ผู้เขียน หัวข้อ: เมืองล้อมป่า-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1112 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เรื่องราวของผลประโยชน์ที่ไม่มีวันลงตัวระหว่างคนกับสัตว์ป่า ธรรมชาติกับการพัฒนา

เช้าวันหนึ่งในฤดูหนาวบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2  หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ถนนมิตรภาพ”  คลาคล่ำไปด้วยรถยนต์ทะเบียนเมืองกรุง มุ่งหน้าสู่พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นผืนป่าอันตรายที่สุด อุดมไปด้วยสัตว์ป่าและอันตรายจากอาถรรพ์นานา ทว่าเมื่อเวลาผันผ่าน เรื่องเล่าเหล่านั้นกลับเหลือเพียงความทรงจำ

วันนี้ป่าที่เคยเป็นบ้านของสัตว์น้อยใหญ่ กลับเรียงรายไปด้วยบิลบอร์ดโฆษณารีสอร์ต ป้ายเชิญชวนไปงานคอนเสิร์ตไปจนถึงคัตเอาท์ลดราคาสินค้าจากศูนย์การค้า หากย้อนเวลากลับไปสัก 20-30 ปี คงไม่มีใครเชื่อว่า ที่นี่คือป่าเขาใหญ่ - ดงพญาเย็น

ด้วยระยะทางราว 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ไม่ถึงสามชั่วโมง กอปรกับป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์จนได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2548 คือแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้รอบผืนป่าเขาใหญ่ในวันนี้เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครัน เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว

ในแง่หนึ่ง การพัฒนาอาจหมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล และเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชนรอบพื้นที่ป่า เป็นผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายโอกาสการพัฒนาสู่ท้องถิ่น ช่วยลดการอพยพของแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่  ทว่าในอีกแง่หนึ่งกลับเป็นการชักนำ “ความเป็นเมือง” ทั้งในแง่วัตถุ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม เข้ามาอย่างรวดเร็วโดยขาดการวางแผนหรือเติบโตอย่างไร้ทิศทาง นี่คือต้นเหตุของผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพื้นที่เปราะบางอย่างผืนป่า ซึ่งถือเป็น “ต้นน้ำ” ของทรัพยากรนานาชนิด

ผมกับช่างภาพเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ราวกลางเดือนธันวาคม ท่ามกลางคลื่นนักท่องเที่ยวที่พากันยึดพื้นที่ในลานกางเต็นท์จนแน่นขนัดราวกับรังมด รถยนต์ที่ติดเป็นแถวยาวแข่งกันพ่นไอเสีย ถ้าหลับตาเราอาจเผลอคิดไปว่าอยู่บนบนถนนสุขุมวิท ใกล้ๆกันนั้นคือกองขยะที่ล้นทะลักออกมาจากถัง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดหมายทางธรรมชาติยอดนิยมอันดับต้นๆของไทย ตัวเลขจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชรายงานว่า ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน

หลายครั้งเราพบว่า  กวางป่าซึ่งปกติอาศัยอยู่ตามชายป่าและค่อนข้างหวาดกลัวมนุษย์  กลับออกมาเดินป้วนป้วนอยู่ในลานจอดรถเพื่อคุ้ยหาอาหารจากกองขยะ นักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ยื่นข้าวโพดให้พวกมันกิน บางครั้งเป็นขนมกรุบกรอบที่พวกเขาพกพามาเป็นกับแกล้ม สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเป็นของแปลกปลอมผิดธรรมชาติของกวาง แต่ยังเสี่ยงต่อการทำให้พวกมันสูญเสียสัญชาตญาณของสัตว์ป่า  บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า  พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้สัตว์ป่ากลายสภาพเป็น  “ขอทาน”  และบิดเบือนความสัมพันธ์ในห่วงโซ่อาหาร  กวางเหล่านี้จะไม่หาอาหารในป่าอีกต่อไป เมื่อรู้ว่าอาหารจากมือมนุษย์นั้นหาได้ง่ายกว่า ผลที่ตามมาคือ สัตว์ผู้ล่าในระดับสูงกว่าอย่างเสือหรือหมาในที่ล่ากวางเป็นอาหารจะสูญเสียแหล่งอาหารในธรรมชาติ

การดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างนักท่องเที่ยวกับสัตว์ป่าเป็นภาพที่พบเห็นได้จนชินตาเหมือนเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับภาพผู้คนบนถนนในอุทยานที่พากันจอดรถถ่ายภาพช้างป่าออกหากิน

การเผชิญหน้าระหว่างนักท่องเที่ยวกับช้างป่าซึ่งมักลงเอยด้วยการถ่ายภาพหรือสาดแสงไฟส่องในยามวิกาล เป็นสาเหตุให้ช้างป่าเกิดความเครียดและอาจทำร้ายนักท่องเที่ยวได้ เจ้าหน้าที่อุทยานคนหนึ่งยอมรับว่า “เราทำได้แค่ตักเตือนนักท่องเที่ยวครับ แต่ก็ยังมีให้เห็นประจำ โดยเฉพาะพวกที่ชอบถ่ายรูปแล้วเปิดแฟลชโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า อันตรายขนาดไหน” การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐมีส่วนอย่างมากต่อการสูญเสียพื้นที่ป่า โดยเฉพาะกิจกรรมทางชลประทานที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร งานวิจัยของ รศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า กิจกรรมทางชลประทานก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากถึง 2,180,692 ไร่ หรือใหญ่กว่าสองเท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะที่การตัดถนนมาเป็นลำดับสองโดยทำให้เกิดสูญเสียพื้นที่ป่า 778,388 ไร่           

 

แม้ความพยายามฟื้นฟูโดยการปลูกป่าทดแทนจะเป็นการแก้ปัญหาที่น่าจะตรงจุดหรือใกล้เคียงที่สุด แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที  เนื่องจากต้นไม้ต้องใช้เวลาเติบโตยาวนาน  ไม้ใหญ่บางชนิดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 60 ปี ในการเจริญเติบโตกระทั่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 100 เซนติเมตร  ขณะที่ต้นไม้ในวงศ์ยางนา (Dipterocarpaceae)  ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่นกเงือก สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ใช้เป็นแหล่งทำรังตามธรรมชาติ ต้องอาศัยระยะเวลาเป็นร้อยปีในการเจริญเติบโตจนมีขนาดเหมาะสมกับการสร้างรังของนกเงือก จึงเป็นที่มาของคำพูดติดปากบรรดานักอนุรักษ์ว่า "เราใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีในการทำลายสิ่งที่ธรรมชาติใช้เวลานับร้อยๆ ปีในการสร้างสรรค์ขึ้นมา"

ขณะที่การตัดถนนเป็นต้นตอของปัญหาอีกหลายประการ ถนนชักนำการพัฒนาและเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมืองนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา  ครั้นเมืองขยายตัวตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร ถนนก็ก่อให้เกิดการรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ป่า  ในสายตาของอนุรักษ์  ถนนยังเป็นเส้นทางมรณะ (killer road) ของบรรดาสัตว์ป่าที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ 

 

ถนนสาย 3259 พาเรามุ่งตรงสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน  ฝั่งจังหวัดฉะเชิงทรา ป่าผืนนี้กินพื้นที่ราว 700,000 ไร่ และเป็นต้นสายของแม่น้ำบางปะกงที่ไหลผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา และแม่น้ำประแสร์ในจังหวัดระยอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้เป็นป่าดิบแล้ง มีอาณาเขตติดต่อกับห้าจังหวัดภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งได้รับการขนานนามว่าเป็นบ้านหลังเล็กของครอบครัวสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่าป่าผืนนี้จะเป็นถิ่นอาศัยของช้างป่ามากกว่า 200 ตัว กระทิงและวัวแดงอีกกว่า 100 ตัว ไม่นับรวมสัตว์ป่าชนิดอื่นๆอีกมาก

ปัญหาของป่าผืนนี้อยู่ที่ถนนสาย 3259 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญระหว่างภาคตะวันออกและภาคอีสาน ถนนสายนี้ผ่ากลางและแยกผืนป่าเขาอ่างฤาไนออกเป็นสองส่วน  ทุ่นเวลาการเดินทางจากเส้นทางปกติได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นในฤดูเก็บเกี่ยว ถนนสายนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขนผลผลิตทางการเกษตรมาเต็มคันรถ ผลผลิตเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นพืชอาหารที่สัตว์ป่าชื่นชอบ ด้วยเหตุนี้ ภาพช้างป่าที่ยกโขยงออกมาขวางทางรถบรรทุกผลผลิต เปิดฉาก “ปล้น” แล้วรุมกินอย่างเอร็ดอร่อยราวกับงานปาร์ตี้จึงมีให้เห็นประจำ หรือแม้แต่กรณีช้างป่าลงมากินพืชผลในไร่ของเกษตรกร และทำร้ายคนงานจนเสียชีวิตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่นี่เกิดอุบัติเหตุรถชนสัตว์ป่าไม่น้อยไปกว่ากัน สถิติหนึ่งแม้ค่อนข้างเก่า แต่น่าสนใจ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2551 มีสัตว์เสียชีวิตทุกชนิดรวมกันถึง 14,408 ตัว  แม้ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขโดยรวมชัดเจน แต่ประเมินว่า จำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกรถชนตายบนถนนสายนี้มีไม่ต่ำกว่าวันละ 3 ตัว มากกว่าการสูญเสียจากการล่าด้วยซ้ำ

มาตรการป้องกันโดยปิดถนนห้ามรถยนต์แล่นผ่านระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ค่อนข้างได้ผลดีในระดับหนึ่ง นักอนุรักษ์พยายามเรียกร้องให้ขยายเวลา ไปจนกระทั่งถึงปิดถนนสายดังกล่าวเป็นการถาวร ทว่าท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างนักอนุรักษ์กับผู้ประกอบการขนส่งและเกษตรกรในท้องถิ่น ดูเหมือนความขัดแย้งระหว่างมนุษย์โดยมี “ถนนสังหาร” เส้นนี้เป็นเดิมพันจะยังไม่ได้ข้อยุติในเร็ววัน         

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าอนาคตของผืนป่าจะสิ้นหวังหรือเลือนรางไปเสียทั้งหมด จริงอยู่ที่ว่าเราไม่อาจหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การรุกป่าโดยพื้นที่เกษตร การขยายตัวของเมือง หรือการตัดถนนใหม่โดยภาครัฐ ทว่ามีอยู่หลายครั้งที่ผมยังมองเห็นความหวังเล็กๆ จากบรรดานักอนุรักษ์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ และความหวังนี้เอง แม้จะไม่ได้ช่วยเพิ่ม แต่อย่างน้อยก็อาจช่วยชะลอให้ผืนป่าหมดช้าลง โลกโซเชียลมีเดียแม้จะรวดเร็วและหลายครั้งฉาบฉวย แต่กลับมีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวอย่างเช่น การเดินรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อไม่มานมานี้ การคัดค้านการขยายช่องทางจราจรบนถนนธนะรัชต์  หรือแม้กระทั่งการคัดค้านการก่อสร้างจุดชมวิวบริเวณผาเดียวดายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

เรื่องโดย ยศธร ไตรยศ
เดือนเมษายน 2557