิทยา นักวิทยา ศาสตร์จึงสามารถใช้นกทะเลเป็นตัวแทนในการศึกษาสัตว์ในท้องทะเลเปิดอย่างเช่นปลาทูน่าได้ นกทะเลหลายชนิดต้องพึ่งพานักล่าแห่งห้วงสมุทรเหล่านี้ให้ช่วยต้อนเหยื่อขึ้นมาสู่ผิวน้ำ

เกาะบัสซาดาอินเดียไม่มีต้นไม้ให้นกทะเลได้อาศัยทำรัง หรือชายหาดให้เต่าทะเลได้วางไข่ บัสซาดาอินเดียเป็นเกาะปะการังวงแหวนที่มีอายุไม่นาน โดยค่อยๆก่อตัวทับถมจากลาวาของภูเขาไฟที่อยู่ลึกลงไป 3 กิโลเมตรจากผิวน้ำและเกิดปะทุขึ้น

ขณะที่เกาะยูโรปามีป่าชายเลนและลากูนตื้นๆที่แทบจะแห้งเวลาน้ำลง เกาะบัสซาดาอินเดียกลับไม่มีต้นไม้ใบหญ้าให้เห็น แต่มีลากูนลึก 14 เมตรที่คลาคล่ำไปด้วยลูกฉลาม เกือบทุกตัวคือปลาฉลามกาลาปาโกสซึ่งมักพบตามน่านน้ำนอกชายฝั่งเกาะเขตร้อน แต่ไม่มีที่ไหนจะชุกชุมท่าที่นี่อีกแล้ว  ที่เป็นเช่นนี้นักชีววิทยาซึ่งพากันแปลกใจเชื่อว่า การที่ลากูนในบัสซาดาอินเดียมีถิ่นอาศัยจำกัดสำหรับสัตว์ชนิดอื่นๆ กลับเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ปลาฉลามชนิดนี้ ต่างจากลากูนของเกาะยูโรปาที่มีทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเลซึ่งเหมาะเป็นถิ่นอาศัยและแหล่งหลบภัยของสัตว์ชนิดอื่นๆ

กระแสน้ำลงที่เกาะบัสซาดาอินเดียเผยให้เห็นซากเรืออับปางที่ชนพืดหินใต้น้ำในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ย้อน หลังไปเมื่อปี 1585 เรือ ซานติอาโก ของโปรตุเกสซึ่งมีระวาง 900 ตัน ฉีกเป็นสองท่อนหลังชนเข้ากับหินโสโครกในตอนกลางคืน เหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตคนไปกว่า 400 คน ขณะที่กำปั่นซึ่งบรรจุทรัพย์สินเงินทองกระเด็นจากท้องเรือและร่วงลงสู่ก้นสมุทร

ในทศวรรษ 1970 นักประดาน้ำค้นพบของมีค่าบางส่วน เช่น เหรียญเงิน ปืนทองแดง อัญมณี และแอสโทรเลบ [เครื่องมือดาราศาสตร์โบราณ] ทว่าสิ่งของเหล่านี้เทียบไม่ได้เลยกับความมั่งคั่งที่แท้จริงของเกาะบัสซาดาอินเดียและยูโรปา ซึ่งหาใช่ทองคำหรือทรัพย์สมบัติจากเรือโบราณ หากเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่งอกงามอยู่ในเกาะปะการังเล็กๆสองแห่งนี้

เรื่องโดย เคนเนดี วอร์น
เดือนเมษายน 2557