ผู้เขียน หัวข้อ: ชาวโรมันในฝรั่งเศส-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1142 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ซากเรืออับปางโบราณลำหนึ่งเผยเรื่องราวของเมืองการค้าอันรุ่งโรจน์สมัยจักรวรรดิโรมัน

ชาวโรมันมีปัญหาใหญ่เรื่องขยะ ปัญหาของพวกเขาได้แก่คนโทสองหูที่เรียกว่า แอมโฟรา (amphora) ชาวโรมันต้องใช้คนโทดินเผาดังกล่าวนับล้านๆใบเพื่อบรรจุเหล้าองุ่น น้ำมันมะกอก และน้ำปลา ก่อนส่งลงเรือไปทั่วจักรวรรดิในกรุงโรมมีเนินเขาพื้นที่ 13 ไร่ สูง 50 เมตรอยู่ลูกหนึ่งชื่อ มอนเตเตสตาโช  (Monte Testaccio)  ซึ่งเต็มไปด้วยคนโทแตกๆกองพะเนิน นักโบราณคดีชาวสเปนผู้ขุดสำรวจกองคนโทนี้เชื่อว่า แอมโฟราน่าจะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในศตวรรษที่หนึ่ง  ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จักรวรรดิโรมันกำลังก้าวสู่ความรุ่งเรืองถึงขีดสุด

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นที่เมืองอาร์ล บนฝั่งแม่น้ำโรน ในบริเวณที่ปัจจุบันคือพื้นที่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส พวกกุลีทำสิ่งที่ต่างออกไปเล็กน้อยโดยโยนคนโทเปล่าลงในแม่น้ำ เมืองอาร์ลในศตวรรษที่หนึ่งเป็นทางผ่านอันรุ่งเรืองสู่ดินแดนของชาวกอลในสมัยโรมัน  และเป็นจุดขนถ่ายสินค้าจากดินแดนต่างๆ ทั่วแถบเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อลงเรือ  จากนั้นคนงานบนฝั่งจะช่วยกันลากเรือขึ้นไปตามแม่น้ำโรน เพื่อนำไปส่งยังดินแดนทางเหนือของจักรวรรดิ

ในย่านใจกลางเมืองบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโรน  เรายังเห็นอัฒจันทร์รูปครึ่งวงกลมที่จุผู้ชมได้ถึง 20,000 คนที่เข้ามาชมการต่อสู้ของแกลดิเอเตอร์ แต่ร่องรอยของท่าเรือที่เคยหล่อเลี้ยงสิ่งเหล่านี้และที่ทอดยาวต่อเนื่องไปราวหนึ่งกิโลเมตรหรือมากกว่าตามริมฝั่งขวาของแม่น้ำ  บัดนี้ไม่หลงเหลืออะไรให้เห็นมากนัก  มีก็แต่เพียง “เงา” จากอดีตในรูปของแนวขยะของชาวโรมันที่ทับถมกันเป็นสันหนา

คนโทอาจเป็นขยะในสายตาของชาวโรมัน  แต่พวกเราในปัจจุบันคงไม่คิดเช่นนั้น  เมื่อฤดูร้อนปี 2004 นักดำน้ำคนหนึ่งที่ลงไปสำรวจกองขยะดังกล่าวเพื่อค้นหาโบราณวัตถุล้ำค่า สังเกตเห็นไม้กองหนึ่งนูนขึ้นมาจากโคลนลึกสี่เมตร ปรากฏว่านั่นคือกราบซ้ายด้านท้ายของเรือท้องแบนยาว 31 เมตร  ลำเรือแทบไม่บุบสลาย  ส่วนใหญ่ฝังอยู่ใต้โคลนและกองคนโทที่ช่วยรักษาสภาพเรือมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2,000 ปี

ลุก ลง วัย 61 ปี ทำงานกับแผนกวิจัยโบราณคดีใต้น้ำและทางทะเล (Le Département des Recherchés Archéologiques Subaquatiques et Sous-marines: DRSSM) ของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สมบัติของชาติที่จมอยู่ใต้น้ำ  เขากับอัลแบร์ อียูซ เพื่อนซึ่งเป็นทั้งนักดำน้ำและนักล่าเรืออัปปาง  มาที่แม่น้ำอาร์ลในเช้าวันเสาร์วันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน ตรงจุดที่อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุในปัจจุบันพอดิบพอดี  อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ประมาณ 9 องศาเซลเซียส น้ำเป็นฟองฟอดและส่งกลิ่นเหม็น เพราะใกล้ๆกันนั้นเป็นจุดระบายน้ำเสีย ลงมองเห็นทัศนวิสัยข้างหน้าไม่เกินหนึ่งเมตร ซึ่งสำหรับแม่น้ำโรนแล้วต้องถือว่าเป็นวันที่แจ่มใส  กระแสน้ำเชี่ยวกรากปะทะเขาอย่างแรงจนทำให้รู้สึกกลัว  ลึกลงไปราวหกเมตร  ลงรู้สึกว่าตัวเองกำลังเกาะอยู่กับอะไรบางอย่างซึ่งปรากฏว่าเป็นฝาครอบล้อรถ  เขาคลำทางไปยังส่วนที่นั่งคนขับอย่างช้าๆ และกลัวๆกล้าๆ และพบคนโทโรมันใบหนึ่งอยู่บนที่นั่งคนขับ

จากนั้น ทั้งเขาและอียูซก็แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางคนโทที่กองเรียงรายเต็มพื้นที่กว้างใหญ่  ลงไม่เคยเห็นคนโทในสภาพดีจำนวนมากมายเช่นนี้มาก่อน   เขามองเห็นอนาคตรออยู่เบื้องหน้า 

ตลอดช่วง 20 ปีแรก งานของลงไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไรนัก  พอถึงปี 2004  เมื่อทีมงานของเขาค้นพบเรือท้องแบนที่ลงตั้งชื่อให้ว่า อาร์ล-โรน 3 (Arles-Rhône 3) เขาไม่คิดว่าจะสามารถหาเงินมากู้เรือได้ ลงกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเลื่อยชิ้นส่วนเรือที่โผล่พ้นโคลนขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แล้วนำไปวิเคราะห์อย่างละเอียด  ต่อมาในปี 2007 นักโบราณคดีสามคนที่อายุน้อยกว่าเขา ได้แก่ ซาบรีนา มาร์ลีเย, ดาวิด ชาวี และแซนดรา เกรก ได้เข้ามาสานต่อการศึกษาเรือ อาร์ล-โรน 3             

ก่อนจะสิ้นสุดฤดูดำน้ำในปีนั้น นักดำน้ำชื่อปีแยร์ ยูสตีนีอานี ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เจอซากเรือ อาร์ล-โรน 3  พบรูปสลักที่ทำให้เรือลำนี้ได้รับความสนใจในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบครั้งสำคัญ นั่นคือรูปสลักหินอ่อนครึ่งตัวที่ดู คล้ายจูเลียส ซีซาร์ ที่ผ่านมารูปเหมือนของซีซาร์เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง  และนี่อาจเป็นประติมากรรมเพียงชิ้นเดียวที่หลง เหลือซึ่งทำขึ้นขณะซีซาร์ยังมีชีวิตอยู่ บางทีอาจหลังจากที่เขาประกาศให้เมืองอาร์ลเป็นอาณานิคมของโรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองนานนับหลายศตวรรษของเมืองนี้

ตอนที่เรือ อาร์ล-โรน 3 จมลง มันกำลังบรรทุกหินก่อสร้างหนัก 30 ตัน เป็นแผ่นหินปูนแบนๆ ขนาดต่างๆกันมีความหนาตั้งแต่ 8 - 15 เซนติเมตร มาจากเหมืองหินแห่งหนึ่งในแซงต์กาเบรียล ห่างจากเมืองอาร์ลไปทางเหนือราว 14 กิโลเมตร เรืออาจกำลังมุ่งหน้าไปยังสถานที่ก่อสร้างบนฝั่งขวาของแม่น้ำ  ซึ่งเป็นบริเวณไร่นาบนที่ลุ่มชื้นแฉะทางใต้ของเมืองอาร์ล แต่หัวเรือกลับหันไปทางต้นน้ำ แทนที่จะเป็นปลายน้ำ ชี้ให้เห็นว่าเรือถูกผูกติดอยู่กับท่าเทียบเรือขณะจมลงบางทีอาจเกิดจากน้ำท่วมฉับพลัน

เมื่อน้ำท่วมลดระดับลง ตะกอนจำนวนมากที่ถูกซัดขึ้นมาจมลงนอนก้นอีกครั้ง และปกคลุมเรือเป็นชั้นดินเหนียวละเอียดหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร ในชั้นดินเหนียวดังกล่าว  มาร์ลีเยกับทีมงานพบข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของลูกเรือเป็นเคียวที่ใช้สับฟืนเพื่อก่อไฟทำอาหาร  มีคนโทดินเหนียวขนาดใหญ่ที่เรียกว่าโดเลียม (dolium) ผ่าครึ่งสำหรับใช้เป็นภาชนะหุงหาอาหาร นอกจากนี้ ยังมีจานและเหยือกน้ำสีเทา มาร์ลีเยบอกว่า “นี่เป็นเรื่องแปลกของเรือลำนี้ค่ะ เราหากัปตันไม่พบ แต่นอกนั้น เราพบหมด” เสากระโดงเรือที่มีร่องรอยสึกหรอจากเชือกที่ผูกสำหรับลากเป็นการค้นพบล้ำค่าที่สุดสำหรับเธอ

นอกจากประวัติความเป็นมาของเรือแล้ว โคลนและขยะของชาวโรมันเกือบ 900 ลูกบาศก์เมตรที่กลบฝังเรือจนมิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังทำให้เราเห็นภาพอดีตของเมืองการค้าอย่างอาร์ลอีกดัวย ภายในห้องใต้ดินที่มีแสงสลัวๆของพิพิธภัณฑ์   ชาวีกับผมเดินไปตามช่องทางเดินยาวที่มีคนโทตั้งเรียงราย  “เราต้องศึกษาคนโททั้งหมดครับ” เขาบอก แหล่งทิ้งขยะนี้รุ่มรวยเสียจนนักโบราณคดีต้องนำชิ้นส่วนเซรามิกน้ำหนักรวม 120 ตันกลับลงไปไว้ที่ก้นแม่น้ำตรงหลุมที่เกิดจากการกู้ซากเรือขึ้นมา ผมถามชาวีถึงหินก่อสร้างที่พบซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เขาตอบว่า มันหนักเกินกว่าเรือซึ่งบูรณะขึ้นใหม่จะรับไหว พวกเขาจึงจำลองหินขึ้นมาแทน ชาวีพาผมออกไปทางด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ หินเหล่านั้นกองอยู่ถัดจากถังขยะใบใหญ่  และรอคอยเวลาที่จะหวนคืนสู่แม่น้ำอีกครั้ง

เรื่องโดย โรเบิร์ต คุนซิก
เดือนเมษายน 2557