ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อจีนพยายามฟื้นชีพเปาปุ้นจิ้น ปฏิรูปอำนาจตุลาการ  (อ่าน 713 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
 จีนเข็นแผนปฏิรูประบบตุลาการครั้งใหญ่ มุ่งเด็ดปีกอำนาจองค์กรฝ่ายความมั่นคงในพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ชอบใช้อิทธิพลล้วงลูก แทรกแซงการตัดสิน พลิกคดีความจากผิดเป็นถูก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหวั่นวิตกว่า ความยุติธรรมอาจแท้งเสียก่อนจะได้ลืมตาดูโลก
       
       ในรายงานการทำงานฉบับแรก หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว นายโจว เฉียง ประธานศาลประชาชนสูงสุดของจีนคนใหม่ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติว่า ต้องมีการปรับปรุงกลไกการใช้อำนาจของศาลให้มีความเป็นอิสระ ป้องกันการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้การตัดสินคดีความปราศจากความยุติธรรม และผู้บริสุทธิ์กลับเป็นฝ่ายรับเคราะห์กรรม
       
       ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แผนการสะสางระบบตุลาการเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนต่อความล้มเหลวของระบบตุลากร ซึ่งอยู่ในกำมือของคณะกรรมาธิการการเมืองและกฎหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ อันเป็นองค์กรสูงสุด ที่ควบคุมงานด้านความมั่นคงและระบบศาลยุติธรรม แต่การทำงานกลับดูลึกลับพิกลในสายตาคนภายนอก
       
       การล้วงลูกของคณะกรรมาธิการการเมืองและกฎหมายส่งผลให้การพิพากษาคดีไม่เที่ยงธรรม ซึ่งหลายคดีปรากฎเป็นข่าว หรือแม้แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเองย้ำว่า นี่เป็นปัญหา ที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

       ยกเลิกการปรึกษาหารือ
       
       แผนการยกเครื่องระบบตุลาการยังไม่ประกาศต่อสาธารณชน แต่เป็นที่ทราบกันในการประชุมภายใน โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ยกเลิกระเบียบ ซึ่งปฏิบัติกันมาคือผู้พิพากษาต้องนำคดี ที่ส่งผลกระทบทางการเมือง หรือเสถียรภาพในสังคม เข้าหารือร่วมกับฝ่ายตำรวจ อัยการ และเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการการเมืองและกฎหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ คดีเหล่านี้ได้แก่คดีฆาตกรรมไปจนถึงคดีทุจริตคอร์รัปชั่น
       
       “นี่เป็นปัญหา ซึ่งมีอยู่ที่เดียวในเมืองจีน” นายเฉิน กวงจง อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แห่งจีน (China University of Political Science and Law) ระบุ โดยในชาติตะวันตก หากพรรครัฐบาลแทรกแซงอำนาจของศาล ถือว่ากระทำผิด และจะต้องลาออก
       
       นายเฉิน ซึ่งมีส่วนช่วยในการร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของจีนในปี 2555 ยังระบุด้วยว่า พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มจำกัดอำนาจของคณะกรรมาธิการการเมืองและกฎหมาย แต่ยังไม่มีรายละเอียดออกมาเท่าใดนัก
       
       สำหรับคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (CCP) ซึ่งกำกับดูแลปัญหาการทุจริต จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าแทรกแซงการพิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชั่น เมื่อคดีอยู่ในชั้นอัยการด้วยเช่นกัน โดยศาลจีนตัดสินคดีทุจริต รับสินบน และใช้อำนาจมิชอบรวมทั้งหมด 31,000 คดีในปี 2556 ซึ่งรวมทั้งคดีของนายหลิว จื้อจวิน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟ
       
       พรรคอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
       
       การละเมิดหลักปกครองของกฎหมายเกิดขึ้นมากมายในสมัยของนายโจว หย่งคัง อดีตคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นคณะผู้ปกครองสูงสุดของประเทศ และนายโจวคุมงานฝ่ายกฎหมายและความมั่นคงแห่งชาติ
       
       วาระการดำรงตำแหน่งของเขา “ทำให้ระบบศาลถดถอยอย่างยิ่ง” นายเจียง ผิง รองประธานคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติระหว่างปี 2521-2536 ระบุ
       
       นายโจวขยายอำนาจ จนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในจีน และเขาเคยพูดว่า ศาลควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของพรรคเหนือประชาชนและรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่า ทุกสิ่งอย่างต้องอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมาธิการการเมืองและกฎหมายนั่นเอง
       
       ปัจจุบัน นายโจว ซึ่งเกษียณอายุการทำงานแล้ว ถูกกักบริเวณภายในบ้านอย่างแน่นหนาระหว่างถูกพรรคสอบสวนคดีคอร์รัปชั่นหลายคดี
       
       ลดการตัดสินโทษขั้นประหารชีวิต
       
       ในแผนการปฏิรูป จีนยังกำลังพิจารณาลดการพิพากษาลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งจีนมีการตัดสินประหารชีวิตนักโทษมากกว่าชาติใด และจะยกเลิกการใช้วิธีการทรมาน เพื่อเค้นให้รับสารภาพ
       
       คดี ที่มีบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตบนแดนมังกรมี 55 ประเภท ซึ่งรวมทั้งคดีฉ้อโกง และปล่อยกู้ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จีนจะไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งจีนกำลังมีการพิจารณาคดีใหญ่ ๆหลายคดี เพราะประชาชนจะไม่เห็นด้วย หากยกเลิกโทษประหารชีวิต
       
       การประหารชีวิตนักโทษแต่ละปีในจีนถือเป็นความลับของชาติ แต่มูลนิธิตุ้ยฮว่า ในนครซานฟรานซิสโกคาดว่า มีนักโทษถูกประหารชีวิตถึงราว 3 พันคนในจีนเมื่อปี 2555 เทียบกับสหรัฐฯ มีเพียง 43 คนในปีเดียวกัน
       
       ประธานศาลประชาชนสูงสุดคนใหม่
       
       แผนการปฏิรูประบบการศาลสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการผดุงความยุติธรรม ของนายโจว เฉียง และส่งสัญญาณว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีสีเองก็ยินดี ตราบใดที่การปฏิรูปยังไม่ไปคุกคามอำนาจการควบคุมพรรคทั้งหมด


       อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า พรรคจะยังคงมีอำนาจตัดสินในขึ้นสุดท้ายสำหรับคดีอ่อนไหวทางการเมือง เช่นคดีเกี่ยวกับชาติพันธุ์ และนักการเมืองระดับสูงอย่างคดีของนายปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคสาขานครฉงชิ่ง ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต โทษฐานรับสินบน คอร์รัปชั่น และใช้อำนาจในทางมิชอบเมื่อปี 2556
       
       นอกจากนั้น พรรคยังจะใช้ศาลเป็นเครื่องมือตัดสินลงโทษผู้ที่ท้ายทายอำนาจของพรรคอีกด้วย
       
       “โจว เฉียงดูเหมือนเป็นนักการเมืองที่เอาจริงเอาจัง นอกจากเขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายต่าง ๆ แล้ว เขายังเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกด้วย” นายเจโรม โคเฮน ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจีนของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กระบุ
       
       “ แต่เขาไม่ได้กุมอำนาจทั้งหมด และในระดับท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายของเขา”
       
       อีวา พิลส์ อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงชี้ว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือศาลยุติธรรมเป็นสถาบันที่เล็กกว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงภายในพรรค ขณะที่ผู้พิพากษาเองยังต้องมาจากการแต่งตั้งของพรรค
       
       นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงระบบศาลยังมีข้อจำกัด เนื่องจากจีนไร้การปฏิรูปการเมือง เช่น การเปิดกว้างเสรีภาพในการแสดงออก
       
       “ เนื่องจากระบบศาลผูกติดกับระบบการเมือง ถ้าไม่ปฏิรูปการเมือง ก็อย่าหวังเลยว่า การปฏิรูประบบศาลจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ ” นายเจียง ผิง อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติให้ข้อคิดในท้ายที่สุดล

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 มีนาคม 2557