ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. ร่วมมือรัฐบาลญี่ปุ่น พัฒนาดูแลผู้สูงวัยเป็นต้นแบอาเซียน  (อ่าน 717 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

วันพุธ ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557, 06.00 น.

นายแพทย์ชาญวิทย์  ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้จัดทำโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นหรือไจก้า  ( JICA) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการระยะยาวที่ยั่งยืน สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนและช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งมีอาการคงที่  แต่ต้องการความช่วยเหลือในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การขับถ่าย เป็นต้น หรือที่เรียกว่ากลุ่มติดเตียง ติดบ้าน ซึ่งคาดว่าขณะนี้จะมีประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั่วประเทศ

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแล รักษา และพัฒนาการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของผู้สูงอายุ ระงับและป้องกันอาการเจ็บป่วยไม่ให้แย่ลงกว่าเดิม และให้คำแนะนำเทคนิคการดูแลพยาบาล เพิ่มขวัญกำลังใจแก่ญาติหรือครอบครัว ในการร่วมกันดูแลผู้สูงอายุร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ  ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี  ระหว่าง พ.ศ. 2556-2560  ในพื้นที่ชุมชน 6 จังหวัดที่มีความหลากหลาย ทั้งชุมชนเมืองหนาแน่น  ชุมชนเมืองทั่วไป  และชนบท   ได้แก่   กรุงเทพมหานคร   เชียงราย นครราชสีมา  สุราษฏร์ธานี นนทบุรี และขอนแก่น  โดยญี่ปุ่นมีแนวคิดจะนำรูปแบบของไทยไปขยายผลในประเทศอาเซียน ซึ่งมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน   เพื่อดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

การดำเนินโครงการดังกล่าวได้บูรณาการกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกระทรวง หน่วยงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการดูแล  2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารโครงการ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และคณะกรรมการชุดดำเนินงาน มีนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะกรรมการทั้ง 2ชุด ประกอบด้วย หน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อจัดทำแผนการให้บริการหลายรูปแบบ  เช่น การช่วยเหลือที่บ้าน บริการแบบเช้าเย็นกลับเพื่อรักษาการเข้าสังคมของผู้สูงอายุ การฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน นวดแผนไทย การประกอบอาหาร การออกกำลังกาย โดยจะมีการจัดอาสาสมัครดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในท้องถิ่น  และหากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน จะมีระบบการประสานงานแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ทราบ และส่งรถพยาบาลและทีมกู้ชีพฉุกเฉินไปรับถึงบ้าน โดยทีมกู้ชีพจะรู้ประวัติผู้ป่วยและโรคหลักๆ ก่อนล่วงหน้า สามารถให้การดูแลอย่างถูกวิธี เนื่องจากการดูแลรักษาผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากวัยอื่นๆ เพราะอวัยวะหลายส่วนอยู่ในสภาวะที่เสื่อมถอย