ผู้เขียน หัวข้อ: บทความ-สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ-ตอนสุดท้าย  (อ่าน 2411 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
....................ต่อจากตอนที่4
7.สาเหตุจากปัจจัยเสริมอื่นๆ ได้แก่
 
7.1 ผู้บริหารโรงพยาบาลบางคนขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารหรือบริหารแบบรวบอำนาจ ไม่รับฟังความคิดเห็นของแพทย์ด้วยกัน หาผลประโยชน์จากโรงพยาบาลมาใส่ตนเอง ทำให้แพทย์ที่ตั้งใจทำงานรับไม่ได้
 
7.2 ปัญหาในเรื่องพนักงานของรัฐ พนักงานของรัฐมีความแตกต่างกับข้าราชการค่อนข้างมากในเรื่องของความมั่นคงใน  วิชาชีพ เพราะต้องถูกประเมินทุกปี (ทำให้บางครั้งไม่กล้าเสนอความคิดเห็น หรือเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ เพราะอาจไปขัดใจผู้บังคับบัญชาได้) อำนาจในการสั่งการโดยตรงต่อข้าราชการก็ทำได้ไม่เต็มที่ กฎ ระเบียบต่างๆก็ยังไม่พร้อม ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ที่เป็นพนักงานของรัฐรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพการทำงาน
 
7.3 กฎหมายต่างๆที่ออกมาบังคับใช้กับแพทย์ เช่น
 
พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
พร บ.ยา (โดยเฉพาะมาตราที่ห้ามแพทย์ รวมถึงทันตแพทย์ สัตวแพทย์ จ่ายยาที่คลินิก แต่กลับไม่ห้ามร้านขายยาที่ขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เหมือนกับมี double standard ซึ่งถ้าต้องการให้เป็นมาตรฐานสากล ก็ควรห้ามเภสัชกรขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ด้วย มิเช่นนั้นอาจทำให้ดูเหมือนมีเงื่อนงำซ่อนอยู่ พบว่าใน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แพทย์สามารถตรวจ วินิจฉัย และจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้ที่คลินิก และร้านขายยาห้ามขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ )
 
กฎหมายชันสูตร (โดยเฉพาะถ้าต้องไปชันสูตรในพื้นที่ที่เป็นป่าเขา หุบเหว หรือที่ห่างไกลความเจริญ และถ้าเป็นในเวลากลางคืน ทำให้เป็นห่วงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแพทย์ โดยเฉพาะถ้าเป็นแพทย์ผู้หญิง นอกจากนั้นยังเบียดบังเวลาที่จะไปดูแลผู้ป่วยที่รอตรวจและผู้ป่วยฉุกเฉินอีก  ด้วย)
 
ซึ่งกฎหมายต่างๆที่ออกมาบังคับใช้กับแพทย์ ส่วนใหญ่จะพบว่าผู้ที่ร่างกฎหมายแทบจะไม่มีส่วนในการถูกบังคับใช้กฎหมาย แต่แพทย์เกือบทั้งหมดที่ไม่ได้มีส่วนรับรู้มาก่อน กลับต้องมาถูกบังคับใช้โดยคนเพียงไม่กี่คน ไม่เคยมีการสอบถามความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์โดยแพทย์มาก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองของรัฐกับแพทย์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ
 
7.4 จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งมีส่วนทำให้
 
7.4.1 โรงพยาบาลบางแห่ง มีเงินบำรุงลดลง ทำให้การรับแพทย์เฉพาะทางเข้ามาช่วยงานและดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นเป็น  ไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก (เพราะเงินเดือนที่จะต้องจ่ายให้แพทย์รวม อยู่ในงบรายหัวของประชากร ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่รับจากกระทรวงการคลัง) ซึ่งมีผลทำให้แพทย์ที่มีอยู่เดิมทำงานหนักเกินไป จนมีการลาออกกันอย่างมาก และจากการที่มีเงินบำรุงลดลง พบว่า
 
โรงพยาบาลบางแห่งได้ตัดค่าเวรของ แพทย์ (รวมข้าราชการส่วนอื่นด้วย) บางแห่งตัดถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าเวรของแพทย์ที่รับราชการก็ต่ำอยู่แล้ว ทำให้แพทย์ที่ต้องพบกับสภาพเช่นนี้หรือแพทย์ที่ได้ทราบข่าวหมดกำลังใจในการ ทำงาน ทั้งๆที่แพทย์ไม่ได้มีส่วนผิดเลยแม้แต่น้อย
 
7.4.2 ผู้ป่วยมีความคาดหวังกับรักษาสูงมากขึ้น มีการฟ้องร้องมากขึ้น ทั้งๆที่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แพทย์ก็รักษาผู้ป่วยเหมือนเดิม ไม่แตกต่างกัน ตามกำลัง ความรู้ความสามารถ และเงินบำรุงที่มีในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยและรัฐกลับลืมคำว่า “ไม่มีของดี ราคาถูก บนโลกใบนี้ ”
 
และผู้ป่วยส่วนหนึ่งคิดว่าแพทย์จะต้องรักษา ให้ได้ทุกอย่าง โดยที่ไม่ยอมดูแลสุขภาพตนเองเลย ยังดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน ไม่ออกกำลังกาย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของอุบัติเหตุต่างๆ เมาแล้วขับ ทะเลาะวิวาท ซึ่งสาเหตุต่างๆเหล่านี้อาจทำให้การรักษาไม่เป็นไปดังความคาดหวัง ของผู้ป่วยและแพทย์ และผู้ป่วยบางคนไม่เข้าใจและต่อว่าหรือฟ้องร้องแพทย์ โดยที่ลืมไปว่าโรคภัยต่างๆที่เกิดขึ้นก็ล้วนแต่ทำตัวเองทั้งสิ้น
 
7.4.3 ภายหลังจากที่มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค รัฐเอาใจใส่ ดูแลห่วงใยผู้รับบริการมากเป็นพิเศษ แต่รัฐกลับลืมฟันเฟืองตัวที่สำคัญที่สุดในระบบสาธารณสุข นั่นคือ ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะแพทย์ รัฐขาดความเอาใจใส่ ดูแลแพทย์ด้วยความจริงใจ รัฐดูแลแพทย์เหมือนข้าราชการธรรมดาทั่วไป ซึ่งคงไม่ผิด ถ้าแพทย์ไม่ได้รับผิดชอบชีวิตเพื่อนมนุษย์
 
รัฐได้เพิ่มงานต่างๆให้ กับแพทย์ที่รับราชการ เช่น งานออกหน่วยปฐมภูมิ โดยที่แพทย์เกือบทั้งหมด ไม่ได้มีความต้องการที่จะทำ ซึ่งเป็นการใช้คนไม่ตรงกับงาน และงานในโรงพยาบาลก็มีมากพออยู่แล้ว และถ้ามองลึกลงไปในหน่วยงานราชการต่างๆของรัฐ จะพบว่าหน่วยงานที่มีภาคเอกชนให้การบริการคู่กับภาครัฐ นอกจากหน่วยงานการศึกษาแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานทางสาธารณสุขนั่นเอง ซึ่งถ้ารัฐไม่ดูแลแพทย์ในระบบราชการให้ดีแล้ว ก็เหมือนเป็นการบังคับให้ย้ายไปอยู่ในภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการทางสาธารณสุขในภาครัฐ และ ก็ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐได้ไล่ ผู้ป่วยให้ไปสู่ระบบเอกชนโดยอ้อมนั่นเอง

8.   จากบทความทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้มีการพูดถึง “สิทธิแพทย์” ซึ่งสิทธิแพทย์นี้ไม่ได้เป็นการต่อต้านหรือขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วย แต่เป็นการเสริมให้สิทธิผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น
 
“สิทธิ แพทย์” คือ สิทธิ์ของแพทย์โดยชอบธรรมที่จะได้รับการดูแลตั้งแต่ในเรื่องของสภาพความเป็น  อยู่ คุณภาพชีวิต สภาพการทำงานและความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับแพทย์ นั่นก็คือ การกำหนดเรื่องของเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม กำหนดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจ การป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับแพทย์และช่วยเหลือเมื่อมีความ เสี่ยงเกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งแพทย์ทุกคนมุ่งหวังที่จะให้มีสิทธิแพทย์เกิดขึ้น เพื่อผู้ป่วยและสิทธิผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและปฏิบัติอย่างดีที่สุด
 
สุด ท้ายผู้เขียนยังเชื่อในมาตรฐาน คุณภาพ และจรรยาบรรณของแพทย์ส่วนใหญ่ ที่เสียสละทำงานเพื่อผู้ป่วยทั้งกายและใจ ถึงแม้ว่าจะได้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนน้อยเพียงใดก็ตาม และยังต้องแลกกับความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดตามมาด้วย เวลามีผลกระทบต่างๆเกิดขึ้นกับแพทย์ แพทย์ไม่เคยรวมกลุ่มกันประท้วงหยุดงาน ไม่เคยปฏิเสธผู้ป่วยเหมือนในบางประเทศ นั่นก็แสดงถึงความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยและสังคมของแพทย์ แต่แพทย์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะตัว เช่น ลาออกจากราชการหรือเลิกอาชีพแพทย์
 
จึงหวังว่าทางภาครัฐคงจะรับรู้ และเข้าใจความรู้สึกของแพทย์ แพทย์ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะได้หาทางออกร่วมกันในอันที่จะรักษาจำนวนแพทย์ที่มีอยู่ในภาคราชการ ให้อยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุขและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนที่ยากไร้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
 
ตัวผู้เขียนเองก็ยังมีความเสียใจจนถึงปัจจุบัน ที่ได้ลาออกจากระบบราชการ แต่เพราะผู้บริหารไม่อนุมัติให้ย้ายมายังโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อกลับ มาดูแลครอบครัว ทำให้มีความจำเป็นต้องลาออกจากราชการ แต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่งคงจะได้กลับเข้ารับราชการอีกตามที่ใจต้องการ
 
และ อยากจะขอให้แพทย์ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทุกท่าน ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว (หรือทำแต่น้อยมาก) หรือไม่ได้อยู่เวรต่างๆนอกเวลาราชการ ได้โปรดอย่าลืมสิ่งที่พวกท่านเคยผ่านมาตั้งแต่สมัยเป็นแพทย์จบใหม่ งานที่หนัก ค่าตอบแทนที่ต่ำ และที่สำคัญคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของวิชาชีพแพทย์ ได้โปรดอย่าให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่แพทย์มาทำลายความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง มาทำลาย SENIORITY ของพวกเรา
 
และถ้าจะออกกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ มาใช้กับแพทย์ส่วนใหญ่ที่ยังประกอบวิชาชีพเวชกรรมอยู่ ก็ขอให้ได้สอบถามความเห็นของแพทย์หรือมีการทำประชาพิจารณ์โดยแพทย์ส่วนใหญ่ เสียก่อน
 
ซึ่งผลประโยชน์สุดท้ายจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับ แพทย์ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานก็จะเกิดกับประชาชนในที่สุด และผู้เขียนคิดว่าคงจะสายเกินแก้แน่ ถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจังและแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ ตั้งแต่บัดนี้

.....................จบแล้วครับสำหรับบทความของนายแพทย์สยาม พิเชฐสินธุ์ (เขียนไว้ตัี้้แต่ปี2546)