ผู้เขียน หัวข้อ: เด็กไทยฟันผุเกินครึ่ง เหตุกินขนม-น้ำอัดลม แต่ไม่ดูแลช่องปาก  (อ่าน 800 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
 เด็กไทยฟันผุเกินครึ่ง เสี่ยงสูญเสียฟันตั้งแต่วัยเด็ก และฟันหายหมดปากเร็วขึ้น เหตุชอบกินขนม น้ำอัดลมมาก แต่การดูแลช่องปากไม่ดี กรมอนามัยเร่งเดินหน้าเด็กไทยไม่กินหวาน หวังแก้ปัญหา

เด็กไทยฟันผุเกินครึ่ง เหตุกินขนม-น้ำอัดลม แต่ไม่ดูแลช่องปาก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       วันนี้ (28 ม.ค.) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปการดำเนินงานการพัฒนารูปแบบและนโยบายลดการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทยในพื้นที่ โครงการการรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน ว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากในเด็กมีสาเหตุสำคัญมาจากการบริโภคน้ำตาลมากเกิน ทั้งน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ แต่การดูแลอนามัยช่องปากไม่สม่ำเสมอ ทำให้มากกว่าครึ่งของเด็กไทยมีฟันผุ ซึ่งจากผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของคนไทยพบว่า เด็กวัยเรียนมีปัญหาโรคฟันผุมาก โดยเด็กอายุ 3 ปี ฟันน้ำนมผุร้อยละ 52 เฉลี่ย 2.7 ซี่/คน เด็กอายุ 12 ปี หรือ ป.6 มีฟันแท้ผุร้อยละ 52 เฉลี่ย 1.3 ซี่/คน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเจ็บปวด ติดเชื้อ และสร้างปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร กระทบต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพ ที่สำคัญคือกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียน และปัญหาฟันผุจะนำไปสู่การสูญเสียฟันตั้งแต่วัยเด็ก และสะสมจนสูญเสียฟันทั้งปากในวัยสูงอายุ
       
       ทพ.สุธา กล่าวอีกว่า สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ได้รณรงค์ลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทยตั้งแต่ปี 2545 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาด้านวิชาการ 2.มาตรการเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม และฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ขนมเด็ก และ 3.สร้างกระแสสังคม และสนับสนุนการลดการบริโภคน้ำตาล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปัจจุบันมีการดำเนินงานครอบคลุม 21 จังหวัด ในปี 2556 ได้พัฒนาพื้นที่ตัวอย่างให้ดำเนินงานอย่างเป็นระบบและประเมินผลลัพธ์ในระดับพฤติกรรม เน้นการจัดการอาหารและเครื่องดื่มรอบรั้วโรงเรียน รวมทั้งขยายผลสู่นโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมครอบคลุมร้อยละ 72 โดยร่วมกับ สพฐ.ขับเคลื่อนผ่านเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และร้อยละ 83.5 ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดอาหารว่างเป็นผัก ผลไม้อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์
       
       “การจัดประชุมภายใต้การรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อเด็กไทยไม่กินหวานครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปบทเรียน เพื่อต่อยอดและขยายภาคีเครือข่าย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาพช่องปาก เพื่อสุขภาพของเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งขยายผลเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานไปสู่เด็กในระดับมัธยมศึกษาต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 มกราคม 2557