ผู้เขียน หัวข้อ: เฝ้าระวังยังไร้ผล! 6 วันเทศกาลปีใหม่ตาย 334 ราย เจ็บ 3,041 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  (อ่าน 915 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
ศปถ.สรุป 6 วัน ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ เกิดอุบัติเหตุ 2,891 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 334 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,041 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม 8 จังหวัด กำชับจังหวัดคุมเข้มจุดตรวจบนถนนสายหลักและสายรองในชุมชนหมู่บ้าน กวดขันรถโดยสารสาธารณะและรถตู้เป็นพิเศษ เน้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และง่วงหลับใน

       นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 ประจำวันที่ 2 ม.ค. 2557 กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 ม.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ “ปีใหม่สัญจรปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 536 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 68 ราย ลดลงจากปีก่อน 10 ราย และผู้บาดเจ็บ 539 คน ลดลงจากปีก่อน 44 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
เมาสุรา ร้อยละ 51.49
ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.44
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.62
รถปิกอัพ ร้อยละ 8.11
พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่
ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 26.19
ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.19
บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.93
ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 31.16
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01-04.00 น.ร้อยละ 25.19
ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 60.79 กลุ่มเด็กและเยาวชน ร้อยละ 19.93
      
       “ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,254 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,027 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 699,447 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 101,618 ราย โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 29,212 ราย รองลงมาไม่สวมหมวกนิรภัย 27,661 ราย สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 27 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 7 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 29 คน” นายวิสาร กล่าว
      
       นายวิสาร กล่าวอีกว่า สำหรับผลสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2556 - 1 ม.ค. 2557 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,891 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 334 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,041 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 6 วัน รวม 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ ยโสธร ชัยนาท ตราด สมุทรสงคราม ปัตตานี และพังงา จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ และเชียงใหม่ จังหวัดละ 111 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 21 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 121 คน
      
       นายวิสาร กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันปีใหม่ พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมีสาเหตุจากการดื่มสุรา คิดเป็นกว่า ร้อยละ 51.49 อีกทั้งอุบัติเหตุเกิดสูงสุดอยู่ในระหว่างเวลา 00.01 - 04.00 น.ซึ่งเป็นช่วงหลังการเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยแรงงานมีสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 60 ศปถ.ได้เน้นย้ำให้จังหวัดคุมเข้มถนนสายหลัก โดยเฉพาะเส้นทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ควบคู่กับการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดบนถนนสายรองในชุมชนหมู่บ้าน เน้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งการการเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และง่วงหลับใน เข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะ เพื่อตรวจสอบสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่อย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนซึ่งมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง
      
       นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า วันนี้ยังคงมีประชาชนบางส่วนเดินทางกลับ ศปถ.จึงได้สั่งการจังหวัดกำชับจุดตรวจคุมเข้มรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสาร รับจ้างไม่ประจำ รถตู้โดยสาร และรถสองแถวรับส่งผู้โดยสารเป็นพิเศษ เพื่อให้การเดินทางกลับของประชาชนเป็นไปด้วยความปลอดภัย เน้นกวดขันการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ และง่วงหลับใน สำหรับจังหวัดที่เป็นเส้นทางหลักไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางที่มุ่งสู่กรุงเทพมหานคร ให้เร่งระบายรถ โดยเตรียมช่องทางพิเศษ และปรับใช้สัญญาณไฟเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจร พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงจุดอันตราย เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ท้ายนี้ ขอฝากเตือนผู้ขับขี่ให้จอดพักรถผ่อนคลายอิริยาบถและความเมื่อยล้าบริเวณจุดพักรถที่ปลอดภัย สถานีบริการน้ำมัน และจุดบริการ ที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้บนเส้นทางสายต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้การสัญจรในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นไปด้วยความปลอดภัย
      
       นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ประธานศูนย์ข้อมูลการสื่อสารเพื่อความปลอดภัย (ศสป.) ภายใต้ ศปถ. กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเดินทางกลับ ยังคงย้ำเตือนในเรื่องของการขับขี่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ขับเร็วเกินกำหนด และขอฝากให้ผู้ที่โดยสารรถมาด้วยคอยเตือนและสังเกตคนขับว่ามีอาการง่วงหรือไม่ หากเหนื่อยล้าให้แวะพักตามจุดบริการตามเส้นทาง และในกรณีที่ประชาชนใช้บริการรถโดยสารสาธารณะและรถตู้ในการเดินทางกลับ ขอให้เพิ่มความระวัดระวังเป็นพิเศษและควรเลือกใช้บริการรถที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง
      
       นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มีข้อแนะนำในเรื่องมาตรการความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ คือ คนขับต้องพร้อม รถต้องได้มาตรฐานความปลอดภัย ไม่บรรทุกเกิน โดยเฉพาะรถตู้เสริม ดังนั้น ผู้ใช้บริการจึงควรเลือกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ได้มาตรฐาน เหนือสิ่งอื่นใดผู้ประกอบการต้องมีความตระหนักและควรคัดเลือกพนักงานขับรถที่มีคุณภาพ โดยพนักงานขับรถจะต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และคนขับรถโดยสารสาธารณะขับรถติดต่อกันได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ต้องมีคนเปลี่ยน เว้นแต่ได้พักเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ส่วนมาตรฐานรถที่มีความปลอดภัย ต้องเป็นรถใหม่ อายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง มีประตูฉุกเฉิน หากผู้โดยสารต้องเดินทางในถนนที่มีความเสี่ยง คือ ทางลาดชัน ขึ้นเขาหรือลงเขา ก็ไม่ควรเลือกใช้บริการรถบัส 2 ชั้น นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนผู้โดยสารทุกคนและคนขับปฏิบัติตามประกาศกฎกระทรวงอย่างเคร่งครัด คือ การคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งตลอดการเดินทาง เพื่อให้การกลับบ้านของท่านมีความปลอดภัย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 มกราคม 2557
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 มกราคม 2014, 23:44:26 โดย seeat »