ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดสถิติระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินภาคอีสาน พบยังมีหลายพื้นที่ต้องเร่งพัฒนาเพิ่ม  (อ่าน 1109 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
เปิดสถิติระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบยังมีหลายพื้นที่ต้องเร่งพัฒนาปิดช่องว่างระบบการแพทย์ฉุกเฉิน  เตรียมดันแผนงานพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน

การบาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เวลาใด แต่ทุกๆ คนเมื่อเกิดเหตุหรือประสบพบเหตุฉุกเฉิน ก็หวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็ว ทันกาลและมีคุณภาพ ดังนั้นการจัดระบบบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์มากที่สุด  ซึ่งที่ผ่านมาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยถือว่าพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถือว่ามีความครอบคลุมในการให้บริการมากที่สุด แต่เพื่อการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่าย ได้จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการปิดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากการทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินยิ่งลดช่องว่างและปิดความผิดพลาดได้มากเพียงใด นั่นก็หมายถึงเราจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิต ความพิการหรือภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากยิ่งขึ้น

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2556 ภาพรวมจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของการใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินมากกว่าจังหวัดในภาคอื่นๆโดยมีสัดส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาด้วยระบบ EMS เฉลี่ยร้อยละ 1.93 ของประชากรทั้งหมด และมีจังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาด้วย ระบบ EMS สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 18 จังหวัด และมี 2 จังหวัด ที่มีสัดส่วนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ คือ จังหวัดชัยภูมิ คิดเป็นร้อยละ 1.32 และจังหวัดเลย คิดเป็นร้อยละ 1.75  นอกจากนี้ในจำนวน 20 จังหวัด มีเพียง 3 จังหวัดที่สามารถปฏิบัติการฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤตภายใน 8 นาที มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยวิกฤตทั้งหมด คือ จังหวัดอำนาจเจริญ ร้อยละ 70.81 จังหวัดขอนแก่น ร้อยละ 63.37  และ จังหวัดกาฬสิน ร้อยละ 61.19 โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนต่ำสุดคือ จังหวัดมหาสารคาม คิดเป็นร้อยละ 34.06 

สำหรับสัดส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงที่ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินจากชุด ALS จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ คือร้อยละ 75.34   จำนวน 13 จังหวัด มี 7 จังหวัด ที่มีสัดส่วนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสิน จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนอัตราการแจ้งเหตุผ่านหมายเลข 1669 (first call) จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนของการแจ้งเหตุบรรลุเป้าหมายคือร้อยละ 80 จำนวน 17 จังหวัด และไม่บรรลุเป้าหมาย 3 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น ร้อยละ 73.43 จังหวัดอำนาจเจริญ ร้อยละ 68.39 และ จังหวัดเลย ร้อยละ 58.03 

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า จากผลการปฏิบัติงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ต้องเร่งพัฒนา และลดช่องว่างในการดำเนินการ ดังนั้น สพฉ. จึงจัดการประชุมดังกล่าวขึ้น และได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ หัวหน้าสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หัวหน้าศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด ผู้แทนหน่วยปฏิบัติการระดับจังหวัด แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้ประสานงานเครือข่ายบริการสุขภาพด้านการแพทย์ฉุกเฉินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุมวิเคราะห์ปัญหา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เพื่อหาแนวทางและจัดทำโครงการเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน  โดยในเบื้องต้นมีข้อเสนอและการจัดทำโครงการเพื่อลดช่องว่างที่น่าสนใจ อาทิ  โครงการพัฒนาศูนย์รับแจ้งเหตุและสำนักระบบการแพทย์ฉุกเฉิน  โครงการพัฒนาผู้ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉิน โครงการด้านความปลอดภัย : ภาวะปกติ โดยการติดตั้ง GPS  เพื่อติดตามการใช้ยาน พาหนะ, ควบคุมความเร็วของรถปฏิบัติการฉุกเฉิน  โครงการแก้ปัญหาระบบสื่อสารไม่พร้อมให้บริการ  โครงการติดตั้งโปรแกรม ZELLO (โทรศัพท์/วิทยุ)  โครงการพัฒนางานแพทย์ฉุกเฉินสู่อาเซียน(EMS AEC) เป็นต้น   โดยหลังจากนี้ สพฉ. จะเปิดโอกาสให้เขตและจังหวัดต่างๆ ได้จัดทำโครงการขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อหาแนวทางการพัฒนาต่อไป

ขณะที่ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบุถึงการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินว่า ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล จะประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วน ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจของการให้บริการคือระบบการสื่อสาร ทั้งการแจ้งเหตุ การรับแจ้งเหตุ การออกปฏิบัติการ การประสานงานระหว่างปฏิบัติงาน  ซึ่งข้อบกพร่องเรื่องการสื่อสาร ณ จุดใดจุดหนึ่งอาจมีผลต่อผู้ป่วยฉุกเฉินที่กำลังรอความช่วยเหลือ ซึ่งในหลายพื้นที่ก็มีปัญหาในเรื่องดังกล่าว อาทิ ในส่วนของการรับแจ้งเหตุอาจจะขาดอุปกรณ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอาจขาดความชำนาญ ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรต่อไป นอกจากนี้อาจจะมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติงานและการประสานงาน  การฝึกอบรม งบประมาณ รวมทั้งขาดการให้ความรู้กับประชาชน  เป็นต้น  ดังนั้นหากยิ่งลดช่องว่างในเรื่องนี้ได้มากเพียงใด ก็จะสร้างประโยชน์กับผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้ก็ได้เห็นแนวทางของแต่ละพื้นที่ที่จะร่วมกันพัฒนาอย่างเต็มที่ และถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาจากท้องถิ่น ซึ่งจะมองเห็นปัญหาและแก้ไขได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามนอกจากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะมีการจัดเวทีเพื่อปิดช่องว่างระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

http://isranews.org/isra-news/item/27798-1669.html
วันจันทร์ ที่ 10 มีนาคม 2557

clashnana

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด