ผู้เขียน หัวข้อ: ผู้บริโภคแฉ ฟ้องร้องบริการสุขภาพมากสุด จวกกลไกคุ้มครองฯห่วย ซวยเจอ กม.เอาผิดซ้ำ  (อ่าน 1074 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยปี 56 ยอดผู้บริโภคร้องเรียนสูง 3,514 เรื่อง มากที่สุดคือบริการสุขภาพ ขณะที่กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสุดแย่ แก้ปัญหาไม่ได้จริง ทั้งล่าช้า แถมใช้ข้อกฎหมายเอาผิดผู้บริโภคซ้ำด้านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนุนตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีโดยเร็ว

        รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราใช้เวลาในการเสนอ พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมานานถึง 16 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ปัจจุบันเรื่องนี้ยังค้างอยู่ที่สภา ดังนั้นในส่วนของเราจึงถึงเวลาที่ต้องร่วมแรงร่วมใจในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตามส่วนตนเชื่อว่าเมื่อเรามีสภา พ.ร.บ.องค์กรอิสระ จะเกิดเสียที แต่จากการที่รอมานานจึงคิดว่าต้องทำปฏิบัติการให้เห็นถึงความจำเป็นของการมี พ.ร.บ.จึงจำลองคณะกรรมการภาคประชาชน แต่แตกต่างจาก พ.ร.บ.คือมี 2 ชุด 1.ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง 2 ชุดมาจากการเลือกตั้งโดยองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ 7 ท่าน 7 ด้าน และ 2.ผู้เชี่ยวชาญเขต 8 เขต
       
        นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากสถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคซึ่งร้องเรียนเข้ามายังเครือข่ายมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี 2556 พบว่า มีสูงถึง 3,514 เรื่อง ในจำนวนนี้พบว่าปัญหาที่มีการร้องเรียนมาที่สุดคือเรื่องบริการสุขภาพ 1,263 เรื่อง กิจการโทรคมนาคม 749 เรื่อง การเงินการธนาคาร 391 เรื่อง ที่อยู่อาศัย 208 เรื่อง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 196 เรื่อง สินค้าและบริการ 191 เรื่อง และอื่น 229 เรื่อง แต่กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันถือว่ามีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นร้องเรียนแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ล่าช้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ล่าสุดเป็นกรณีที่บริษัท แมคโดนัลด์ ลงบันทึกประจำวันกับผู้บริโภคที่พบแมลงสาบในช็อกโกแลตซันเดย์ ซึ่งจาการตรวจสอบไม่พบว่ามีประเทศใดเคยทำอย่างนี้มาก่อน และยังพบว่านักวิชาการ และสื่อมวลชนก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นเดียวกัน
       
        นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าเกิดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก การไม่เปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง การทดสอบสินค้าต่อผู้บริโภค การโฆษณาผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา โฆษณาเกินจริง หลอกลวง เป็นเท็จ ข้อมูลทางเลือกในการบริโภค ไม่เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจของผู้บริโภค ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องเดียวกัน ฟ้องคดีนักวิชาการ สื่อที่ให้ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ปัญหาการผูกขาดกิจการพลังงาน โครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรม คุณภาพบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น ความล่าช้าของบริการการรถไฟ การไม่มีประกันผู้โดยสารของการรถไฟ ไม่มีการลงทุนและสนับสนุนผู้บริโภคในการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม
       
        ดังนั้นเบื้องต้นจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการ 1.เร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการให้ความเห็นในการตราและการบังคับใช้กฎหมาย และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ 2.พัฒนากลไกยกเลิกสินค้าอันตรายอัตโนมัติ เช่น ยาอันตราย สารเคมีอันตราย หรือสินค้าอันตรายที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีนโยบายยกเลิกหนึ่งยกเลิกทั้งหมด 3.การเยียวยาเชิงลงโทษ ที่ทันท่วงทีและอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการ เช่น การเยียวยา 7.3 ล้านบาทกรณีเสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะ 4.มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นอัตโนมัติ เป็นต้น 5.สนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล การเข้าถึงห้องทดลอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น ปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับรัฐมาก ท่ามกลางความล้มเหลวของภาครัฐ ดังนั้นตรงนี้เห็นว่าภาคประชาชนและภาคเอกชนควรร่วมมือกันทำงาน เพราะฉะนั้นถ้าข้อเสนอที่เสนอไปนั้นไม่เป็นจริงก็จะไปคุยกับคนขับรถโดยสารให้รับผิดชอบผลิตรถที่มีมาตรฐานแข่งขันกัน อยากให้ผู้ให้บริการมีความรับผิดชอบบ้าง ไม่ใช่รับผิดชอบสังคมโดยการปลูกป่าอะไรแบบนั้น แต่ขอให้รับผิดชอบในสินค้า และบริการของตัวเอง
       
        นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า เห็นด้วยว่าจะต้องขับเคลื่อนให้ พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นให้ได้ เพราะการเกิดองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะนำไปสู่การปฏิรูปด้านอื่น เช่น การปฏิรูปโครงสร้างของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างของกฎหมายยังเป็นแบบเดิมคือให้อำนาจกับภาครัฐมากกว่า ขณะที่กรอบขององค์การอิสระจะเน้นที่การสร้างการมีส่วนร่วมโดยเพิ่มองค์ประกอบของภาคส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องยืนหยัดต่อสู้กันต่อไปแม้ว่าจะผ่านมา 16 ปี แล้วยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็ตาม
       
        คุณชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ กรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องทำร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะละทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่จะต้องพยายามดึงคนดีเข้ามาร่วมงาน นอกจากนี้ยังเห็นว่าจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้กับประชาชน ทำให้เกิดความแข็งไม่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้เห็นว่าทั้งหมดนี้ควรเริ่มดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องรอให้องค์การอิสระเพื่อการบริโภคเกิดขึ้น
       
        นางสาวอรอุมา เกษตรพืชผล สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในเรื่องของการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคที่ยังเป็นปัญหาในปัจจุบันนั้นตนเห็นว่าการไกล่เกลี่ยจะได้ผลจริงๆ จะต้องทำบนพื้นฐานของความยุติธรรม ไม่ใช่ว่าไกล่เกลี่ยไปพอให้เรื่องจบๆ ไป ซึ่งหากทำเช่นนั้นเชื่อว่าปัญหาจะไม่จบ คนที่ได้รับผลกระทบก็จะได้รับผลกระทบซ้ำๆ เพราะฉะนั้นจึงเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้นมา นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาแก้ไขปัญหาผู้บริโภคอย่างครอบคลุมทั้งระบบแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One stop service)
       
        นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนเห็นด้วยกับการคุ้มครองผู้บริโภค และยืนดีสนับสนุนให้เกิด พ.ร.บ.องค์การอิสระ โดยให้ยึดหลักธรรมาธิบาล มีส่วนร่วม โปร่งใสในการทำงาน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ.ถือว่าครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีน้อย เพียง 200 กว่าคนเท่านั้นแต่ต้องดูแลคนถึง 60 กว่านล้านคน ปรับบทบาทผู้บริโภคจากผู้รับสารเป็นผู้สื่อสารเช่นอาจจะสื่อสารผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น แต่จะต้องใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างรู้เท่าทัน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 มีนาคม 2557