ผู้เขียน หัวข้อ: สายธารแห่งศรัทธาชน-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 921 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ทุกๆ 12 ปี เมืองขนาดใหญ่ผุดขึ้นในชั่วข้ามคืน เพื่อรองรับเทศกาลทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2013 ผู้คนแออัดเกินขนาดที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองอัลลาฮาบาดทางตอนเหนือของอินเดีย นำไปสู่เหตุเหยียบกันตายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 36 คน ขณะนั้นเมืองกำลังเป็นเจ้าภาพการชุมนุมทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือพิธีกุมภ์เมลา (Kumbh Mela) ซึ่งจัดขึ้นทุก 12 ปี  เจ้าหน้าที่ประเมินจำนวนผู้จาริกแสวงบุญในวันนั้นว่ามีจำนวนสูงสุดถึง 30 ล้านคน  เหตุเศร้าสลดนี้เป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก แต่ยังมีอีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพิธีกุมภ์เมลาซึ่งยังไม่ได้รับการบอกเล่า

เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ห่างจากสถานีรถไฟที่เกิดเหตุราว 6.5 กิโลเมตร วันนั้นเป็นวันอาบน้ำครั้งใหญ่วันที่สองของเทศกาล แม้ฟ้ายังไม่สาง แต่ก็มีผู้คนรวมตัวกันอยู่ตรงนั้นหลายพันคนแล้ว พวกเขาดูสงบนิ่งและเป็นหนึ่งเดียวกัน ไร้วี่แววของการเบียดเสียดผลักดันใดๆ สิ่งเดียวที่สัมผัสได้คือกระแสธารแห่งความมุ่งมั่นระหว่างที่พวกเขาเดินแหวกน้ำลงไป  หย่อนกายอิ่มเอิบในสายน้ำเย็นเยียบ ก่อนจะเดินแหวกน้ำกลับขึ้นมา  ผู้คนหลีกทางให้กัน  เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน “รู้สึกยังไงบ้างคะ” ฉันถามชายนุ่งผ้าโธตีที่ชุ่มโชกไปด้วยน้ำผู้หนึ่ง “รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาเลยครับ” เขาตอบ

ฉันสัมผัสได้ถึงพลังงานบางอย่างที่แผ่ออกมาจากฝูงชน เอมีล ดูร์แคม นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่สิบเก้า นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า ความร่าเริงบันเทิงใจหมู่ (collective effervescence) เขาเชื่อว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพของปัจเจกบุคคล  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง   นั่นอาจหมายความว่า  เราเข้าใจความเป็นฝูงชนผิดไป

ในโลกตะวันตกมีความคิดที่แพร่หลายอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อผู้คนมารวมตัวกันมากๆ พวกเขาจะทิ้งอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล รวมทั้งความสามารถในการใช้เหตุผลและการประพฤติตนอย่างถูกทำนองคลองธรรม

“ผลการวิจัยของเราบ่งชี้ว่า ความจริงแล้วฝูงชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมครับ” สตีเฟน ไรเคอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์สในสหราชอาณาจักร อธิบาย “ฝูงชนช่วยก่อร่างสร้างสำนึกร่วมว่า  เราคือใคร รวมถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ กระทั่งช่วยบ่งบอกถึงสุขภาพอนามัยของเราด้วย”

เพื่อพิสูจน์ความคิดดังกล่าว ไรเคอร์และเพื่อนร่วมงานเดินทางมายังสถานที่ซึ่งมีความสำคัญและเปี่ยมพลังทางจิตวิญญาณสำหรับชาวฮินดูแห่งนี้   นี่คือบริเวณที่สายน้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสายที่สามที่ดำรงอยู่ในตำนานนามว่า สุรัสวดี  ตามท้องเรื่องในคัมภีร์โบราณ เมื่อทวยเทพกับเหล่าอสูรต่อสู้แย่งชิงน้ำทิพย์แห่งชีวิตอมตะ หรือ น้ำอมฤต ที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร น้ำอมฤตส่วนหนึ่งได้กระเด็นตกลงสู่พื้นโลกบริเวณนี้  ชาวฮินดูที่มาอาบน้ำในสายน้ำเหล่านี้เท่ากับได้ชำระล้างบาปของตน และเข้าใกล้สวรรค์มากขึ้นอีกก้าวหนึ่ง

ก่อนหน้าที่เทศกาลเมลาเมื่อปี 2011 จะเริ่มขึ้น ศรุติ เตวารี เพื่อนร่วมงานของสตีเฟน ไรเคอร์ ส่งทีมงานภาคสนามออกไปยังชนบทเพื่อสอบถามผู้ที่คาดว่าจะไปร่วมเทศกาลจำนวน 416 ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพร่างกายและจิตใจ  พวกเขาถามคำถามชุดเดียวกันกับเพื่อนบ้านของคนเหล่านั้นจำนวน 127 ตัวอย่าง  และหลังเทศกาลเมลาจบไปแล้วหนึ่งเดือน ทีมงานหวนกลับไปอีกครั้งเพื่อถามคำถามชุดเดิมกับคนทั้งสองกลุ่ม

กลุ่มตอบแบบสอบถามที่อยู่เฝ้าหมู่บ้านรายงานว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้ระหว่างระยะเวลาการศึกษา ในทางกลับกัน กลุ่มคนที่ไปร่วมเทศกาลรายงานว่า สุขภาพของพวกเขาดีขึ้นร้อยละ 10 ซึ่งรวมถึงอาการเจ็บปวดและหายใจขัดลดน้อยลง เช่นเดียวกับระดับความวิตกกังวลที่ลดลง และกำลังวังชาดีขึ้น

เพราะเหตุใดการเป็นส่วนหนึ่งของฝูงชนจึงช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้นได้ นักจิตวิทยาเชื่อว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบดังกล่าวคืออัตลักษณ์ร่วม “คุณจะคิดในฐานะ ‘เรา’ มากกว่าในฐานะ ‘ฉัน’” นิก ฮอปกินส์ เพื่อนร่วมงานของไรเคอร์ อธิบาย ผลที่ต่อเนื่องตามมาคือ การคิดแบบนั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับคนอื่นๆเปลี่ยนแปลงไป “สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐาน จากที่มองหรือเห็นผู้คนเป็น ‘คนอื่น’ มาเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนม” ทำให้เกิดการให้และรับความช่วยเหลือ การแข่งขันกลายเป็นการร่วมมือ และผู้คนจะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของพวกเขาได้แบบที่ไม่อาจทำได้โดยลำพัง กระบวนการที่ว่านี้กระตุ้นให้เกิดอารมณ์เชิงบวก ซึ่งไม่เพียงทำให้พวกเขาเผชิญหรือต้านทานความยากลำบากได้ดีขึ้น แต่ยังทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นด้วย

การเป็นส่วนหนึ่งของฝูงชน (อย่างน้อยน่าจะหมายถึงฝูงชนที่อยู่ในทำนองคลองธรรม) จึงอาจยังประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลได้ในทำนองเดียวกับที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับที่ลึกซึ้งกว่า เรารู้กันว่า กลไกต้านทานความเครียดอาจถูกกระตุ้นให้ทำงานด้วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบภูมิคุ้มกันและระบบไหลเวียนโลหิต

ไรเคอร์แบ่งแยกฝูงชนเชิงกายภาพ (physical crowd) กับฝูงชนเชิงจิตวิทยา (psychological crowd) ออกจากกันอย่างชัดเจน ฝูงชนเชิงกายภาพ เช่น ผู้โดยสารที่เบียดเสียดกันในรถไฟใต้ดิน ขาดอัตลักษณ์ร่วมกัน แม้ระดับความสัมพันธ์ทางสังคมที่สูงอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับการถูกผู้อื่นรายล้อมทางกายภาพ แต่ก็มีหลายอย่างร่วมกันกับการเป็นส่วนหนึ่งของฝูงชนเชิงจิตวิทยา นั่นคือการมีอัตลักษณ์ร่วม และไม่ใช่แค่ระบบทางร่างกายเท่านั้นที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุเหยียบกันตายที่สถานีรถไฟในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตอนที่เกิดเหตุนั้น ไรเคอร์เดินทางกลับประเทศไปแล้ว แต่ฉันจำการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งที่เขากับทีมงานขอให้ผู้จาริกแสวงบุญคนหนึ่งบรรยายความรู้สึกตอนอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่สถานีรถไฟ เธอผู้นั้นบอกว่า “ผู้คนคิดว่าพวกเขาแข็งแรงกว่าคุณ พวกเขานึกอยากจะผลักคุณไปไหนก็ได้” จากนั้น พอผู้สัมภาษณ์ขอให้บรรยายความรู้สึกขณะเข้าร่วมเทศกาลเมลา “ผู้คนจะห่วงใยคุณ ปฏิบัติต่อคุณอย่างสุภาพค่ะ ‘คุณแม่มานี่เลย [พวกเขาว่า] เชิญตามสบายเลย’”

ในอีเมลที่ส่งมาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส ไรเคอร์เขียนว่า สาเหตุที่เป็นไปได้ประการหนึ่งของเหตุเหยียบกันตายครั้งนั้นคือ อาจเป็นเพราะเหล่าผู้จาริกแสวงบุญไม่ได้อยู่ในรูปของฝูงชนเชิงจิตวิทยาอีกต่อไป ส่วนคนที่อยู่รอบๆก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่ใหญ่กว่าอีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้แข่งขันแย่งชิงที่นั่งบนรถไฟเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน

เรื่องโดย ลอรา สปินนีย์
เดือนกุมภาพันธ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กุมภาพันธ์ 2014, 04:19:01 โดย pani »