ผู้เขียน หัวข้อ: ศรัทธาแห่งทองคำ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1031 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ตามรอยเส้นทางของทองคำ จากโลหะแห่งศรัทธาสู่ “ของเล่นใหม่” ของนักลงทุนยุคดิจิทัล

ท่ามกลางกลิ่นควันธูปตลบอบอวล ผู้คนขวักไขว่ เสียงระนาดจากวงปี่พาทย์ พวงมาลัยดอกไม้สด และของถวายแก้บน  ฉันยืนอยู่หน้าวิหารจำลองภายในวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา  ซึ่งขณะนี้กำลังคลาคล่ำไปด้วยศรัทธาชนจากทั่วทุกสารทิศ พวกเขาต่างเบียดเสียดแทรกกายเพื่อเข้าไปยึดพื้นที่ในอุโบสถหลังเก่าแห่งนั้นที่ทั้งเล็กและแคบ  แม้เสียงอึกทึกอึงมี่และภาพความอลหม่านนั้นจะชวนให้อึดอัดไม่น้อย แต่กลับไม่มีเหตุกระทบกระทั่งทั้งทางร่างกายหรือปากเสียงแม้แต่น้อย              

                เป้าหมายของพุทธศาสนิกชนเหล่านั้นคือ “พระพุทธโสธร” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านช้าง ซึ่งเป็นเลื่องลือว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก โดยเฉพาะในทางบนบานศาลกล่าว  และแม้สถานที่แห่งนั้นจะประดิษฐานเพียงองค์จำลอง (พระพุทธรูปองค์จริงประดิษฐานอยู่ในวิหารอีกหลังหนึ่ง) แต่นั่นไม่ได้ทำให้พลังศรัทธาลดน้อยถอยลงเลย

                ฉันแทรกกายเบียดเสียดไปกับฝูงชนราวกับไหลไปตามธารศรัทธา  ในมือกำดอกไม้ ธูป เทียน และกระดาษเล็กๆ อีกแผ่นหนึ่งที่แลกมาด้วยการบริจาคเงินใส่ตู้ไม้ของวัดตามกำลังศรัทธา บัดนี้ ฉันยืนอยู่เบื้องหน้าองค์พระพุทธโสธรจำลอง พระพักตร์เอิบอิ่มและเป็นประกายจากวัสดุแผ่นบางๆ ขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าหนึ่งเซนติเมตรสักเท่าไรที่ติดอยู่ทั่วองค์พระ ฉันแง้มกระดาษสีน้ำตาลแผ่นนั้นออก ทองคำเปลวบางเบาขนาดประมาณเล็บนิ้วโป้งทอประกายเหลืองอร่าม ฉันค่อยๆ บรรจงประทับแผ่นทองคำเปลวนั้นลงบนพระอุระของพระพุทธรูป แล้วก้มลงกราบ เมื่อเงยหน้าขึ้น แสงของเปลวเทียนที่วูบไหวจากสายลมโชยอ่อนๆ กระทบกับริ้วทองคำเปลวของฉันที่กำลังค่อยๆ หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับทองอีกนับพันนับหมื่นแผ่นของศรัทธาชน  ส่งให้องค์พระทอแสงเรืองรองอร่ามตา        
 

ตลอดประวัติศาสตร์ ความพิเศษของทองคำไม่ได้มีเพียงคุณสมบัติเฉพาะอย่างความหนาแน่นและความยืดหยุ่นในการขึ้นรูปทรงต่างๆ ประกายแวววาวอันเป็นอมตะ และการไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีส่วนใหญ่เท่านั้น หากทองคำยังถือเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งอันเป็นสากล พบหลักฐานได้ในแทบทุกอารยธรรมของโลกทั้งตะวันตกและตะวันออก      

                ปัจจุบัน คุณภาพของทองคำถูกกำหนดตามสัดส่วนของโลหะอื่นที่เจือปนอยู่ ทองคำบริสุทธิ์ คือทองคำที่มีเนื้อทอง 99.99 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น แต่เนื่องจากทองคำบริสุทธิ์มีความอ่อนตัวสูงมาก จึงไม่สามารถนำมาขึ้นรูปทำเป็นเครื่องประดับได้  ในประเทศไทยกำหนดมาตรฐานทองคำอยู่ที่ 96.5 เปอร์เซ็นต์ โดยผสมโลหะอื่นๆ เช่น เงิน ทองแดงและนิกเกิลลงไปเพื่อทำให้ทองคำแข็งตัวมากขึ้น  เหมาะสำหรับนำไปผลิตเป็นทองรูปพรรณ โลหะที่ผสมลงไปเหล่านั้นเองจะเป็นตัวกำหนดสีสันของทองคำ จนเป็นที่มาของชื่ออย่างทองคำชมพู และทองคำขาว เป็นต้น          

                เรื่องราวของทองคำกับชาวสยามปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชานี พบว่ามีการใช้ทองคำสร้างเป็นเครื่องบรรณาการ รวมถึงพระพุทธรูป และข้าวของเครื่องใช้หลายชนิด  ต่อมา ในบันทึกของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระบุว่า ชาวสยามยังแปรรูปทองคำเพื่อเป็นสินค้าส่งออก และครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามยังพระราชทานจอกดื่มเหล้าทองคำและดาบทองคำแก่อัลฟองโซ เดออัลบูร์เกอร์กี ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสที่เมืองมะละกา เพื่อเจรจาสัมพันธไมตรีเป็นพันธมิตรค้าขายและการทหาร

 

ยุคสมัยขับเคลื่อนให้ทองคำกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity)  ซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก และนับวันจะยิ่งทวีมูลค่าสูงขึ้น  จนถึงปัจจุบัน  เราสกัดทองคำออกมาใช้แล้วมากกว่า 170,000 ตัน (มีผู้ประเมินว่าแหล่งแร่ทองคำสำรองของโลกเหลืออยู่อีกไม่เกิน 100,000 ตัน)

                        ว่ากันว่างานมงคลสมรสคือพิธีกรรมที่ทองคำมีบทบาทโดดเด่นมากที่สุด  ทั้งนัยหรือความหมายที่สื่อถึงความมั่งคั่ง และความเป็นสิริมงคล ธรรมเนียมเก่าแก่ของชาวจีนเชื่อมโยงทองคำกับเลข 4 อันเป็นเลขมงคลตามความเชื่อ “ทองสี่ชิ้น” หรือ “สี่เอี่ยกิม” ซึ่งประกอบไปด้วยกำไลทอง ตุ้มหูทอง สร้อยคอทอง และเข็มขัดทอง เป็นสินสอดทองหมั้นที่ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องจัดเตรียมไว้สำหรับมอบให้บิดามารดาฝ่ายเจ้าสาว

                ขณะที่ในอินเดีย ดินแดนที่รากเหง้าทางวัฒนธรรมผูกพันกับทองคำอย่างแนบแน่นเช่นกัน ส่งผลให้เป็นชาติผู้บริโภคหรือนำเข้าทองคำเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยขับเคี่ยวแย่งชิงตำแหน่งอันดับหนึ่งกับจีนมาตลอดหลายปี แม้ล่าสุดเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียประกาศใช้มาตรการสวนกระแสโดยตั้งกำแพงภาษีนำเข้าทองคำถึงร้อยละ 10 เพื่อลดการนำเข้าทองคำซึ่งส่งผลให้ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทว่าทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ยอดนิยมที่ชาวอินเดียศรัทธาและซื้อหาเพื่อเป็นการออมรูปแบบหนึ่ง ประมาณการกันว่าทั่วทั้งอินเดียมีทองคำในภาคครัวเรือนสูงถึง 20,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกือบครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นนำไปใช้เป็นสินสอด ของขวัญ และเครื่องประดับในงานแต่งงาน

 

บทบาทหรือโฉมหน้าของทองคำ จากวัตถุแห่งศรัทธาและสมบัติติดตัว  สู่ “สินทรัพย์ที่ปลอดภัย” (safe haven) และการลงทุน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน “ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและอเมริกามีปัญหา ผู้ลงทุนเลยจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อทองคำ เพราะมีเงินไม่ถึงหมื่นบาทก็ซื้อทองได้  เมื่อปี 2554 ราคาทองพุ่งสูงถึงบาทละ 27,000 บาท  ทำให้ผู้ที่ซื้อทองเก็บไว้ช่วงนั้นทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำกันถ้วนหน้า” จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตลาดทองคำ “เมื่อเห็นกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบนี้ ทำให้ผู้คนเชื่อในกำไรมากกว่าจะศรัทธาทองคำแบบสมัยก่อนแล้วล่ะ” จิตติบอก

                เมื่อพลังศรัทธามีมูลค่า เนื้อทองคำที่ “จับต้องได้” จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ราวต้นปี พ.ศ.2552  สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าหรือโกลด์ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) สัญญาแรกก็มีการซื้อขายกันผ่านระบบตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ของไทย การลงทุนที่อาจไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก แต่ตั้งอยู่บนความเสี่ยงสูงนี้ค่อยๆ กลายมาเป็น “ของเล่น” ใหม่ของนักลงทุน จนได้รับความนิยมในปัจจุบัน สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้านี้ไม่มีการส่งมอบทองคำจริงๆ นักลงทุนเพียงแค่ “เก็ง” หรือคาดการณ์ว่า ราคาทองคำในอนาคตจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง หากคาดว่าราคาทองคำจะเพิ่มสูงขึ้นก็อาจลงทุนซื้อสัญญาไว้ก่อนล่วงหน้า และหากราคาปรับเพิ่มขึ้นจริง ผู้ลงทุนก็จะได้กำไร ในทางกลับกัน หากคาดว่าราคาทองคำในอนาคตจะลดลง ก็อาจชิงเทขายทิ้งเสียก่อน  หากราคาทองคำลดลงจริง  ราคาที่ขายในวันก่อนหน้าก็จะสูงกว่า เรียกได้ว่าเป็นการคาดการณ์ราคาทองคำในอนาคตเพื่อทำกำไรล้วนๆ ระบบที่ว่านี้มักดำเนินการผ่านคอมพิวเตอร์ “เทคโนโลยีพัฒนา ผู้คนเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายขึ้น โกลด์ฟิวเจอร์จึงเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนหน้าใหม่ แต่อย่าลืมตรรกะง่ายๆว่า     เมื่อค่าตอบแทนสูงขึ้น ความเสี่ยงย่อมทวีตาม คนที่คิดจะลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนที่จะตัดสินใจครับ” นายกสมาคมค้าทองคำทิ้งท้ายด้วยคำพูดที่เรามักได้ยินตอนท้ายของโฆษณาเชิญชวนลงทุนสารพัดรูปแบบ        


เรื่องโดย สุวัชรี พรมบุญมี
เดือนกุมภาพันธ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กุมภาพันธ์ 2014, 04:19:34 โดย pani »