ผู้เขียน หัวข้อ: อุบัติเหตุทางถนนหากประมาทไม่ว่าจะเป็นใครก็เสี่ยง เร่งเพิ่มจุดบริหารช่วยเหลือ  (อ่าน 803 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- เสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2556 00:00:48 น.
สพฉ. เผยอุบัติเหตุยานยนต์พุ่งสูงปีละกว่า 3-4 แสนราย เตรียมเร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย ย้ำห่วงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลือ ขณะที่หัวหน้าแผนงาน สอจร.ภาคใต้ ชี้ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปในการเกิดอุบัติเหตุถึง 6 เท่า แนะควรเพิ่มจุดบริการให้ครอบคลุม ย้ำต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เข้าทางแยกผ่านทางร่วมต้องชะลอ ด้านหน่วยกู้ชีพในพื้นที่เร่งทำงานช่วยรณรงค์ลดและป้องกันอุบัติเหตุ


 
น.พ.วิวัฒน์ คีตะมโนชญ์ หัวหน้าแผนงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ภาคใต้ กล่าวว่า อุบัติเหตุในประเทศไทยถือเป็นปัญหาใหญ่ จากตัวเลขขององค์การอนามัยโลกประเทศไทย มีสถิติคนเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก คือ เสียชีวิตถึง 38.1 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือคิดเฉลี่ยเป็นชั่วโมงละ 2 ราย แสดงให้เห็นว่าทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่ทั้งนี้บุคคลที่ถือว่ามีความเสี่ยงที่สุดคือบุคลากรทางแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไป 6 เท่า เนื่องจากต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนนมากและใช้ความเร็วสูงมาก ซึ่งลักษณะของอุบัติเหตุที่พบบ่อย มีทั้งระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ โดยเกิดอุบัติเหตุบนทางแยก นอกจากนี้ยังไม่คาดเข็มขัดนิรภัยทำให้เพิ่มความเสี่ยงเป็น 2.5-2.8 เท่า

"การขับรถด้วยความเร็วสูงของรถพยาบาลไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็วขึ้น แต่ทางออกคือต้องเพิ่มหน่วยบริการให้ครอบคลุมเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้เร็ว เพราะยิ่งขับรถเร็วก็ยิ่งเสี่ยง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันหาแนวทางป้องกันการเกิดอุบัติเหตุโดยเริ่มจากบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ปฏิบัติการก่อน คือ เข้าทางแยกผ่านทางร่วมอย่าขับเร็ว ต้องชะลอ โดยใช้ไฟไซเรนช่วย โดยใช้ความเร็วประมาณ 15 กม.ต่อชั่วโมง รวมไปถึงต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งสำหรับกู้ชีพและผู้ป่วยด้วยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ขณะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจะต้องมีการวางแผนเพื่อความปลอดภัย เช่น วางกรวยเบรกทางอย่างน้อย 300 เมตร เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุเหตุในเบื้องต้น" น.พ.วิวัฒน์ กล่าว

น.พ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เมื่อมีอุบัติหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้น ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินจะเป็นหน่วยงานแรกที่จะต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินต่อผู้ประสบเหตุ ซึ่งการให้บริการของเรา หรือ Dispatch Center นั้น มีลักษณะการทำงานเหมือนพนักงานสะดวกซื้อ โดยพนักงานของเราจะทำงานโดยใช้ระบบฟัง คัดแยก และสั่งการ ซึ่งในระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้นมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดละหนึ่งศูนย์ โดยในแต่ละปีมีการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านคน โดยพบการแจ้งเหตุ การเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยอุบัติจากยานยนต์มาเป็นอันดับหนึ่งกว่า 3-4 แสนครั้งต่อปี และสิ่งที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นกังวลคือหนึ่งในอุบัติเหตุนั้นมีรถพยาบาลของเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินแก่ผู้บาดเจ็บด้วย ดังนั้นเป้าหมายในการทำงานต่อไป เราจะทำงานให้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนอย่างเท่าเทียมกันพร้อมทั้งดูแลเจ้าหน้าที่ที่ให้การช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินแก่ผู้บาดเจ็บด้วย และจะพัฒนาการทำงานของเราให้คล่องแคล่ว ให้มีความครบพร้อมและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกคนทั้งประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงาน โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่นั้นเราจะคุ้มครองและพัฒนาตั้งแต่คนขับรถกู้ชีพ รถที่จะใช้ปฏิบัติงาน อุปกรณ์ที่จะใช้ในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้แล้วเรายังจะสร้างนักสื่อสารกู้ชีพที่จะใช้ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน เช่นเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุสามารถถ่ายทอดเรื่องราวและบทเรียนของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาในรูปแบบของรายงานหรือบทความต่อสื่อสาธารณะและสามารถส่งข้อมูลต่อให้สื่อมวลชนเพื่อช่วยในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่จะสามารถลดสถิติของการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุทางยานยนต์ได้ต่อไป

น.พ.ต่อพงษ์ ครองไตรเวทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ประจำหน้าห้องฉุกเฉิน. รพ.มหาราช จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในฐานะของผู้ปฏิบัติงานเวลาที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพออกปฏิบัติงานนั้นหลายจุดก็เป็นจุดที่มีความเสี่ยงมากโดยเฉพาะทางแยก ซึ่งสิ่งสำคัญคือเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงานนั้นจะต้องทำงานด้วยความระมัดระวังและควรจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองมาเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ตนเองปลอดภัยนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนก็จะต้องใส่ให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อชูชีพที่จะต้องใส่เมื่อต้องลงช่วยเหตุผู้ประสบภัยทางน้ำ หรือเซฟตี้ในรถเมื่อต้องขับรถด้วยความเร็วสูงเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน นอกจากนี้ตนอยากขอร้องให้หนังหรือละครในประเทศไทยเองควรช่วยกันประชาสัมพันธ์หลักของการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกวิธีด้วยเพราะประชาชนส่วนใหญ่ดูหนังและละครกันเป็นจำนวนมากหากหนังและละครถ่ายทอดเรื่องราวของการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้องก็จะช่วยทำให้สถิติการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นก็ได้

ด้าน ชลธี เลาหกรรณวนิช ตัวแทนจากมูลนิธิสว่างเบญจธรรม จ.สมุทรสาคร กล่าวถึงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่มีจุดเสี่ยงค่อนข้างมาก ว่าในระบบการแพทย์ฉุกเฉินสิ่งที่เราทำไม่ได้หวังแค่ช่วยคนเจ็บ เก็บคนตาย แต่เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอุบัติเหตุ โดยในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสาคร ตนได้ร่วมกับเครือข่ายหาข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของการเกิดอุบัติเหตุ แล้วนำมาช่วยกันวิเคราะห์ถึงปัญหา เพื่อช่วยกันลดต้นตอของการเกิดอุบัติเหตุ จากนั้นร่วมรณรงค์ในทุกภาคส่วน ทำให้ทุกคนคิดว่าอุบัติเหตุลดได้ หากทุกคนช่วยกันอย่าคิดว่าไม่ใช่หน้าที่

ขณะที่ นายวสันต์ พิพัฒน์พงศ์พสิน อาสาสมัครกู้ชีพมูลนิธิพุทธธรรม (ฮุก) 31 นครราชสีมา กล่าวว่า ที่นครราชสีมามีการแก้ปัญหาและป้องกันอุบัติเหตุโดยการสร้างเครือข่ายนักสื่อสาร ให้หน่วยกู้ชีพแต่ละพื้นที่ร่วมกันรายงานอุบัติเหตุผ่านทางแอพลิเคชั่น จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เช่น ขาดแสงสว่าง ประชาชนไม่เคารพกฎจราจร ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาตรงจุดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์โดยใช้โซเชียลมีเดียมาเป็นตัวเชื่อมกับประชาชน คือการสร้างเฟซบุ๊คสำหรับเตือนประชาชนว่าตรงไหนคือพื้นที่จุดเสี่ยงบ้างเพื่อให้ประชาชนได้ระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎระเบียบจราจรอย่างเคร่งครัด