ผู้เขียน หัวข้อ: 5 เรื่องเด่นคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมปี 2557  (อ่าน 822 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ในปี 2556 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชูธงว่าเป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลับไม่มีตัวชี้วัด หรือเป้าหมายที่ชัดเจนเลยว่าผู้บริโภคจะได้อะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง โดยเฉพาะการเข้ามามีส่วนร่วมว่าต้องการอะไร หรืออยากให้กสทช.เข้ามาช่วยด้านโทรคมนาคมอย่างไร
       
       ในปี 2557 นี้สิ่งที่ต้องจับตามองในด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมมีเรื่องอีกเพียบ โดยเฉพาะประเด็นค่าโทร.มือถือที่ควรจะเหลือเพียง 30 สตางค์ต่อนาที และการล้างบางเกณฑ์ตรวจสอบมาตรฐานสัญญาณมือถือที่ตรวจสอบทีไรก็มีผลเป็นอันผ่านทุกครั้งซึ่งขัดแย้งกับในความเป็นจริงที่ผู้บริโภคต้องเจอปัญหาอย่างมาก ในการใช้งานในแต่ละวัน รวมทั้งปัญหา FUPบริการมือถือ 3G ความถี่ 2.1 GHz
       
       น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ระบุว่าในปี 2556 นั้นสำนักงานกสทช.ออกมาระบุเป็นอย่างดีว่าเป็น 'ปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม”' ซึ่งอยากจะถามว่าเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จดังกล่าว เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2556 สำนักงานไม่มีการกำหนดตัวชี้วัด หรือเป้าหมายใดๆเลยว่าสิ้นปีจะเห็นอะไร หรือจะผลักดันผลประโยชน์อะไรให้คุ้มครองผู้บริโภคให้สำเร็จบ้าง แถมกสทช.เองก็ไม่เคยให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมว่าอยากเห็นอะไร หรือขาดอะไร แต่กลับดำเนินการตามนโยบายของตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
       
       'ดังนั้นหากจะชูว่าในปี2556เป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคก็ควรจะถามความเห็นผู้บริโภคว่าอยากจะเห็นอะไร ต้องการอะไรมากกว่าจึงจะถูกต้อง'
       
       อย่างไรก็ตามในปี 2557 ในฐานะที่รับผิดชอบด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยตรงก็จะคอยจับตามองสำนักงานกสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่าจะมีแผนการเรื่องใดบ้างเพื่อให้ผู้บริโภค ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยที่ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการเอกชน และรัฐวิสาหกิจในการให้บริการ ขณะเดียวกันก็จะคอยตรวจสอบมติต่างๆที่ไม่ชอบมาพากลภายในบอร์ดกทค.อย่างตรงไป ตรงมา
       
       ***1.เคาะค่าบริการที่แท้จริง
       
       โดยหนึ่งในหลายๆเรื่องที่สำคัญ และอยากจะเห็นให้เกิดขึ้นในปี 2557 นี้คือเรื่องอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่ถูกลง เนื่องจาก ทุกวันนี้ค่าบริการโทรศัพท์มือถือสามารถลดลงมาได้อีกถึงแม้ล่าสุดผู้ประกอบการจะออกโปรโมชัน 50 สตางค์ต่อนาทีทุกเครือข่ายทันทีที่กสทช.กำหนดค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ค่าไอซี) เหลือ 45สตางค์แล้วก็ตาม ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ค่าบริการมือถือลดลงคือค่าไอซี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าต้นทุนค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่แท้จริงอยู่แค่ 10 สตางค์เท่านั้นที่เหลือเป็นค่าไอซีทั้งหมด
       
       ในปี 2557 สิ่งที่สำนักงานกสทช. และบอร์ดกทค.ควรจะต้องทำคือการนำเอาผลการรายงานของบริษัทที่ปรึกษาที่มีหน้าที่ในการคำนวณ และหาต้นทุนที่แท้จริงของค่าไอซีแล้วนำมาพิจารณาว่าต้นทุนที่แท้จริงควรอยู่ที่ราคาเท่าไร จากนั้นจึงเสนอให้บอร์ดกทค.เห็นชอบเพื่อที่จะประกาศใช้ซึ่งสุดท้ายก็จะเห็นผู้ประกอบการลดราคาค่าบริการโทรศัพท์มือถือลงไปอีกแน่นอน
       
       อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวที่กสทช.จ้างมาตั้งแต่ปี 2555 ได้เคยเสนอราคาค่าไอซีไว้น่าสนใจมากในปี 2556 บริษัทได้เสนอราคาค่าไอซีไว้ 40 สตางค์ แต่สุดท้ายบอร์ดกทค.อนุมัติใช้ที่ 45 สตางค์ และในปี 2557 ที่ปรึกษาเสนอไว้ที่ 21สตางค์เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าโทรศัพท์มือถือถูกลงเหลือเพียงนาทีละ 31สตางค์ แต่สำนักงาน กสทช.กลับมองว่าเป็นการปรับลดลงเร็วไปผู้ประกอบการอาจจะปรับตัวไม่ทัน สุดท้ายจึงปรับลดลงให้เหลือเพียง 45 สตางค์เช่นเดิม
       
       'ส่วนตัวมองว่าค่าบริการโทรศัพท์มือถือในปี 2557 จะปรับลดลงไปอีกมากกว่าปัจจุบันแน่นอนเนื่องจากค่าต้นทุนค่าไอซีที่แท้จริง สามารถปรับลดลงไปได้อีกถึง 21 สตางค์ซึ่งจะส่งผลให้ค่าบริการโทรศัพท์มือถือเหลือเพียง 30 สตางค์ต่อนาทีเท่านั้น'
       
       สำหรับสาเหตุที่สำนักงานกสทช.ไม่ต้องการปรับค่าไอซีลดลงเร็วไปนั้นได้ให้เหตุผลที่ แปลกมาก คือกลัวผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน และยังมีการเจรจาเรื่องค่าไอซีไม่ครบทุกรายในตลาด รวมไปถึงหากปรับค่าไอซีเร็วเกินไปอาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างรุนแรง ดังนั้นสำนักงานคงต้องกลับมาดูกันจริงๆว่าถ้าการปรับลดลงค่าบริการดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนก็ถือเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นหรือเรียกว่าข้ออ้างมากกว่า
       
       ***2.ล้างบางเกณฑ์ทดสอบสัญญาณมือถือ
       
       น.พ.ประวิทย์ กล่าวว่าถือเป็นเรื่องน่าแปลกเป็นอย่างมากในการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานกสทช.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสัญญาณของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือในตลาดได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ รวมไปถึงทีโอที และกสท โทรคมนาคม ซึ่งเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบสัญญาณทุกรายกลับผ่านเกณฑ์ตรวจสอบมาตรฐานทั้งหมด ทั้งที่ในความเป็นจริงยังคงมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาอยู่ตลอดเวลาถึงปัญหา สัญญาณโทรศัพท์ที่เกิดขึ้น อาทิ สายหลุดบ่อย ,โทร.ติดยากทั้งในระบบ 2G และ 3G รวมไปถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่ช้ากว่าที่โฆษณาไว้
       
       โดยล่าสุดคณะทำงานของบอร์ดกทค.กำลังปรับปรุงมาตรฐานประเภทเสียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งคาดว่าในปี 2557 จะมีการแก้ไขประกาศคุณภาพมาตรฐานประเภทเสียงได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทางผู้ประกอบการส่วนใหญ่อ้างว่าบางพื้นที่อยู่นอกพื้นที่การให้บริการ และส่วนใหญ่เอกชนมักใช้การเฉลี่ยทั้งประเทศว่าผ่านคุณภาพมาตรฐานแล้วซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
       
       ดังนั้นสำนักงาน กสทช.และคณะทำงานชุดดังกล่าวควรปรับ มาตรฐานคุณภาพให้สูงขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะการใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศมาเป็นตัวชี้วัดผลการตรวจสอบ และควรปรับหลักเกณฑ์ให้มีมิติในเรื่องของพื้นที่เข้าไปด้วยว่าพื้นที่ไหนอยู่นอกพื้นที่การให้บริการ พื้นที่ไหนห้ามมีปัญหาเรื่องคุณภาพสัญญาณ อาทิ บริเวณระบบขนส่งมวลชน และพื้นที่ตามแหล่งชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
       
       ***3.เคลียร์ปัญหา Fair Usage Policy
       
       อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตามกันต่อคือบริการสำหรับกิจการโทรคมนาคมโทรศัพท์เคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 GHz (3G)ในส่วนของการใช้งานดาต้าที่ปัจจุบันผู้ประกอบการทุกรายต่างมีข้อกำหนด เรื่องปริมาณการใช้ข้อมูลที่ความเร็วสูงสุดที่แตกต่างกันไป (Fair Usage Policy) ซึ่งกสทช.จะต้องเข้าไปกำหนดเกณฑ์ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากที่สุด ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการเรียกบริษัทที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือในประเด็นดังกล่าวหลายรอบก็ตาม แต่ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
       
       ยังรวมไปถึงการลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 3G ของทุกค่ายในอัตรา15% ตามมติบอร์ดกทค.นั้นในปัจจุบันแม้ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย และสำนักงานกสทช.จะออกมายืนยันว่าโปรโมชันในตลาดมีการปรับลดราคาค่าบริการลงแล้วก็ตาม แต่ความเป็นจริงเป็นเพียงการเพิ่มของแถมมากกว่าลดราคาตามที่ กสทช.กำหนด อาทิ นำโปร.เดิมมาเพิ่มของแถมเปลี่ยนชื่อโปร.แล้วก็บอกว่าเป็นโปร.ใหม่ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ผลประโยชน์เท่าที่ควรจะได้รับ
       
       ดังนั้นกทค.ต้องนำบทเรียนดังกล่าวมาใช้กับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปี 2557 กสทช.ควรจะกำหนดในตัวร่างประกาศ หรือร่างประกวดราคาประมูลไปเลยว่าจุดที่จะคุ้มครองผู้บริโภคมีอะไรบ้าง อาทิ การกำหนดอัตราขั้นสูงลงในประกาศ
       
       'การที่จะมาอ้างว่าในหลายประเทศก็มีการกำหนด Fair Usage Policy นั้นเชื่อว่าคงไม่มีประเทศไหนในทั่วโลกที่จะกำหนดสปีดให้ต่ำกว่า 2G ทั้งที่ใช้บริการ 3G อยู่แน่นอนซึ่งปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้'
       
       *** 4.จี้ออกร่างหลักเกณฑ์ตามมาตรา 31 วรรค 2
       
       สำหรับอีกเรื่องหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้นนานแล้วซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ระบุเอาไว้ว่ากสทช.จะต้องดำเนินการออกร่างประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... ตามมาตรา 31 วรรค 2 ซึ่งมีสาระสำคัญในประเด็นที่ผู้ประกอบการทั้งกิจการโทรคมนาคม และวิทยุโทรทัศน์ ดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยเครือข่าย หรือการโฆษณา และค้ากำไรเกินควรรวมไปถึงการก่อให้เกิดความรำคาญต่อผู้บริโภค ซึ่งกสทช.มีอำนาจในการสั่งการระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ทันที อาทิ SPAM SMS และSMS ประเภทอื่นๆ
       
       'โดยร่างหลักเกณฑ์มีบทลงโทษว่าหากผู้ประกอบการเอกชนรายใดฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวมีโทษปรับทางปกครองเริ่มต้นไม่เกิน 5 ล้านบาท ปรับรายวันไม่เกินวันละ 1 แสนบาท'
       
       แต่ปัญหาในตอนนี้คือผ่านมาเกือบ 2 ปี แต่ยังไม่มีการร่างหลักเกณฑ์ใดๆออกมาเลย ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวใส่ลงไปในแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2555 ที่ประกาศใช้ไปเมื่อต้นปี 2555 แต่สุดท้ายก็ถูกปัดตกไป ดังนั้นคงต้องฝากความหวังไปยังสำนักงาน กสทช.ให้เร่งดำเนินการร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยเร็ว เพราะหากยังนิ่งเฉยก็เท่ากลับไม่ดำเนินการตามแผนแม่บทตนเองที่กำหนดเอาไว้ เพราะปัจจุบันยังคงมีผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจาก SPAM SMS และSMS ที่แอบหักเงินโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว
       
       ขณะที่ล่าสุดฝั่งคณะกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.)ได้มีการร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวออกมาแล้วซึ่งคงต้องหันมาดูว่าทางฝั่งกทค.จะออกมาเมื่อไร และจะมีบริการประเภทใดบ้างที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ดังกล่าวซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทเอกชนได้
       
       ***5.เร่งออกแบบสัญญามาตรฐาน
       
       ตั้งแต่ได้เข้ามารับตำแหน่งได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริโภคเข้ามาหารือในเรื่องแบบสัญญามาตรฐาน เนื่องจากปัจจุบันเมื่อมีการจัดประมูลอะไรก็ตามบริษัทหรือผู้ประกอบการต้องส่งแบบสัญญามายังกสทช.ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการนาน ทำให้กสทช.ต้องเร่งอนุมัติแบบสัญญาต่างๆเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดให้บริการได้อย่างรวดเร็วทำให้การดำเนินการตรวจสอบแบบสัญญาที่เอกชนส่งมาให้ไม่ครบถ้วน และไม่รอบคอบเท่าที่ควร อาทิ การเร่งพิจารณาแบบสัญญาการเปิดให้บริการของ3G
       
       ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้การตรวจสอบ และการดำเนินการของเอกชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และถูกต้องตามมาตรฐานโดยไม่ต้องให้กสทช.เห็นชอบ อีกทั้งผู้บริโภคก็จะได้รับทราบว่าอะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้จากสัญญามาตรฐานดังกล่าว คือกสทช.ต้องเร่งออกแบบสัญญามาตรฐานโดยเร็วแต่คงต้องจับตาดูว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 หรือไม่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวปล่อยทิ้งมาตั้งแต่หลังประมูล3G จบลงแล้ว
       
       'หากสามารถออกแบบสัญญามาตรฐานภายในปี 2557 การประมูล4G ที่กำลังจะเกิดขึ้นกสทช.ก็จะไม่ต้องเสียเวลาในการตรวจแบบสัญญา ซึ่งจะช่วงย่นระยะเวลาในการดำเนินการลงได้ทำให้เอกชนสามารถเปิดให้บริการได้ เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็เป็นผลดีกับผู้บริโภคนั่นเอง'

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 ธันวาคม 2556