ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารสถานีขนส่ง กทม.ยังแย่ ตกเกณฑ์ปลอดภัยเกินครึ่ง  (อ่าน 631 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
อาหารในสถานีขนส่งยังยอดแย่ กรมวิทย์เผย หมอชิต เอกมัย สายใต้ใหม่ และหัวลำโพง ตรวจพบอาหารไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย 54.5% แนะ ปชช.เลือกกินอาหารปรุงสุกใหม่ ส่วนพ่อค้าแม่ค้าต้องทำอาหารถูกสุขลักษณะ ล้างวัตถุดิบให้สะอาด อย่าหยิบจับอาหารด้วยมือเปล่า ต้องล้างอุปกรณ์หลังเลิกขายทุกวันและจัดเก็บอย่างมิดชิด ป้องกันการไต่ตอมของสัตว์พาหะนำโรค
       
       นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตตลิ่งชัน สำนักงานเขตคลองเตย สำนักงานเขตจตุจักร และสำนักงานเขตปทุมวัน ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ หมอชิต เอกมัย สายใต้ใหม่ และสถานีรถไฟหัวลำโพง ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารพร้อมบริโภค เครื่องดื่ม และน้ำแข็ง รวมจำนวน 99 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร 54 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 54.5 สาเหตุเนื่องจากตรวจพบเชื้อ อี.โคไล เกินเกณฑ์ฯ 43 ตัวอย่าง ยีสต์ในเครื่องดื่ม 7 ตัวอย่าง เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ 15 ตัวอย่าง ทั้งนี้ภายหลังจากตรวจพบได้แจ้งผลการตรวจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้จำหน่ายอาหารทราบ พร้อมทั้งได้ให้ความรู้กับผู้จำหน่ายอาหารในสถานีขนส่งทั้ง 4 แห่ง ในการประกอบอาหารให้ปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานภาครัฐจะดำเนินการตรวจติดตามความปลอดภัยอาหารเป็นระยะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
       
       นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายตามสถานที่ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เชื้อเหล่านี้ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจเกิดอาการช็อกหมดสติ และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับการรักษาอาการเบื้องต้นทำได้โดยให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หลังดื่มแล้ว 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้นำส่งโรงพยาบาลทันที อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดโรคได้ โดยเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออาหารที่มีการอุ่นให้ร้อนเสมอ และเลือกร้านที่ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดมีฝาปิด สำหรับผู้ขาย ต้องอุ่นอาหารให้ร้อนอยู่เสมอหรืออุ่นทุก 2 ชั่วโมง ไม่หยิบจับอาหารด้วยมือเปล่า ไม่ใช้อุปกรณ์สัมผัสอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน และอาหารที่ปรุงสุกแล้วให้ใส่ในภาชนะมีฝาปิด ล้างอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเขียง ให้สะอาดหลังเลิกขายทุกวัน และจัดเก็บอย่างมิดชิดเพื่อป้องกันการไต่ตอมของสัตว์พาหะนำโรค สวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หมวกคลุมผม ใส่ผ้ากันเปื้อนที่สะอาด ไม่ไอหรือจามขณะหยิบจับหรือตักอาหาร เท่านี้ผู้ประกอบการจะมีส่วนช่วยลด หรือป้องกันการเกิดโรคอาหารเป็นพิษไปสู่ผู้บริโภคได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 ธันวาคม 2556